2 เมษายน 

วันรักการอ่าน

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า 

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระราชประวัติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี

สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

                   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐

                   เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

                    สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้น ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ต่อมา ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบาลี-สันสกฤตตามลำดับ ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาและการพัฒนา ทรงศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์

                    ในด้านการทรงรับราชการ ทรงเข้าปฏิบัติหน้าที่อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงดำรงพระยศพลเอก ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ และทรงเกษียณอายุราชการในพุทธศักราช ๒๕๕๘

 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้ใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาอย่างยิ่ง ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลา นอกจากวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ยังทรงเลือกศึกษาวิชาการด้านอื่นๆ อีกหลายด้านที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น และทรงนำความรู้จากวิชาการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและความเป็นอยู่ของราษฎร

                   นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ครอบคลุมงานสำคัญๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมืองเกือบทุกด้าน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสานต่อจากพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมาย ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตามที่ทรงได้รับมอบหมาย เช่น การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การถวายผ้าพระกฐิน การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น

                   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบท โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ทรงเห็นว่าเด็กจะเรียนหนังสือไม่ได้ถ้าท้องหิวหรือเจ็บป่วย จึงทรงริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับชาวไทยภูเขา ห้องเรียนเคลื่อนที่ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน และทรงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนพระราชทาน เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม จะได้มีความสามารถในการพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ในอนาคต ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริอย่างใกล้ชิด และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในโครงการด้วยพระองค์เองเสมอ

เจ้าฟ้านักอ่าน เจ้าหญิงนักเขียน จากพระนามเล่นสู่ที่มาของพระนามแฝงในพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพฯ

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงปลูกฝังให้พระราชโอรสพระราชธิดาทรงรักการอ่านหนังสือตั้งแต่พระชนม์เพียง ๖-๗ พรรษา หรือกล่าวได้ว่าตั้งแต่ทรงเริ่มอ่านหนังสือออก ทรงใช้วิธีหัดให้ทรงอ่านหนังสือวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น พระอภัยมณี อิเหนา รามเกียรติ์ เป็นต้น จนทรงท่องจำกลอนได้หลายบท นอกจากนี้ ยังทรงซื้อหนังสืออื่น ๆ มาทรงอ่าน แล้วทรงเล่าพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา เป็นต้นว่า หนังสือนิทานสำหรับเด็ก ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ พุทธศาสนา เรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ ทรงสอนให้ทรงจดและทรงท่องคำศัพท์ และทรงจัดหาครูผู้ทรงคุณวุฒิมาถวายพระอักษรวิชาต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพื้นความรู้ทางวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

เมื่อทรงเจริญพระชันษา นอกจากจะทรงศึกษาในชั้นเรียนปกติแล้ว ยังทรงปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิอยู่เสมอ และทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองด้วยเช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่ต่าง ๆ ก็จะทรงศึกษาประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของสถานที่เหล่านั้นด้านการอ่านนั้น ทำให้พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์ วรรณคดี และศิลปะไทยเมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พระองค์พอรู้แน่ว่าอย่างไรก็คงไม่ได้เรียนแผนกวิทยาศาสตร์ จึงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม  เนื่องจากในสมัยนั้น ผู้ที่จะเรียนภาษาไทยให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง จะต้องเรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร ซึ่งภาษาบาลีนั้น เป็นภาษาที่พระองค์สนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์แต่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้ และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีได้

ในส่วนของด้านงานพระราชนิพนธ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดการอ่านหนังสือ และการเขียน ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ประกอบกับพระปรีชาด้านอักษรศาสตร์ และภาษา ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทรงเริ่มงานพระราชนิพนธ์ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรองมากมาย งานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ได้แก่ หนังสือพระราชนิพนธ์ ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ งานพระราชนิพนธ์บทกวี และงานพระราชนิพนธ์แปล เป็นต้น พระองค์ยังทรงมีนามแฝงอื่นๆนอกจากพระนาม "สิรินธร" ทรงใช้นามปากกาในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก 4 พระนาม ได้แก่   "แว่นแก้ว"  , "ก้อนหินก้อนกรวด",  "หนูน้อย" และ "บันดาล"

