ผ่าตัดเส้นเลือดล้างไต

การผ่าตัดทำเส้นเลือดล้างไต

(Arteriovenous fistula : AVF)

เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเชื่อมระหว่างเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงเป็นการเตรียมเส้นเลือดดำให้มีขนาดใหญ่และเหมาะสมสำหรับการเจาะเลือดเพื่อฟอกไตโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีสายสวนส้นเลือดดำที่ต้องคาไว้ที่คอหรือที่เพื่อใช้ในการฟอกไต ซึ่งนอกจากไม่สะดวกแล้วยังเจ็บแผลและเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย การผ่าตัดวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ใช้งานได้นานเฉลี่ย 3-5 ปี โดยส่วนมากมักจะทำบริเวณแขนของผู้ป่วย โดยใช้เส้นเลือดดำของผู้ป่วยเองในการผ่าตัดทำเส้นเพราะโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แพทย์จะใช้เส้นเลือดเทียม(ท่อพลาสติกสังเคราะห์)ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีเส้นเลือดดำจริงๆ และที่สำคัญเส้นเลือดเทียมมีราคาแพงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่

ความสำเร็จของการทำเส้นเลือดล้างไตนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างได้แก่ คุณภาพของเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง การออกกำลังของมือ และความเข้มข้นของเลือด ดังนั้นการผ่าตัดทำเส้นล้างไต อาจจะไม่สำเร็จในการทำครั้งเดียว


ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดทำเส้น

  • การอุดตันของเส้นเลือด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดีทางไหลของเลือดตีบแคบ

  • แผลผ่าตัดติดเชื้อ

  • อาการมือเย็น ซีด ชาหรือปวดบริเวณปลายมือ เกิดจากการผ่าตัดจะทำให้เลือดมาเลี้ยงปลายมืลดลง ซึ่งอาจเป็นหลังผ่าตัดชั่วคราวเพื่อใช้ในการฟอกไต

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

ในการผ่าตัดปกติจะใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ มีวิสัญญีแพทย์ช่วยดูแลเรื่องการระงับความปวดและเฝ้าดูอาการของอย่างใกล้ชิดระหว่างการผ่าตัด โดยปกติการผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารกลับบ้านได้ ยกเว้นบางรายที่แพทย์อาจจะให้นอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อสังเกตอาการ

  • แพทย์จะทำการตรวจความแข็งแรงสมบูรณ์ของท่านก่อนผ่าตัด โดยต้องตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ บางรายแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยในการตรวจหาหลอดเลือดก่อนผ่าตัด

  • แขนที่จะทำเส้นเลือดฟอกไต ห้ามทำหัตถการต่าง ๆ เช่น เจาะเลือด วัดความดันโลหิต

  • ถ้าผู้ป่วยกำลังรับประทานยาหรือฉีดยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ต้องแจ้งแพทย์ทราบ

  • นำยาที่รับประทานเป็นประจำ มาด้วยทุกครั้ง

  • ในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตต้องฟอกไตก่อนผ่าตัด 1-2 วัน

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

  • ดูแลแผลให้สะอาด ไม่ให้แผลถูกน้ำหรือเปียกชื้น ถ้าแผลสกปรกหรือเปียกชื้นต้องมาทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าปิดแผลที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกครั้ง

  • ไม่ควรเปลี่ยนผ้าปิดแผลเอง แพทย์หรือพยาบาลจะให้ใบนัดมาทำแผล

  • สังเกตโดยใช้มือคลำบริเวณแขนที่ทำการผ่าตัดจะมีเลือดไหลผ่านเร็วจนเกิดการสั่นฟู่ขึ้นภายในแขนบริเวณแผลผ่าตัด นั่นแสดงว่าเส้นเลือดที่ต่อไว้ทำงานได้ดีแต่เมื่อใดที่ท่านคลำไม่ได้ท่านควรมาติดต่อแพทย์ทันที

  • ผู้ป่วยควรเริ่มออกกำลังแขนทันทีหลังผ่าตัด โดยการกำมือและคลายมือบ่อยๆหรือกำลูกบอล (ประมาณ 400 ครั้งต่อวัน) เพื่อให้เส้นเลือดที่ผ่าตัดทำงานได้ดีขึ้นและใช้งานได้เร็ว โดยทั่วไปหลอดเลือดจะใช้งานได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์

  • หลังผ่าตัดห้ามใช้แขนข้างที่ทำการผ่าตัด วัดความดันโลหิต เจาะเลือด หรือทำหัตถการใดๆทั้งสิ้นรวมถึงการยกของหนัก

  • เมื่อแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ผู้ป่วยควรมีญาติมารับ เพราะช่วงหลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีอาการอ่อนเพลียและง่วงเล็กน้อยได้

  • มาพบแพทย์ตามนัด เพื่อดูแผลผ่าตัด และตัดไหม

ข้อควรระวังพิเศษ

ถ้ามีความผิดปกติเหล่านี้ควรมาพบแพทย์ทันที

1. แผลผ่าตัดบวมแดงร้อนมีหนอง/มีไข้

2. มีเลือดออกจากแผล

3. คลำชีพจรที่มือไม่ได้

4. คลำ“ฟู่” บริเวณผ่าตัดไม่ได้

5. มือข้างที่ผ่าตัดมีอาการชาหรือเย็น