แหล่งเรียนรู้ จังหวัดเลย

วนอุทยานภูบ่อบิด (Phu Bo Bit National Park)

วนอุทยานภูบ่อบิด (Phu Bo Bit National Park)

ที่ตั้งและแผนที่

วนอุทยานภูบ่อบิด อยู่ในท้องที่ตำบลนาอาน ตำบลชัยพฤกษ์ ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูห้วยหมาก ป่าภูทอก และป่าภูบ่อบิด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 870 (พ.ศ.2522) มีเนื้อที่ประมาณ 4,375 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ จดห้วยบอน บ้านนาบอน ตำบลชัยพฤกษ์

ทิศใต้ จดห้วยน้ำลาย บ้านไร่ทาม ตำบลนาอาน

ทิศตะวันออก จดห้วยงูเหลือม บ้านหนองนาทราย ตำบลนาอาน

ทิศตะวันตก จดชุมชนย่อยภูบ่อบิด ตำบลเมือง

ขนาดพื้นที่

7137.00 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นภูเขาสูงชัน โดดเด่น ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองเลย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 500-600 เมตร โครงสร้างภูเขาเป็นหินยาวตลอดแนวทิศตะวันตกและทิศตะวันออก มีถ้ำหลายแห่งและป่ามีสภาพสมบูรณ์ขึ้นอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของวนอุทยานภูบ่อบิดแบ่งได้ 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ฝนตกปานกลาง ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม อากาศเย็นสบาย และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม อากาศแห้งและร้อน

พืชพรรณและสัตว์ป่า

เป็นป่าเบญจพรรณแล้งประมาณครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ทั้งหมดและมีป่าไผ่ สภาพป่าทั้งสองชนิดยังคงรกทึบและสมบูรณ์อยู่ การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติค่อนข้างดี พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ แดง ประดู่ กระบก ตะเคียนทอง มะค่าโมง เป็นต้น

สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา กระจง หมูป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์เหลืออยู่จำนวนน้อย และสัตว์ป่าทั่วไปคือ กระรอก กระแต ตะกวด พังพอน

การเดินทาง

รถยนต์ มีเส้นทางลาดยางสายเลย-นาด้วงผ่าน มีระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้บริการถึงส่วนหนึ่งของเขตวนอุทยานภูบ่อบิด

วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

Wat Pa Samma Nu Son ( Amphoe Wang Saphung )

ประเภทสถานที่ : แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม

ที่อยู่ : อ.วังสะพุง จ.เลย

ในวัดมีพระเจดีย์ ที่สร้างตามแบบของกรมศิลปากรขนาดฐานองค์พระเจดีย์กว้างยาวด้านละ 25 เมตร สูง 33 เมตร ก่อสร้างด้วยโครงเหล็ก ก่ออิฐถือปูนและเคลือบด้วยกระเบื้องอย่างดี วัดป่าสัมมนานุสรณ์นี้ เป็นวัดป่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ที่อยู่ : หมู่ 16 168/2 ตำบล ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

เบอร์โทร : +66 4281 2812

วันเปิดทำการ : ทุกวัน

เวลาเปิดทำการ : 07.00 - 17.00


ถนนคนเดินเชียงคาน จังหวัดเลย

ถนนคนเดินเชียงคาน

Chiang Khan Walking Street

ประเภทสถานที่ : สถานที่ท่องเที่ยว

ที่อยู่ : ถ.ชายโขง อ.เชียงคาน จ.เลย

ถนนคนเดินเชียงคาน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 17.00 - 22.00 น. ของทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ถนนสายศิลปะที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาท่ามกลางบรรยากาศอันเรียบง่ายและเก่าเก่แห่งนี้ จะคับคั่งไปด้วยร้านรวงต่างๆ มากมายที่นำเอาสินค้าหลากหลายประเภททั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และข้าวของที่ระลึกอีกมากมายที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากไอเดียสุดเก๋ นำเอาศิลปะพื้นเมืองมาดัดแปลงให้มีความทันสมัยในสไตล์น่ารัก และในสไตล์โมเดิร์นคลาสสิกซึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ตลอดเส้นทางยังเต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือแผงลอยที่มีอาหารหลากหลายให้เลือกซื้อจนละลานตา ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของเมืองเชียงคาน ถนนคนเดินแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสีสันและรอยยิ้มของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก

