ชีวประวัติ
พระเดชพระคุณหลวงปู่

พระมงคลเทพมุนี
(สด จนฺทสโร)
พระผู้ปราบมาร

Biography of Phra Mongkolthepmuni (Sodh Candasaro), the monk who conquers Mara.

นึกถึงหลวงปู่ให้ได้ตลอดเวลา

ทบทวนโอวาทในอดีต

1. ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์
Birth and Early Life

นางสุดใจ มีแก้วน้อย

ท่านเป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย

นามเดิม : สด มีแก้วน้อย

พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อย


แผ่นดินใบบัว | ในอดีต

แผ่นดินใบบัว | ในอดีต

แผ่นดินใบบัว | ปัจจุบัน

แผ่นดินใบบัว

แผ่นดินบ้านเกิดหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นแผ่นดินรูปใบบัวมีน้ำล้อมรอบ มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์จะได้จัดสร้าง “มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” รูปทรงภูเขาทอง 8 เหลี่ยม ภายในบันทึกประวัติการสร้างบารมีของท่านตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย บริเวณกลางวิหารประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระเดชพระคุณหลวงปู่ เพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้และนำแบบอย่างคุณธรรมของท่านมาเป็นกำลังใจและแบบแผนในการสร้างบารมีต่อไป


"เพลคาบ่าวัว

เราจะไม่ประพฤติเด็ดขาด"

"อย่าเพิ่งกวนแม่เลย

ให้แม่ทำงาน ให้เสร็จเสียก่อน"

ในวัยเด็ก

ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดเป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาด เช่น ท่านเคยช่วยทางบ้านเลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวบ้านอื่น ท่านจะต้องไปตามวัวกลับมาให้ได้ ไม่ว่าวัวจะไปอยู่ที่ไหนดึกดื่นอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับ นอกจากนั้นท่านยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ถ้าใช้วัวไถนาก็จะคอยสังเกตดูดวงตะวันว่าใกล้เพลหรือยัง เพราะท่านถือคติโบราณว่า “เพลคาบ่าวัว” ถือว่าบาปมาก ท่านจะเลิกตรงเวลาจนโยมพี่สาวนึกว่าท่านขี้เกียจ เมื่อถูกดุท่านก็ไม่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าวัวเหนื่อยมากแล้วก็จะนำไปอาบน้ำจนเย็นสบายและปล่อยให้ไปกินหญ้าอย่างเป็นอิสระ


2. การศึกษาเมื่อเยาว์วัย

Education

ท่านเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชาย (ปู่นะ)
ณ วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ศึกษาอักษรสมัยกับพระอาจารย์ทรัพย์

ณ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

เรียนหนังสือ

ท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชายที่วัดสองพี่น้อง ต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่อง

3. เหตุที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย


Resolution to devote his life to monkhood

คลองบางนางแท่น (คลองบางอีแท่น)

อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยว
และมีโจรผู้ร้ายชุกชุม

ท่านตั้งสัจจะอธิษฐานที่ท้ายเรือ
ตอนอายุครบ 19 ปี

อนุสรณ์สถานบางนางแท่น (ปัจจุบัน)
อ.สามพราน จ.นครปฐม


อนุสรณ์สถานลำดับที่ ๒
สถานที่ตั้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต

เหตุที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย

เมื่ออายุ ๑๔ ปี บิดาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากตรากตรำในการค้าข้าว ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทน จนกระทั่งอายุย่างเข้า ๑๙ ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้น วันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาท จำเป็นต้องผ่านมาทางคลองเล็กซึ่งเป็นคลองลัดชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านซึ่งยืนถือท้ายเรืออยู่และเป็นจุดสำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อน ก็สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาวไปถ่อเรือแทนลูกจ้างทางหัวเรือ พอเรือแล่นเข้าที่เปลี่ยวเข้าไปเรื่อยๆ พลันก็เกิดความคิดแว่บขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง ๑๑ – ๑๒ บาท เท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ เมื่อมีภัยใกล้ตายกลับโยนไปให้ลูกจ้าง”

เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ก็ไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้าง ท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิมยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียว เมื่อเรือพ้นคลองมาได้ ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเรา และตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกัน ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า” ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นคำอธิษฐานเหมือนกับท่านได้บวชมาแล้วตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้วก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้น เพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบาก นับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก

4. อุปสมบท


Ordination

พระอาจารย์ดี

วัดประตูศาล อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูวินยานุโยค
(เหนี่ยง อินฺทโชโต)

วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง
จ.สุพรรณบุรี

เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอาจารย์โหน่ง
อินทสุวณโณ

วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง
จ.สุพรรณบุรี

เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงพ่อเนียม

วัดน้อย

อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

สงสัยคำว่า อวิชชาปัจจยา ในบทสวดปฏิจจสมุปบาท

วัดสองพี่น้อง

ณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

อนุสรณ์สถานลำดับที่ ๓
สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ

เมื่ออุปสมบทแล้ว

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านเริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนากับองค์อนุสาวนาจารย์นับแต่วันบวช เมื่อบวชแล้วพอรุ่งขึ้นอีกวัน หลวงพ่อก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง 1 พรรษา

5. การศึกษาพระปริยัติธรรม

Pali Studies

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
(วัดโพธิ์)

วัดอรุณราชวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม

การศึกษาพระปริยัติธรรม

หลังจากออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว หลวงพ่อก็ได้เข้าพำนักประจำอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อแสวงหาความรู้ให้แตกฉานกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ สิบปีผ่านไปนับแต่หลวงพ่อเริ่มบวช ท่านมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานพอที่จะอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรในคัมภีร์บาลีได้สมความตั้งใจแล้ว ท่านจึงวางธุระการศึกษาฝ่ายภาษาบาลีลง และใช้เวลากับวิปัสสนาธุระ เพื่อการเจริญพระกรรมฐานโดยเต็มที่

6. การเข้าถึงวิชชาธรรมกาย

Dhammakaya Vijja Attainment

ย่างเข้าพรรษาที่ 12 ของท่าน ประมาณปี พ.ศ.2460 เมื่อหลวงพ่อได้กำหนดใจที่จะปฏิบัติสมถวิปัสสนาอย่างเต็มที่แล้ว ท่านได้กราบลาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ไปจำพรรษาที่ 12 ณ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ริมคลองบางกอกน้อย นนทบุรี อันเป็นสถานที่สงบวิเวก

ท่านได้อยู่ประจำ ณ พระอุโบสถวัดโบสถ์ บางคูเวียง และปฏิบัติธรรมตลอดเวลาที่อำนวย จากเช้าตลอดค่ำคืน ครั้นย่างกึ่งพรรษา ท่านก็ได้ตรึกนึกถึงความตั้งใจครั้งแรกเมื่อได้ขอบวชจนตลอดชีวิต เวลาก็ล่วงมาถึง 14 ปี บวชเป็นพรรษาที่ 12 แล้ว ท่านยังไม่บรรลุ ยังไม่เห็นธรรม ดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาท่านได้ทรงตรัสรู้และทรงเห็นเลย ท่านจึงเริ่มกำหนดใจว่า จะเจริญพระกรรมฐานโดยสุดกำลังในครั้งนี้ แม้จะตายระหว่างปฏิบัติพระกรรมฐานก็จะยอม ด้วยมีค่ามากกว่าตายก่อนบวช หรือไม่ได้ปฏิบัติภาวนาเลย


อุโบสถ วัดโบสถ์(บน)

ศาลาหลังเก่าวัดโบสถ์(บน)

ท่านตั้งใจเด็ดขาดแล้วก็เข้าสู่พระอุโบสถวัดโบสถ์ บางคูเวียง แต่เย็นวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตั้งสัจจาธิษฐานมั่นคงมอบกายถวายชีวิตเพื่อพระรัตนตรัยอันประเสริฐสุดว่า เมื่อนั่งลงแล้ว หากมิได้บรรลุธรรม ดังที่พระพุทธองค์ทรงเห็นทรงตรัสรู้แล้ว ก็จะไม่ขอลุกขึ้นจากที่อีกจนตลอดชีวิต เมื่อใจท่านตั้งมั่นแล้ว ก็เริ่มปรารภนั่ง และกราบทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงเห็น ทรงตรัสรู้ แม้เพียงส่วนน้อยที่สุด ซึ่งแม้นหากการบรรลุธรรมนั้นแล้วจะเป็นโทษแก่พระศาสนา ก็ขออย่าได้ทรงประทานเถิด ท่านจะรับเป็นทนายแก้ต่างพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต

เมื่อได้อธิษฐานยอมสละชีวิตเป็นพุทธบูชาแล้ว ท่านก็ขัดสมาธิเข้าที่นั่งเจริญภาวนาพระกรรมฐาน เวลาผ่านไปจนดึก ใจของท่านหยุดสงบนิ่

ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ เข้ามารวมหยุดที่จุดเดียวกัน ณ ศูนย์กลางกาย ได้ส่วนพอดีแล้ว ท่านได้เห็น ดวงปฐมมรรค หรือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นดวงกลมโตใสบริสุทธิ์ ขนาดฟองไข่แดงของไก่ ที่ศูนย์กลางกาย ดวงยิ่งใสสว่างมากขึ้นและใหญ่ขนาดดวงอาทิตย์ สุกใสสว่างยิ่งนัก ได้เห็นดังนั้นแล้ว ท่านจำต้องตรึกว่า สมควรจะทำอย่างไรต่อไปอีก

ขณะนั้น ท่านได้มาถึงจุดแห่งการเริ่มค้นพบพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทางสายเอกสายเดียวสู่มรรคผลนิพพานแล้ว ในระหว่างที่ได้หยุดใจนิ่ง พิจารณาดวงปฐมมรรคนั้น ใจท่านบันดาลตรึกถึง มัชฌิมาปฏิปทา สายกลางขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ที่ศูนย์กลางกลมใสสว่างนั้นปรากฏมีจุดเล็กเรืองแสงสว่างไสวยิ่งกว่า ท่านจึงได้เลือกดำเนินตามทางสายกลางและทุ่มความรู้สึกทั้งหมดเข้าไว้ในจุดศูนย์กลางดวงทันที จุดนั้นก็ขยายขึ้นมาแทนที่ดวงเดิมซึ่งหายไป ท่านจึงได้รวมความเห็น จำ คิด รู้ ดิ่งเข้าไปในกลางของกลางต่อไปอีก โดยอาการฉะนี้ ท่านก็ได้เห็นดวงเก่าหายไป มีดวงสุกใสยิ่งขึ้นหยุดจากศูนย์กลางกายนั้นขึ้นมาแทนที่ ประดุจฟองอากาศผุดจากน้ำขึ้นมาแทนที่กัน โดยต่อเนื่องไม่ขาดสายและยิ่งใสสว่างขึ้น

โดยการหยุดในหยุดและเข้ากลางของกลางนี้ ท่านก็ได้เห็นดวงต่างๆ และกายผุดขึ้นมาโดยต่อเนื่องกันคือเห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ และจึงเห็นกายมนุษย์ละเอียด ท่านเมื่อได้ทุ่มความรู้สึกเข้าไปในกลางของกลางต่อไปอีก ก็เห็นดวงทั้ง 6 และกายของกายที่ละเอียดยิ่งขึ้น ปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับในเบื้องต้นนั้นทั้ง 18 กาย ได้แก่ กายในภพสามนี้ 8 กาย คือ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม และกายอรูปพรหมละเอียด และกายที่พ้นภพสามหรือกายโลกุตตระ 10 กาย คือ กายธรรม กายธรรมละเอียด กายพระโสดา กายพระโสดาละเอียด กายพระสกทาคา กายพระสกทาคาละเอียด กายพระอนาคา กายพระอนาคาละเอียด กายพระอรหัต และกายพระอรหัตละเอียด

กายธรรม หรือ ธรรมกาย และกายโลกุตตระอื่นดังกล่าว ปรากฏขึ้นที่ศูนย์กลางกายของท่านนั้น เป็นองค์พระปฏิมาเกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าอัญมณีใดๆ งดงามหาที่ติมิได้ กายโลกุตตระล้วนเป็นกายที่ละเอียดยิ่งนัก และพ้นจากอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ เป็นวิสังขารแห่งความสุขที่แท้จริง

ธรรมและของจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านได้ค้นพบ ได้รู้ ได้เห็น และเป็นในคืนวันเพ็ญสำคัญนี้ลึกซึ้งถึงปานนี้ เกินวิสัยของบุคคลจะคาดคิดคะเน แม้ใครยังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ท่านได้สอนไว้ในภายหลังว่า "ที่จะเข้าถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิด ท่านทั้งหลาย นี้เป็นจริง หัวต่อมีเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มี ไม่เป็นเด็ดขาด"

วัดโบสถ์(บน)