"แว่นแก้ว"

เป็นชื่อที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเอง ซึ่งพระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "ชื่อแว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็กๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อ แว่นแก้ว" พระนามแฝง แว่นแก้วนี้ พระองค์เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

สมเด็จพระเทพฯ กับห้องสมุดประชาชน

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานพระราชดำรัส ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ความตอนหนึ่ง ว่า “การรู้หนังสือเป็นความจำเป็นสำหรับ ทุกๆ ชาติที่กำลังพัฒนา ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่จะต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้บรรลุผลให้ได้ ถ้าปราศจากพื้นฐาน การรู้หนังสือของประชาชนในประเทศแล้ว ความพยายามในการดำเนินการพัฒนาย่อมไร้ผลการรู้หนังสือเป็น ส่วนหนึ่งของวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายอันสูงสุด นั่นก็คือ ทำให้มนุษยชาติเกิดความสมบูรณ์พูนสุข เช่นว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามาก หากพวกเราทุกฝ่ายจะร่วมแรงร่วมใจกันเพียรพยายามไปสู่จุดหมายนี้” พร้อมกันนี้ได้พระราชทานลายพระหัตถ์เชิญชวนให้ “ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออก เขียนได้” (Let’s join in making a literate world) เพื่อสนองพระราชดำริ และพระราชปณิธานแห่งเจ้าฟ้านักอ่านของไทย สำนักงาน กศน. มุ่งมั่นเดินหน้าจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษา ส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาให้คน ไทยมีความสามารถในด้านการอ่าน และมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้นมาโดยตลอดที่ผ่านมา สำนักงาน กศน. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” แห่งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นับจนถึงปัจจุบัน รวมกว่า ๑๐๐ แห่ง นอกจากนี้ สำนักงาน กศน. ยังมีห้องสมุดประชาชนในระดับจังหวัด ๗๑ แห่ง ระดับอำเภอ ๗๔๕ แห่ง และห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่วาง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการสนองพระราชดำริและพระปณิธานของพระองค์  

        สำนักงาน กศน. มีห้องสมุดที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้วทั้งสิ้นจำนวน ๙๑๖ แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังมีแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบล จำนวน ๗,๔๒๔ ตำบล รวมถึงบ้านหนังสือชุมชนแหล่งเรียนรู้โดยชุมชนเพื่อชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านเสียสละพื้นที่บ้านของตนเองเป็นมุมการอ่านในบ้าน และเปิดให้เพื่อนบ้านได้ใช้บริการอ่าน ซึ่งมีกระจายอยู่ถึง ๑๙,๒๑๓ แห่งทั่วประเทศ

ห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่วาง ๑ ในห้องสมุดตามแนวทางส่งเสริมการอ่านของสำนักงาน กศน.ตามพระราชดำริและพระปณิธานแห่งเจ้าฟ้านักอ่านของไทย

ห้องสมุดเคลื่อนที่ การขยายความรู้สู่ชุมชน

         สำนักงาน กศน. ยังได้ขับเคลื่อนงานตามโครงการรักการอ่าน ให้ลงสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้นอาทิโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเน้นหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีเป้าหมายให้ชุมชนชาวตลาด ได้มีหนังสืออ่านเป็นประจำ สร้างวัฒนธรรมการอ่าน และทรงเล็งเห็นช่องทางในการพัฒนาอาชีพสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)จัดหามุมใดมุมหนึ่งในตลาดจัดเป็นห้องสมุดประชาชนสำหรับชาวตลาด    โดยทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญต่อการอ่านซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และควบคู่กับการเสริมสร้างลักษณะนิสัยรักการอ่าน ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสร้างเสริมประสบการณ์ในการนำไปใช้พัฒนาต่อยอดการดำรงชีวิต โดยใช้การอ่านเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปในทุกพื้นที่

        ห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่วาง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่วาง ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการอ่านห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตามพระราชดำริ จัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย  สร้างเสริมประสบการณ์ในการนำไปพัฒนาต่อยอดการดำรงชีวิต