เที่ยวแก่งคุดคู้ ดื่มด่ำธรรมชาติริมฝั่งโขง ใกล้เชียงคาน

แก่งคุดคู้ เปรียบได้กับสถานที่ตากอากาศของคนเชียงคาน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่พิสมัยในความงามตามธรรมชาติ ทำให้สัมผัสแรกที่มาเยือนจึงไม่แปลกใจนักว่า ทำไมสถานที่แห่งนี้ ถึงมีแรงดึงดูดให้ใครต่อใคร ใคร่อยากมาสัมผัสกันบ้างสักครั้ง

ตำนานแก่งคุดคู้

นานแล้วมีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ “จึ่งขึ่งดั้งแดง” รูปร่างสูงใหญ่ล่ำสัน มีฝีมือในการล่าสัตว์ วันหนึ่งนายพรานผู้นี้ตามล่าควายเงินมาจากหลวงพระบาง (ที่เรียกควายเงินเพราะมูลของควายตัวนี้เป็นเงิน) พอมาถึงริมน้ำโขงเห็นควายเงินพักกินน้ำ นายพรานจึงดักซุ่มยิง พอดีชาวบ้านแล่นเรือผ่านมา ควายเงินตกใจตื่นเตลิดขึ้นไปบนเขาลูกหนึ่ง (ต่อมาเขาลูกนี้ได้ชื่อว่า”ภูควายเงิน”) นายพรานเลยยิงไปถูกเขาอีกลูกจนพังทลายไปซีกหนึ่ง กลายเป็นหน้าผาสูงชัน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ภูผาแบ่น”

นายพรานโกรธคนที่แล่นเรือผ่านซึ่งเป็นต้นเหตุให้ควายเงินหนีไป จึงกลั่นแกล้งด้วยการขนหินมาขวางกั้นลำโขงไม่ให้เดินเรือได้ นายพรานทำการเกือบจะสำเร็จ ก็พอดีมีสามเณรรูปหนึ่งมาเห็นเข้า เณรนั้นออกอุบายหลอกให้นายพรานใช้ไม้เฮียะ (ไม้ใผ่ชนิดหนึ่ง) ผ่าซีกหาบหินแทน ไม้เฮียะผ่าแล้วจะเป็นสันคมกริบ เมื่อนายพรานใช้หาบหิน ไม้นั้นก็บาดคอนอนตายคุดคู้อยู่ที่ริมโขงนั้นเอง แก่งหินนั้นจึงเรียกว่า “แก่งคุดคู้”

ภูลำดวน

สะพานร้อยชื่อ@สกายวอร์คฅนจน

จุดชมวิวทะเลหมอกริมน้ำโขง อำเภอปากชม จังหวัดเลย

ภูลำดวน ตั้งอยู่ที่ตำบลปากชม อำเภอปากชม จังหวัดเลย ใกล้กับหมวดการทางปากชม แขวงการทางที่ 1 ห่างจากตัวอำเภอเมืองปากชมประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองเลยประมาณ 90 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นยอดเขาสูงอยู่ริมแม่น้ำโขง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 368 เมตร ซึ่งสามารถมองเห็นวิวโดยรอบได้แบบพาโนรามา รวมทั้งยังสามารถมองเห็นวิวของแขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ได้อีกด้วย

อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย

อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย อาณาเขตด้านทิศเหนืออยู่ติดกับประเทศลาว รูปพรรณสันฐานของภูเรือมีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือใหญ่บนยอดดอยสูงเป็นภูผาสีสันสะดุดตาหินบางก้อนมีลักษณะเหมือนถูกปั้นแต่งไว้ ชาวบ้านเรียกว่า “กว้านสมอ” โดยรอบๆ จะเห็นยอดดอยเป็นขุนเขาน้อยใหญ่ใกล้เคียงเป็นฝ้าขาวด้วยละอองน้ำ หมอก ปกคลุมไว้ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 120.84 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2519 อธิบดีกรมป่าไม้ เดินทางมาราชการที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายสุจินต์ เพชรดี ปลัดจังหวัดเลย ได้ให้ความเห็นว่า ควรส่งเสริมป่าภูเรือให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด จากนั้นจังหวัดเลยจึงให้ทางอำเภอภูเรือสำรวจพื้นที่ป่าภูเรือ ซึ่งอำเภอภูเรือได้รายงานถึงจังหวัดเลยว่า พื้นที่ป่าภูเรือมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามสำคัญหลายแห่ง เช่น ป่าไม้ น้ำตก ทิวทัศน์ เหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นของป่าภูเรือ ท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ปรากฏว่า ป่าแห่งนี้อยู่ในเขตป่าหมายเลข 23 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ให้รักษาไว้ให้เป็นป่าถาวรของชาติ

