ภูมิหลังเขลางค์นคร

จังหวัดลำปางเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ว่ามีอายุยาวนานกว่า๑๓๐๐ ปี และเป็น๑ใน๓๑เมืองเก่า ตามประกาศของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองก่า เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ ประวัติเมืองเขลางค์นครถูกแบ่งออกเป็น๓ยุค ตามการสร้างเมืองและการย้ายขอบเขต ศูนย์กลางเมือง ซึ่งมีประวัติเมืองโดยสังเขป ดังนี้

เขลางค์นครยุคที่๑ เมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๓ พระนางจามเทวีพระธิดากษัตริย์กรุงละโว้ (จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบัน)ได้รับบัญชาจากพระราชบิดา ให้มาสถาปนาอาณาจักรหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) พระนางจามเทวีทรงมีพระโอรสแฝด และเมื่อพระโอรสแฝดทั้งสองทรงเจริญพระพรรษา ได้ทรงมอบหมายให้แฝดผู้พี่พระนามว่าพระเจ้ามหันตยศเป็นผู้ครองเมืองที่หริภุญไชย ส่วนแฝดผู้น้องพระนามว่าพระเจ้าอนันตยศทรงมอบหมายให้มาสร้างเมืองใหม่ชื่อเขลางค์นคร(จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) เมื่อปีพ.ศ.๑๒๒๓ โดยตำนานกล่าวไว้ว่า พระสุเทวฤาษีบอกให้พระเจ้าอนันตยศเดินทางจากนครหริภุญไชย มาพบพรานเขลางค์ที่เทือกเขาใหญ่ ที่มีชื่อว่าเขลางค์บรรพต และให้พรานเขลางค์นำทางไปพบสุพรหมฤาษี ณ ดอยงาม (ดอยฝรั่ง และม่อนพญาแช่ในปัจจุบัน ) เมื่อพระเจ้าอนันตยศได้พบกับสุพรหมฤาษี

ม่อนพญาแช่ ที่บำเพ็ญเพียรของสุพรหมฤาษี

สุพรหมฤาษี ได้นำพระเจ้าอนันตยศมาที่ “ข่วงเม็ง” (สถูปโบราณบริเวณเนินด้านหลังอาคารเรือนรับรองค่ายสุรศักดิ์มนตรี) ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นภูมิประเทศริมแม่น้ำวังได้ชัดเจน และท่านสุพรหมฤาษี ได้ชี้พื้นที่ที่จะให้สร้างเมือง บริเวณฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำวัง ซึ่งก็คือบริเวณวัดพระแก้วดอนเต้าในปัจจุบัน

กับให้นำ”ผาบ่อง” (ก้อนหิน)มาตั้งเป็นหมุดหมายใจเมือง(หลักเมือง)ตามคติความเชื่อโบราณ จุดที่วางหมุดหมายเมือง(หลักเมือง)นั้นก็คือที่ตั้งวัดผาบ่องซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง อยู่ทางทิศเหนือของวัดพระแก้วดอนเต้าประมาณ ๓๐๐เมตร

เมื่อสร้างเมืองเสร็จพระเจ้าอนันตยศก็ทรงปกครองเมืองเป็นกษัตริย์องค์แรกของเขลางค์นคร หลังพระเจ้าอนันตยศสวรรคต ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีผู้ใดเป็นผู้ปกครองสืบมา นักวิชาการสันนิษฐานว่า เขลางค์นครหลังจากยุคพระเจ้าอนันตยศแล้ว น่าจะเป็นเมืองที่อยู่ในอำนาจปกครองของหริภุญไชย โดยผู้ปกครองเมืองจะถูกแต่งตั้งจากทางหริภุญไชย จนกระทั่งอาณาจักรหริภุญชัย ถูกพญามังรายเข้าตีและยึดครองได้ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ และได้ส่งให้ขุนไชยเสนามาปกครองเมืองเขลางค์ ถือเป็นจุดสิ้นสุดเขลางค์นครยุคที่๑