ณ วัดโบสถ์(บน) ต.บางคูเวียง จ.นนทบุรี

อนุสรณ์สถาน ลำดับที่ ๔
สถานที่เกิดด้วยกายธรรม

7. การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

Dhammakaya Vijja Propagation

หลวงพ่อสังวาลย์


วัดบางปลา

วัดบางปลา


อนุสรณ์สถานบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

อนุสรณ์สถานลำดับที่ ๕
สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (ปี พ.ศ.2460) เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว ท่านได้คำนึงว่า “คัมภีโรจายัง ธรรมเป็นของลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงได้ ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด นี่เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้แล้ว ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด” ท่านยังคงนั่งเจริญภาวนาทบทวนอย่างนี้ต่อไปอีกประมาณ 30 นาที ในขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิเจริญภาวนาอยู่นั้น ได้เกิดภาพของวัดบางปลาปรากฏขึ้นในสมาธิ ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนตัวท่านอยู่ที่วัดนั้น ทำให้คิดว่าธรรมที่รู้เห็นได้ยากนี้ ที่วัดบางปลาจะต้องมีผู้ที่สามารถบรรลุธรรมได้แน่นอน ภาพของวัดบางปลาจึงปรากฏขึ้นในสมาธิ

นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่ เพื่อค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งค้นก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นไปทุกที ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้อีกประมาณเดือนเศษจนออกพรรษา เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านจึงลาเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียงไปพักอยู่ที่วัดบางปลา เพื่อไปสอนธรรมที่ท่านได้รู้ได้เห็นแล้ว ท่านสอนอยู่ประมาณ 4 เดือน ได้มีพระภิกษุที่สามารถปฏิบัติตามอย่างท่านได้ 3 รูป คือ พระภิกษุสังวาลย์, พระภิกษุแบน และพระภิกษุอ่วม รวมทั้งคฤหัสถ์อีก 4 คน จากนั้น พรรษาที่ 13 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้พาพระภิกษุสังวาลย์ไปจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง

8. เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

Abbot of Wat Paknam Bhasicharoen

พระมงคลเทพมุนี

พระมงคลเทพมุนี

กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าครั้งนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เผื่อน ติสสทัตตมหาเถระ วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์องค์หนึ่งของท่าน ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณพระศากยยุตติวงศ์ เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ เล็งเห็นความเป็นผู้นำของหลวงพ่อ ซึ่งครั้งนั้นเป็นพระฐานานุกรมที่ พระสมุห์สด จนฺทสโร เจ้าประคุณได้มอบหมายท่านให้จำต้องยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก เป็นกึ่งวัดร้าง มีพระประจำวัดอยู่เพียงสิบสามรูป

วัดปากน้ำ | ในอดีต

วัดปากน้ำ | ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2464 ตรงกับ ร.ศ.140 เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระครูสมุห์สด จนฺทสโร ก็ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสมณธรรมสมาทาน ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ด้วยความเป็นผู้นำอย่างเยี่ยมยอดและความอดทนอย่างยิ่งยวด หลวงพ่อก็ได้ทำนุบำรุงวัดปากน้ำภาษีเจริญขึ้นใหม่จนเป็นอารามหลวงที่สำคัญและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ในความอุปการะของท่านที่วัดในระยะนั้นจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน มีทั้งพระสงฆ์จากต่างประเทศ เช่นจากประเทศอังกฤษ มาบวชเรียนกับหลวงพ่อ สมจริงแล้วดังปณิธานของท่านที่ตั้งใจไว้ว่า "บรรพชิตที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาอยู่แล้ว ขอให้เป็นสุข"

ลุสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2490 อันเป็นปีที่ 2 แห่งรัชกาล ท่านได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถร และอีกสองปีภายหลัง ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเสมอพระราชาคณะเปรียญ ถึงปี พ.ศ.2498 ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี ในปีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500 ตรงกับ ร.ศ.176 เป็นปีที่ 12 แห่งรัชกาลปัจจุบัน ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพมีพระราชทินนามว่า พระมงคลเทพมุนี นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

พระมงคลเทพมุนี

การพัฒนาวัด

1. การปกครอง

ท่านบริหารงาน โดยใช้หลักการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุปการะ ดุจพ่อปกครองบุตรชายหญิงอันเกิดจากอกของตนเอง ให้ความเสมอภาคโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ยกย่องชมเชย ใครต้องการความช่วยเหลือจากท่าน ท่านก็ช่วยอุปการะปัดเป่าให้คลายทุกข์ด้วยความเมตตาปราณี แม้แต่ผู้ที่ออกจากความปกครองของท่านไปแล้ว ท่านยังคอยติดตามถามข่าว ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะหลงลืมโอวาทที่ดีงามที่เคยกรุณาสั่งสอนไว้ ความเอื้ออาทรเหล่านี้ทำให้บรรดาลูกศิษย์ที่เคยอยู่ในความปกครองของท่าน พากันเรียกท่านจนติดปากว่า “หลวงพ่อ”