พื้นที่ป่าภูเรือประกอบด้วยทิวเขาสูง สลับซับซ้อนเรียงรายเป็นรูปต่างๆ น่าพิศวงสลับกับที่ราบเป็นบางส่วน สาเหตุที่ขนานนามว่า “ภูเรือ” เพราะมีภูเขาลูกหนึ่งมีชะโงกผายื่นออกมาดูคล้ายสำเภาใหญ่ และที่ราบบนยอดเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือตลอดจนมีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเรือ ในท้องที่ตำบลอาฮี ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ และตำบลลาดค่าง ตำบลหนองบัว ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 16 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วย เขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเป็นหินแกรนิตสลับกันไป ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้มีที่ราบสูงสลับกับ ยอดเขาสูงทั่วไป มียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดภูเรือ มีความสูงถึง 1,365 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังมียอดเขาที่สำคัญ คือ ยอดเขาภูสัน มีความสูง 1,035 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดภูกุ มีความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเช่นนี้เองจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญก่อให้เกิดลำธารหลายสาย เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเถียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว และห้วยไผ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง

ลักษณะภูมิอากาศ

ด้วยอุทยานแห่งชาติภูเรืออยู่ที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศไทย และอยู่บนยอดเขาสูง จึงทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะหนาวเย็นมาก จนกระทั่งน้ำค้างบนยอดหญ้าจะแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ซึ่งมีภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “แม่คะนิ้ง” ผู้ที่จะไปพักผ่อนควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะผจญกับความหนาวเย็น

พืชพรรณและสัตว์ป่า

ภูเรือ มีสภาพป่าหลายชนิดปะปนกันอย่างสวยงาม ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าสนเขา โดยเฉพาะยอดภูเรือ ประกอบด้วยป่าสนเขา สลับกับสวนหินธรรมชาติแซมด้วยพุ่มไม้เตี้ย สลับด้วยทุ่งหญ้าเป็นระยะ ไม้พื้นล่างที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กุหลาบป่า มอส เฟิน และกล้วยไม้ที่สวยงาม เช่น ม้าวิ่ง สามปอย ไอยเรศ เอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องเงิน ซึ่งขึ้นตามต้นไม้และโขดหิน กล้วยไม้เหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งให้ชมสลับกันไปตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ป่าภูเรือยังมีสัตว์ป่าที่ชุกชุมพอสมควร ที่พบบ่อย เช่น หมี เก้ง กวางป่า หมูป่า หมาไน ลิง พญากระรอกดำ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ป่า และชุกชุมไปด้วยกระต่ายป่า เต่าเดือย เต่าปูลูและนกชนิดต่างๆ ที่สวยงามอีกมากมาย โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะอพยพมาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก

พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

พระธาตุศรีสองรัก เป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดเลย และถือเป็นสัญลักษณ์และตราประจำจังหวัด ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านซ้าย ริมฝั่งแม่น้ำหมัน หรือห่างจากตัวจังหวัด 83 กิโลเมตร อยู่ในบริเวณวัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่

มีรูปทรงลักษณะศิลปกรรมแบบล้านช้าง องค์พระธาตุสูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง บัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง (เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง (แขวงคำม่วน) และอีกมากมายแถบลุ่มน้ำโขง

พระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ (หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระศาสนา โดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด) สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2103 เสร็จในปี พ.ศ.2106 พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมกันต่อสู่กับพม่า ระหว่างกรุงศรีอยุธยา (สมัยพระมหาจักรพรรดิ) และกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุศรีสองรัก ได้สร้างขึ้น ณ ที่กึ่งกลางระหว่างลำน้ำโขงกับแม่น้ำน่าน บนโคกไม้ติดกัน

นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตด้วย ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ชาวด่านซ้ายหรือ ลูกผึ้งลูกเทียน จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้นโดยจะนำต้นผึ้ง (ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทขนาดกว้าง 2 ฟุต สูง 2 ฟุตเศษ กรุรอบด้วยลวดลายงานแทงหยวกจากนั้นประดับด้วย ดอกผึ้ง ซึ่งทำจากแผ่นเทียนกลมๆ บางๆ ตากแดดแล้วจับเป็นกลีบ

สักขีพยานแห่งมิตรภาพไทย ลาว

ตรงกลางติดดอกบานไม่รู้โรย หรือขมิ้นหั่นเล็ก ๆ ต่างเกสรดอกไม้สีสดใส) เทียนเวียนหัว (เทียนแท่งที่ฟั่นยาวพอคาดได้รอบศีรษะ) มาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักขึ้นทุกปี ภายในพระธาตุศรีสองรัก ปูพื้นด้วยกระเบื้อง ห้ามใส่รองเท้าขึ้นด้านบน

ประวัติและความเป็นมา สมเด็จพระศรีนรินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงสักการะพระธาตุศรีสองรัก ต.ด่านซ้าย อ.ด่ายซ้าย จ.เลย ณ วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2514 เวลา 15.30

การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 203 เส้นเลย-ภูเรือ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้ายจากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กิโลเมตร

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก คือ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง ไม่ควรกางร่ม สวมหมวกและสวมรองเท้าขึ้นไปบนพระธาตุ ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ (หมายเหตุ : ก่อนท่านจะทำหรือประกอบพิธีใด ๆ ที่เกี่ยวกับองค์พระธาตุขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน)

พระธาตุสัจจะ วัดลาดปู่ทรงธรรม

อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย

พระธาตุสัจจะสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 พระธาตุสัจจะมีความสูง 33 เมตร โดยสร้างให้มีลักษณะคล้าย ๆ กับพระธาตุพนม ฐาน 8 เหลี่ยม กว้าง 17 เมตร บนยอดพระธาตุสัจจะประดับด้วยฉัตร 7 ชั้นด้วยกัน และถัดลงมาอีกเล็กน้อยมีส่วนที่เป็นปูนได้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ใช้จำนวนเงินในการสร้างองค์พระธาตุจนเสร็จสมบูรณ์ ประมาณ 1,500,000 บาท และหลังจากสร้างองค์พระธาตุเสร็จไม่ในระยะหนึ่ง ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2522 ก็ได้สร้างกลีบบัวบานรอบองค์พระธาตุ ต่อด้วยก่อกำแพงแก้ว 4 ด้าน พร้อมด้วยซุ้มประตูทั้งสี่ด้านตามมุมกำแพง เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 เมื่อสร้างเสร็จแล้วคณะกรรมการได้จัดงานสมโภชขึ้น 5 วัน 5 คืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 และทางวัดก็ได้กำหนดเอาวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ของทุก ๆปี จัดงานบุญประเพณีเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวพุทธศาสนิกชนทั้ง ชาวไทยและชาวลาวหลายได้กราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุสัจจะ เพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่ตนเอง

วัดถ้ำผายา อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ถ้ำผายา (ถ้ำค้างคาว)

ประเภทสถานที่ท่องเที่ยว : ธรรมชาติและสัตว์ป่า

สถานที่ตั้ง : บ้านใหม่สันติธรรม หมู่ที่ 8 ตำบลนาดอกคำ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย

หมายเลขติดต่อสอบถาม :

latitude : 17.53

longitude : 101.98

รายละเอียด : ถ้ำผายาแห่งนี้มีค้างคาวนับล้านล้านตัว ที่มีความสวยงามในตอนออก หากินช่วงเวลาประมาณ 17.00 ? 18.00 น. ทุกวัน ค้างคาวจะออกจากปากถ้ำเป็นฝูงเพื่อหาอาหาร

ค้างคาวบินเป็นแถวทอดยาวกลางอากาศใช้เวลานานมากประมาณ 50 นาที จึงจะหมดทุกตัว เป็นภาพที่สวยงามน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่สันติธรรม หมู่ที่ 8 ตำบลนาดอกคำ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย

ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 17 กิโลเมตร เส้นทางเป็นถนนลาดยาง 17 กิโลเมตร ความเป็นมาถ้ำแห่งนี้ ก่อนเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวนับล้านล้านตัว และที่ปากถ้ำมีต้นยาสูบ (ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ)