เขลางค์นครยุคที่๒ เมื่อขุนไชยเสนาได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นครองเขลาง์นครซึ่งถือว่าเป็นเจ้าผู้ครองนครท่านแรกภายใต้อาณาจักรล้านนาของราชวงศ์มังราย ขุนไชยเสนาได้ย้ายที่ตั้งศูนย์กลางเมืองมาอยู่ที่บริเวณวัดปงสนุก ในปัจจุบัน สำหรับผู้ครองเขลางค์นคร หลังจากขุนไชยเสนานั้นมีบันทึกและหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนว่า มีผู้ปกครองเมืองต่อมาอีก ๓๐ องค์ จนเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ การปกครองก็มาอยู่ในอำนาจของราชวงศ์ทิพย์ช้าง ที่มีพ่อเจ้าทิพย์ช้างหรือพระญาสุลวะลือไชยสงคราม เป็นต้นราชวงศ์


พ่อขุนเม็งราย

พ่อขุนเม็งราย

สถานการณ์ที่สำคัญ ในเขลางค์ยุคที่๒นี้ เขลางค์นครจะอยู่ภายใต้การดุลอำนาจกัน ระหว่าง อาณาจักรพม่า อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรโยนกเชียงแสน และหัวเมืองน้อยใหญ่ในพื้นที่ อาทิ นครลำพูนไชย นครแพร่ นครน่าน จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๑๐๑พระเจ้าบุเรงนองยกมาตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ เขลางค์นครก็ตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า พระเจ้าบุเรงนองรวบรวมกำลังของหัวเมืองฝ่ายเหนือ รวมทั้งนครเขลางค์และเมืองพิษณุโลกเข้าตีและยึดกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๑๑๒

บุเรงนองมหาราช

พม่าและกำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือ(รวมทั้งเขลางค์นคร)ยึดกรุงศรีอยุธยาได้

เมื่อปีพ.ศ.๒๑๒๗สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ ซึ่งสมัยพระองค์นั้นได้ทรงยกทัพเข้าตีพม่าหลายครั้ง ระยะนั้นเขลางค์นครก็อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา

สมัยสมเด็จพระนเรศวรรุกเข้าตีพม่าหลายครั้ง

ทรงมีอำนาจเหนือเขลางค์นครและหัวเมืองฝ่ายเหนือ

เมื่อ พ.ศ.๒๑๕๗ พระเจ้าอะนอคเปตลุน กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีและยึดเมืองนครลำปางไว้ได้ นครลำปางจึงตกอยู่ใต้อำนาจพม่าอีกครั้ง ในช่วงที่เมืองนครลำปางอยู่ใต้อำนาจพม่านั้น ในปีพ.ศ.๒๒๗๕เจ้าเมืองลำพูนส่งท้าวมหายศนายทหารเมืองลำพูนมารุกรานขยายอิทธิพลนครลำปาง หนานทิพย์ช้างได้นำกำลังต่อสู้จนได้รับชัยชนะและได้รับแต่งตั้งเป็นพระญาสุลวะลือไชยสงครามโดยการรับรองจากราชสำนักพม่า และเป็นต้นสกุลวงศ์ทิพจักราธิวงศ์

รูปปั้นหนานทิพย์ช้างที่เป็นผู้นำขับไล่กำลังของท้าวมหายศจากลำพูนและอนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้างที่ลำปาง

พระญาสุลวะลือชัยสงคราม(พ่อเจ้าทิพย์ช้าง)

และเป็นต้นสกุลวงศ์ทิพจักราธิวงศ์จนถึงสมัยเจ้ากาวิละซึ่งเป็นหลานพ่อเจ้าทิพย์ช้าง จึงได้เข้าร่วมกับกรุงธนบุรีขับไล่อิทธิพลพม่าและได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง ระยะเวลานั้นในช่วงต่อมาพระยากาวิละก็ยังร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรีต่อสู้กับพม่าอยู่ จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยากาวิละ ได้ร่วมกับกรุงรัตนโกสินทร์ ผลักดันอิทธิพลพม่าออกจากล้านนา และได้รับแต่งตั้งจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้เป็น พระยาวชิรปราการไปครองเมืองเชียงใหม่และให้พระยาคำโสมผู้น้องปกครองนครลำปาง

