ถุงน้ำอัณฑะในเด็ก

โรคถุงน้ำอัณฑะในเด็ก (Hydrocele)

พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และส่วนมากสามารถหายได้เองในอายุ 12 ถึง18เดือน ดังนั้นเมื่อตรวจพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า2ปี จึงสามารถนัดมาตรวจติดตามอาการเป็นระยะได้ ยังไม่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

สาเหตุ

เกิดจากถุง Processus vaginalis ปิดลงอย่างไม่สมบูรณ์ทำให้มีช่องทางเชื่อมต่อระหว่างช่องท้องกับถุงอัณฑะช่องเปิดนั้นมีขนาดเล็ก ทำให้มีเฉพาะน้ำในช่องท้องเท่านั้นที่สามารถผ่านลงมาในถุงอัณฑะได้จึงเกิดเป็นถุงน้ำขึ้น

อาการ

ผู้ปกครองจะพบว่าผู้ป่วยมีถุงอัณฑะโตขึ้นกว่าอีกข้างหนึ่งอาจขนาดเปลี่ยนแปลงตามท่าทางโดยจะเล็กลงในท่านอนและโตขึ้นเมื่อยืน โดยการเปลี่ยนแปลงตามท่าทางนั้นจะเป็นไปอย่างช้าๆเนื่องจากช่องทางติดต่อกับช่องท้องมีขนาดเล็ก แต่หากไม่มีช่องทางติดต่อกับในช่องท้องแล้วนั้นขนาดของถุงน้ำก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามท่าทาง มีอาการปวดที่ถุงอัณฑะได้บ้างเล็กน้อยและเมื่อนำไฟมาส่องที่ก้อนจะพบว่าเรืองแสงได้และไม่เจ็บเมื่อสัมผัส

การรักษา

  • กรณีตรวจพบเมื่ออายุน้อยกว่า 2 ปี อาจทำการตรวจติดตามเป็นระยะ

  • กรณีอายุ2ปีขึ้นไปการรักษามาตรฐานคือการผ่าตัดเพื่อผูกและตัดถุง Processus vaginalis ทำให้ไม่มีช่องทางติดต่อกับช่องท้อง น้ำในช่องท้องจึงไม่สามารถลงมาในถุงอัณฑะได้อีก

  • การผ่าตัดทำภายใต้การระงับความรู้สึกทั่วไปร่วมกับการใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวดแผลหลังจากการผ่าตัด

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

      • ก่อนวันผ่าตัด 1 สัปดาห์ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ได้แก่ มีไข้ ไอ น้ำมูก มีเสมหะ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้ผู้ปกครองโทรศัพท์แจ้งที่โรงพยาบาลเพื่อเลื่อนวันผ่าตัดออกไป เพื่อความปลอดภัยในการดมยาสลบ

      • งดน้ำและอาหารทุกชนิดตามวันเวลาที่กำหนด

การดูแลหลังการผ่าตัด

      • หากผู้ป่วยตื่นดีแล้ว ให้เริ่มจิบน้ำหรือน้ำหวานได้ครั้งละน้อย

      • หากสามารถจิบน้ำได้ ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารตามปกติได้

      • หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้หยุดรับประทานก่อนประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยเริ่มใหม่เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

      • หากผู้ป่วยอาการปกติดีแล้ว สามารถให้กลับไปดูแลต่อที่บ้านได้

      • กรณีที่อาการไม่คงที่อาจต้องรับการดูแลรักษาต่อในโรงพยาบาล

การดูแลหลังการผ่าตัดที่บ้าน

      • หากไม่มีอาการปวดแผลให้ทำกิจกรรมได้ปกติ

      • ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานอาหาร

      • การดูแลแผลผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องเปิดทำแผล หากแผลเปียกหรือวัสดุปิดแผลหลุดออกหรือแผลสกปรกก่อนวันนัดเปิดแผล ให้พาผู้ป่วยไปทำแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

      • หากมีอาการปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งให้

อาการที่ต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนนัด

      • แผลมีเลือดซึมออกมาให้เห็นนอกผ้าปิดแผล

      • ปวดแผลมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

      • มีรอยบวมแดงรอบแผลผ่าตัด

      • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส

      • อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารได้น้อย