มีพระมหาสมชาย ปักกลด ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนา ต่อมาได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับต้นยาสูบ ซึ่งอยู่ปากถ้ำ จึงตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์วัดถ้ำผายา

การเดินทาง : ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2138 จากเมืองไป 8 กิโลเมตร แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2249 ไปอีก 9 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่บ้านเพีย (ข้างวัดเลียบ) เข้าสู่เส้นทาง รพช. หมายเลข 3117 อีก 11 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดถ้ำผายา

วัดถ้ำผาสวรรค์ อำเภอผาขาว จังหวัดเลย

วัดถ้ำผาสวรรค์

ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว เป็นถ้ำที่มีภูมิทัศน์งดงาม ภายในอุโมงค์มีหินงอกหินย้อย มีทางขึ้นลดหลั่นเป็นชั้นๆ ตามธรรมชาติสรรสร้าง และยังมีพื้นป่าที่อุดมสมบูรณ์

เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งการเที่ยวชมถ้ำผาสวรรค์นั้น ต้องเดินขึ้นไปบนยอดเขาประมาณ 300 เมตร จะเห็นศาลาชมวิวและองค์พระประธาน

บริเวณนี้สามารถมองเห็นถนน หมู่บ้าน และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสวนยางพารา ทุ่งนา และสวนมะขามหวาน

นอกจากนี้ เดินออกไปไม่ไกลจะพบกับอุโมงค์ถ้ำ บริเวณนี้สามารถศึกษาปรากฏการณ์หินงอกหินย้อยได้ เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำก็จะไปโผล่อีกด้านหนึ่งกลางภูเขา หากอยากชมวิวมุมสูงขึ้นไปอีก

ให้ปีนขึ้นบันไดขึ้นไปด้านบน แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะเป็นที่สูงและมีหินแหลมคม อาจเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุขึ้น และไม่ควรไปอยู่ตรงที่อันตรายเกินไป เพราะอาจพลัดตกลงมาได้

วัดถ้ำผาสวรรค์

สำหรับที่มาของชื่อ ถ้ำผาสวรรค์ เดิมชื่อว่า ถ้ำผาช้างน้อย เพราะถ้ำแห่งนี้มีหินก้อนหนึ่งมีรูปร่างคล้ายช้างน้อยนอนอยู่ และภายในยังมีพระพุทธรูป หน้าตักกว้างประมาณ 2 เมตร สูง 3 เมตร สวยงามมากเป็นที่สักการบูชาของชาวบ้าน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายในยังมี 7 ถ้ำที่อยู่ด้านในให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปค้นหา ได้แก่

1.ถ้ำผาสวรรค์ 2.ถ้ำนกฮูก

3.ถ้ำลับแล 4.ถ้ำบาดาล – ถ้ำเหล็กไหล

5.ถ้ำเจ้าแม่กวนอิม 6.ถ้ำมหัศจรรย์

7.ถ้ำฤาษี – พยญานาค

และด้านบนภูเขาสูงจะมีต้นปรง 1 คู่ เชื่อกันว่าหากใครมีปัญหาคาใจสิ่งใด ถ้าได้ไปลูบหรือจับต้นปรงคู่นี้แล้ว ปัญหาคาใจเหล่านั้นก็จะหมดไป

ใครที่อยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ก็สามารถไปทดสอบกันได้

การเดินทาง สายหนองหิน-เอราวัณ ห่างจากอำเภอผาขาว 12 กิโลเมตร และห่างจากถนนสายมลิวัลย์ กิ่ง อำเภอหนองหิน ระยะทาง 9 กิโลเมตร

"ภูกระดึง" หรือ "อุทยานแห่งชาติภูกระดึง"

อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

"ภูกระดึง" หรือ "อุทยานแห่งชาติภูกระดึง" ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่เราจะขึ้นไปถึงยอดดอยได้ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร คือขึ้นเขา 5 กิโลเมตรบวกทางราบอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตร

ซึ่งนอกจากจะมีคู่รักไปพิสูจน์รักแท้แล้ว ภูกระดึง มักจะได้รับความนิยมในการไปแบบกลุ่มเพื่อน ๆ อีกด้วยและทุกคนที่ได้ไปสัมผัสต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนเดินเหนื่อยมาก ๆแต่พอได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติข้างบนภูกระดึงแล้วคุ้มค่าสุด ๆ