เจ้ากาวิละ

และให้พระยาคำโสมผู้น้องปกครองนครลำปาง เมื่อพ.ศ.๒๓๓๗พระยาคำโสมป่วยถึงแก่อสํญญกรรมรัชการที่๑จึงโปรดเกล้าให้เจ้าหอคำดวงทิพย์เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางต่อมาและเมื่อพ.ศ.๒๓๕๑เจ้าหอคำดวงทิพย์จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ฝั่งตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นเขลางค์นครยุค๓ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



เจ้าคำโสม

เจ้าดวงทิพย์

เขลางค์นครยุค3

เขลางค์นครยุคที่๓ หลังจากเจ้าหอคำดวงทิพย์ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ ซึ่งก็คือบริเวณศาลากลางหลังเก่า และศาลหลักเมืองปัจจุบัน มีวัดบุญวาทย์เป็นพระอารามหลวง มีเจ้าผู้ครองนครลำปางต่อมาอีกองค์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายคือเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตฯ

หอคำ (ศาล)

คุ้มหลวง

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

เหตุการณ์สำคัญในเขลางค์นครยุคที่๓คือการปฏิรูปการปกครอง เพื่อรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาล ที่กรุงเทพ เหตุการณ์กรณีกองกำลังเงี้ยว ใช้กำลังยึดเมืองแพร่ และเข้าตีเพื่อยึดเมืองลำปาง แต่ไม่สำเร็จ ถูกกองกำลังจากกรุงเทพ ขับไล่ผลักดันจนเหตุการณ์สงบยุติ และได้มีการตั้งกองทหารประจำพื้นที่เป็นครั้งแรก ที่นครลำปาง และพัฒนาเรื่อบมาจนเป็นหน่วย มทบ.๓๒ ค่ายสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีความเจริญก้าวหน้าในหลายๆด้าน ทั้งด้านการศึกษาการสาธารณสุข การค้าขาย นครลำปางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายหลังจากที่มีการสร้างทางรถไฟถึงจังหวัดลำปาง มีการทำไม้ และในสงครามโลกครั้งที่๒กองทัพญี่ปุ่นใช้นครลำปางเป็นฐานที่มั่นเพื่อเตรียมการรุกเข้า ยึดพม่า จนสงครามโลกยุติ การพัฒนาในด้านต่างที่นครลำปางยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน



การยกเลิกระบบเจ้าเมืองและปรับเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลและเข้าสู่การปกครองโดยส่วนกลาง

การทำไม้ในลำปาง

กรณีกบฏเงี้ยวที่ลำปางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖

กองทัพสยามที่ส่งขึ้นมาปราบกบฏเงี้ยว และเมื่อเหตุการณ์สงบ รัชกาลที่๕ ทรงโปรดเกล้ให้คงกองกำลังทหารไว้หนึ่งกอง


กองกำลังดังกล่าวใช้วัดป่ารวกเป็นที่ตั้ง ต่อมาเจ้าบุญวาทย์ฯอุทิศม่อนสันติสุขให้เป็นที่ตั้งถาวรและพัฒนาเป็นค่ายสุรศักดิ์มนตรีในปัจจุบัน

สถานีรถไฟลำปางเปิดรับรถไฟขบวนแรกเมื่อ๑ เม.ย.๒๔๕๙

ส่งผลให้ลำปางเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมของภาคเหนือ

ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่๒ กองทัพญี่ปุ่นใช้ลำปางเป็นพื้นที่รวมพลเพื่อเตรียมรุกเข้าสู่พม่า

เรื่องราวประวัติศาสตร์ของนครลำปาง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนอนกว่า ๑๓๐๐ปี ที่ถูกแบ่งออกเป็น ๓ยุคจึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ที่คนลำปางควรได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตระหนักว่า เราได้ใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมีความสุข สะดวกสบาย ก็เพราะเรื่องราวที่บรรพชนในอดีตได้ทำได้สร้างไว้ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องดำรงรักษาคุณค่านี้ และพัฒนาส่งต่อคุณค่านี้ให้กับคนรุ่นต่อๆไป อย่างดีที่สุด