ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวารหนัก ( Hemorrhoid)

ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย ปัจจุบันเชื่อว่ามีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร เช่น ภาวะท้องผูก และการเบ่งอุจจาระนานๆ เป็นต้

ริดสีดวงทวารแบ่งตามตำแหน่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก (External Hemorrhoids)

  2. ริดสีดวงทวารชนิดภายใน (Internal Hemorrhoids)

สำหรับริดสีดวงทวารชนิดภายในแบ่งย่อยออกเป็น 4 ระยะ ตามความรุนแรงของโรค

  • ระยะที่ 1 ริดสีดวงทวารที่มีเลือดออกแต่ไม่มีก้อนยื่น

  • ระยะที่ 2 ริดสีดวงทวารที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระและสามารถหดกลับเข้าที่ได้เอง

  • ระยะที่3 ริดสีดวงทวารที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระและจะกลับเข้าที่ได้โดยต้องใช้นิ้วดันกลั

  • ระยะที่4 ริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาตลอดเวลาไม่สามารถดันกลับเข้าที่ได้หรือมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดเฉียบพลันหรือมีการยื่นของเยื่อบุช่องทวารหนักออกมาทั้งหมด

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร

  1. ท้องผูก การนั่งแช่นานๆรวมทั้งนั่งถ่ายอุจจาระนานๆทำให้ต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดันและหรือการบาดเจ็บในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย

  2. ท้องเสียเรื้อรัง การอุจจาระบ่อยๆจะเพิ่มความดันและการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด

  3. อายุ ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆรอบหลอดเลือด รวมทั้งของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด หลอดเลือดจึงโป่งพองได้ง่าย

  4. การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย

  5. โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เช่นเดียวกับในหญิงตั้งครรภ์

  6. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จึงเกิดการกดเบียดทับ/บาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้เรื้อรัง จึงมีเลือดคั่งในหลอดเลือด เกิดโป่งพองได้ง่าย

  7. โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือดจึงเกิดภาวะเลือดคั่งในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองง่าย

  8. พันธุกรรม พบโรคได้สูงกว่า เมื่อครอบครัวมีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวาร

อาการของโรคริดสีดวงทวาร

  • มีก้อนเนื้อปลิ้นจากภายในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และยุบกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่ง เมื่อเป็นมากต้องดันจึงจะกลับเข้าไปและขั้นสุดท้ายอาจย้อยอยู่ภายนอกตลอดเวลา

  • มีเลือดแดงสดหยดหรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ แต่ละครั้งปริมาณไม่มากนัก ไม่มีอาการปวด หรือแสบขอบทวาร เลือดที่ออกจะไม่ปนกับอุจจาระไม่มีมูกและมักหยุดได้เอง อาการเหล่านี้จะเป็นๆหายๆเมื่อเป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก รวมทั้งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดเลือดจะบวมออกมาถึงปากทวารหนักเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่มปลิ้นโผล่ออกมานอกทวารหนัก ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่ออาการเจ็บปวดได้

  • คันรอบทวารหนัก

  • มีมูกหลังจากถ่ายอุจาระ

  • เมื่อมีลิ่มเลือดเกิดในริดสีดวงที่โป่งพองจะก่ออาการปวด เจ็บ บวม และก่ออาการระคายเคืองบริเวณรอบปากทวารหนักและอาการคัน แต่มักไม่ค่อยพบมีเลือดออกจากติ่งเนื้อนี้

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร

หลักการวินิจฉัยที่สำคัญคือ การแยกโรคออกจากโรคอื่น ๆเช่นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก

  • ตรวจดูขอบทวารหนักส่วนใหญ่จะปกติหรืออาจเห็นริดสีดวงทวารหนักยื่นออกมา

  • การตรวจทวารหนักด้วยนิ้วมือ (PR) ไม่ช่วยวินิจฉัยริดสีดวงทวารหนัก แต่ช่วยตรวจแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายริดสีดวงทวารหนัก โดยเฉพาะก้อนหรือแผลบริเวณทวารหนัก

  • การตรวจด้วยส่องดูทวารหนัก(anoscope)จะตรวจพบหัวริดสีดวงภายในได้ชัดเจน ควรทำเสมอเพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน

  • การตรวจด้วยส่องด้วยกล้อง sigmoidoscope ควรทำในรายที่มีอายุมาก และจำเป็นต้องทำถ้ามีประวัติขับถ่ายผิดปกติเรื้อรังหรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด หรือคลำก้อนได้ภายในทวารหนัก

  • การส่งตรวจด้วยสวนสี x-ray ลำไส้ใหญ่ barium enema หรือการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ colonoscopy ใช้ตรวจในกรณีทีอาการไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไรหรือมีอาการอื่น ๆ รวมทั้งตรวจในผู้ป่วยสูงอายุ

การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก

การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น โดยสามารถแยกความรุนแรงของโรคได้เป็นระยะต่างกันคือ

  • ระยะที่ 1 รักษาโดยการรับประทานยาระบายอ่อนๆ ยาลดการบวมของกลุ่มหลอดเลือด และระวังไม่ให้ท้องผูกก็เพียงพอแล้ว

  • ระยะที่ 2 รักษาได้หลายวิธีเช่น

    • ใช้ยาเหมือนการรักษาในระยะที่ 1 แล้วระวังไม่ให้ท้องผูก ก็มีอาการดีขึ้นได้ แต่ก็อาจมีอาการเป็นๆหายๆในบางราย

    • ใช้ยางรัดหัวริดสีดวงทวารที่อยู่ภายใน หรือใช้ยาฉีดที่บริเวณหัวริดสีดวงทวาร วัตถุประสงค์เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อลงไป

  • ระยะที่ 3 และ 4 รักษาด้วยการผ่าตัด

รูปภาพแสดงระดับความรุนแรงของริดสีดวงทวาร