คำสอนแม่ฟ้าหลวง : พระราโชวาทในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์หรือ สมเด็จพระบรมราชชนก ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ แล้วนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเวลานั้นทรงมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา จึงต้องทรงรับพระราชภาระในการอภิบาลบำรุงพระราชโอรสธิดาถึง พระองค์โดยทำหน้าที่ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพระราชมารดาและหัวหน้าครอบครัวควบคู่กันไป


ต่อมาจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ทรงพาพระโอรส พระธิดา เสด็จออกไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของพระโอรส พระธิดา

ณ เมืองโลซานน์นี้ พระองค์ทรงดำเนินชีวิตแบบสามัญชน ทรงเช่าแฟลตเป็นที่ประทับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงอบรมพระโอรสและพระธิดาเสมือนเด็กสามัญชน พระปรีชาสามารถในการอภิบาลเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบแผนด้วยหลัก สำคัญ ๒ ประการ คือ เด็กต้องมีอนามัยสมบูรณ์และเด็กต้องอยู่ในระเบียบวินัยโดยไม่บังคับเข้มงวดมากเกินไป ดังนั้นนอกจากพระองค์จะพระราชทานพระกษีรธาราด้วยพระองค์เองทรงดูแลให้ทูลกระหม่อมทุกหมู่ตามหลักโภชนาการแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังทรงอบรมสั่งสอนให้พระโอรสธิดาเป็นเด็กดี มีมารยาทดีและมีเหตุผล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติและรัฐบาลได้มีมติให้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นรับสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๘ ก็ยิ่งทำให้พระราชภาระในการอบรมเลี้ยงดู พระราชโอรส-ธิดาหนักหนายิ่งขึ้น ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตระหนักดีว่า พระมหากษัตริย์ผู้ที่จะทรงนำเอาความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่บ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์นั้น จะต้องมีคุณลักษณะอันประเสริฐเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม พระราชจริยวัตรอันงดงามและพระปรีชาสามารถที่เปรื่องปราด

ดังนั้นการอภิบาลเลี้ยงดูองค์ยุวกษัตริย์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงมิใช่ภาระธรรมดาที่มารดาพึ่งมีต่อบุตรเท่านั้น แต่มีความยากและสำคัญอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากคำสอนของพระองค์ต่อพระราชโอรสและพระราชธิดาในด้านต่างๆ จึงอัญเชิญพระราโชวาทตัวอย่างต่อไปนี้