2. การศึกษา

เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสทำการปกครองวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระภิกษุสามเณรอยู่ในลักษณะย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยและไร้การศึกษาเสียเป็นส่วนมาก ในฐานะที่ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในการปกครองของท่านจึงต้องเลือกเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างจริงๆ ใครไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ก็ให้ทำหน้าที่บริหารงานในวัด

2.1 แผนกคันถธุระ

ท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในวัด โดยจัดหาทุนเอง และได้จัดการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้น เมื่อมีผู้มาศึกษามาก ในที่สุดก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นสำนักเรียนโดยตรง และสำนักของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญก็ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านคอยส่งเสริมเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรอยู่เสมอ พระภิกษุ-สามเณรที่สอบผ่านบาลี ท่านจะกล่าวชมเชยทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยังหารางวัลให้เป็นกำลังใจอีกด้วย สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาทางปริยัตินั้นท่านจะเป็นผู้แสดงเองในวันอาทิตย์และวันธรรมสวนะที่พระอุโบสถเป็นประจำมิได้ขาด รวมทั้งวันอื่น ๆ ที่มีเจ้าภาพมาถวายภัตตาหารแล้วอาราธนาให้ท่านแสดงธรรม ท่านจะสอนให้พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสในการบำเพ็ญทาน การรักษา ศีลและการเจริญภาวนา โดยยกชาดกและเรื่องจากธรรมบทมาเป็นอุทาหรณ์ ลงท้ายด้วยการสอนเจริญภาวนา ทำให้ผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องราวในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และได้รับความสนุกสนานด้วยการแสดงธรรม ท่านยังได้จัดให้พระภิกษุสามเณรหัดทำการเทศนาเดี่ยวบ้าง หัดเทศน์ปุจฉาวิสัชนา 2 - 3 ธรรมาสน์บ้าง แล้วจัดให้ทำการแสดงพระธรรมเทศนา ณ ศาลาการเปรียญตลอดฤดูกาเข้าพรรษา จากการฝึกฝนนี้ทำให้พระภิกษุสามเณรของวัดปากน้ำหลายรูปได้เป็นพระธรรมกถึกและได้รับการอาราธนาให้ไปแสดงพระธรรมเทศนานอกสำนักอยู่เสมอๆ

2.2 แผนกวิปัสสนาธุระ

เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่เริ่มอุปสมบทวันแรกเมื่ออายุ 22 ปี เป็นต้นมาจนกระทั่งอายุ 70 ปี ขณะที่ท่านเปิดสอนปริยัติ ท่านก็สอนปฏิบัติควบคู่ไปด้วย มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดปากน้ำในครั้งนั้นมีชื่อเสียงไม่เฉพาะเพียงแต่ด้านปริยัติธรรมเท่านั้น ในด้านวิปัสสนาก็มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เพราะมีผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมและเข้าถึงธรรมกายเป็นจำนวนมาก การแสดงพระธรรมเทศนาทางปฏิบัติเฉพาะในวัดนั้น พระเดชพระคุณท่านจะเทศน์สอนทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่น ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามาศึกษากันอย่างคับคั่ง ซึ่งท่านถือเป็นวัตรปฏิบัติของท่านไม่ยอมขาดเลย เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะยอมขาด เท่าที่ปรากฏมาท่านเคยขาดกิจกรรมนี้ไม่เกิน 3 ครั้ง

9. การตั้งโรงงานทำวิชชา

Dhammakaya Vijja Factory

ศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกาย

โรงงานทำวิชชา

แม้ภารกิจด้านการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาวัดปากน้ำภาษีเจริญ จะมีมากสักเพียงใดก็ตามแต่ ท่านก็ไม่เคยละทิ้งการปฏิบัติธรรม รวมถึงการเผยแผ่วิชชาธรรมกายด้วย เพราะท่านถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ท่านศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายและสั่งสอนผู้อื่นให้บรรลุธรรมกายไปด้วยนั้น ท่านได้คัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติดีเยี่ยม ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา จำนวนหนึ่ง เพื่อรวมทีมศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า การทำวิชชาปราบมาร และเพื่อให้การทำงานค้นคว้าวิชชาธรรมกายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัดเป็นส่วน ในปี 2474 ขณะที่ท่านอายุได้ 47 ปี ท่านจึงได้สร้างอาคารเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้นภายในวัดปากน้ำภาษีาเจริญในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงงานทำวิชชา”

โรงงานทำวิชชาในสมัยนั้นตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร อยู่หลังกุฏิพระเดชพระคุณหลวงปู่ ใกล้หอไตรเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างมีท่อต่อถึงกันสำหรับหลวงปู่ใช้สั่งวิชชาลงมาทางท่อนี้ ซึ่งผู้อยู่เวรก็จะได้ยินโดยทั่วกัน และจะเจริญวิชชาตามคำสั่งนั้น ๆ มีผู้อยู่เวรทำวิชชากะละประมาณ 10 คน ตัวเรือนโรงงานนี้ขนาดไม่กว้างใหญ่นัก ชั้นล่างตั้งเตียงเป็น ๒ แถวซ้ายขวา ข้างละ 6 เตียง ตรงกลางเว้นเป็นทาง พอให้เดินได้สะดวก ชั้นล่างสำหรับฝ่ายแม่ชีและอุบาสิกา ให้นั่งเจริญวิชชาและเป็นที่พักอาศัยด้วย มีผู้อยู่เวรที่ไม่พักในโรงงานบ้างแต่ก็เพียงไม่กี่คน ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างไม่มีบันไดเชื่อมต่อกันและทางเข้าออกก็แยกกันคนละทาง ชั้นบนมีทางเข้าต่างหาก ใช้เป็นที่เจริญวิชชาสำหรับหลวงปู่และพระสงฆ์สามเณรที่อยู่เวรทำวิชชา ภายหลังมีโรงงานทำวิชชาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือวิหารอยู่ด้านหลังหอสังเวชนีย์มงคลเทพเนรมิตที่ประดิษฐานร่างของหลวงปู่ เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างยาวพอสมควรตรงกลางมีฝากั้นแบ่งเป็น 2 ห้อง แยกขาดจากกันโดยมีประตูเข้าออกคนละทาง ส่วนหน้าเป็นที่สำหรับแม่ชีกับอุบาสิกา ส่วนหลังเป็นที่สำหรับหลวงปู่และพระสงฆ์สามเณร เวลาสั่งวิชชาหลวงปู่จะพูดผ่านช่องสี่เหลี่ยมของฝากั้นห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกันเท่านั้น วิชชาที่หลวงปู่สั่งไว้ในแต่ละวัน ได้มีการจดบันทึกไว้ในสมุดปกแข็งรวม 3 เล่ม เล่มที่ 2 มีผู้ยืมไปและมิได้นำส่งคืน คงเหลือเล่ม 1 และเล่ม 3 ได้ถวายให้ท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถร (วีระ คุณตฺตโม) ซึ่งมีปฏิปทาอย่างมั่นคงที่จะถือเพศบรรพชิต และมุ่งมั่นในการเจริญภาวนาธรรมตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่ ควรที่จะได้เก็บรักษาวิชชาของหลวงปู่ที่ได้บันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

โรงงานทำวิชชา ซึ่งตั้งอยู่หลังกุฏิพระเดชพระคุณหลวงปู่

10. มรณภาพ

Final Years and Death

วัดปากน้ำ | ปัจจุบัน

เรียนหนังสือ

ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จะมรณภาพประมาณ 5 ปี ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งใน และนอกวัดเป็นกรณีพิเศษที่ศาลาการเปรียญ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่าท่านจะถึงกาลมรณภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านได้ดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ อย่าทอดทิ้ง

ท่านได้ชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต มีลูกศิษย์หลายคนได้อาราธนาขอไม่ให้ท่านมรณภาพ ท่านตอบว่าไม่ได้ อีก 5 ปี ท่านจะไม่อยู่แน่ ๆ แล้วนับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม แต่ทางด้านจิตใจยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม ท่านไม่ยอมทอดทิ้งธุระที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังคงออกเทศน์สอน นั่งภาวนา แจกพระของขวัญตามปกติ ท่านไม่ชอบทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น แม้เวลาอาพาธก็ไม่ยอมให้ใครพยุงลุกนั่ง เรื่องภัตตาหารก็ไม่จู้จี้ ไม่เรียกร้องในเรื่องการขบฉัน ใครทำมาถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น เมื่อท่านอาพาธหนักได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอนเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และสั่งว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ให้เก็บสรีระของท่านไว้ ไม่ให้เผา

พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่มรณภาพอย่างสงบสมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เวลา 15.50 น. ณ ตึกมงคลจันทสร เมื่อท่านมีอายุย่าง 75 โดยปี รวมพรรษาได้ 53 พรรษา