ภูกระดึง เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร

มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตรจากระดับน้ำทะเล

สภาพทั่วไปของภูกระดึงประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปีบนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาและหวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต

วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

ตั้งอยู่ที่บ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่สร้างมาพร้อมกับ

วัดโพธิ์ชัย บ้านนาพึง อำเภอนาแห้ว ชุมชนหมู่บ้านแสงภา เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุกว่า 400 ปีแล้ว

วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

วัดศรีโพธิ์ชัย เริ่มสร้าง เมื่อพ.ศ. ๒๐๙๐ ตั้งวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ผู้ริเริ่มเข้ามาตั้งรกรากเป็นนายพรานชื่อ เซียงภา ข้ามมาจากฝั่งลาว

(ประเทศสาธารณรัฐประธิปไตยประชาชนลาว) เข้ามาล่าสัตว์ เมื่อพบทำเลเหมาะสมจึงได้ชักชวนชาวบ้านคนอื่นๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือน

แล้วตั้งชื่อว่าบ้านเซียงภา ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น แสงภา และสร้างวัดศรีโพธิ์ชัยขึ้นเป็นที่สักการะและเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน

วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

สถานที่น่าสนใจ พระอุโบสถ นมัสการหลวงพ่อเพชร และชมพระอุโบสถ ที่มีลักษณะของพระอุโบสถ์คล้ายวัดเชียงของเมืองหลวงพระบางประเทศลาว

สถาปัตยกรรมในจังหวัดเลยที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๑๙๗ ปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยา ศิลปะล้านช้างและศิลปะจีน

ภายนอกอาคาร เช่นส่วนหน้าบัน คันทวย มักจะตกแต่งด้วยการสลักลายเป็นลายก้านขด กระหนก นาคเคล้า ภาพรามเกียรติ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

เทวดาประจำปีนักษัตร และสัตว์จำพวกสิงห์ กระรอก นกไต่และเกาะไปตาเถาว์ลายผสมกับ ลายเก๋งจีน วิหารจำลองในวัดศรีโพธิ์ชัย

วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

วิหารจำลองสร้างขึ้นตามคติการสร้างอาคารถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่ผู้สร้างมีทุนทรัพย์น้อย จึงสร้างอาคารจำลองถวายแทน

รูปแบบของวิหารจำลองมักลอกเลียนแบบอาคารของจริงที่สร้างในสมัยนั้น ตกแต่งด้วยการสลักลวดลาย ฉลุปิดทองตามส่วนสำคัญ ได้แก่ หน้าบัน ซุ้มประตู หน้าต่าง

คันทวย หัวเสา เครื่องสูงจำลอง เครื่องสูงจำลอง ประกอบไปด้วยมงกุฎ บังสูรย์ บังแทรก จามร และธารพระกร ทำจากไม้ เขียนลายรดน้ำบนพื้นรักสีดำหรือแดง ปิดทองและแกะสลักเป็นสัญลักษณ์แทน

วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

พระพุทธเจ้า ห้าพระองค์ มักจะทำเป็น ๒ ชุด นำไปตั้งข้างฐานชุกชีที่ตั้งพระประธานในวิหารหรืออุโบสถ ข้างละชุด ที่สำคัญได้แก่ เครื่องสูงจำลองวัดโพธิ์ชัย

บ้านนาพึง และวัดศรีโพธิ์ชัย บ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว พระพุทธรูปปางประทานอภัย ชนิดไม้ประดับกระจก เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ? ๒๕ ฐานสูง ๑๙๗ เซนติเมตร

สูง ๖๖.๕ เซนติเมตร ฐานรองรับสูง ๖๒ เซนติเมตร กว้าง ๓๖.๕ เซนติเมตร

วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

การเดินทาง : มาจากทางด่านซ้าย ขึ้นมาผ่านอำเภอนาแห้ว ตรงมาร่อยๆ จนถึงบ้านแสงภา-หัวนา จะเห็นวัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา อยู่ฝั่งซ้าย

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ผานาง - ผาเกิ้ง

อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย

เป็นโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่บ้านผานาง หมู่ ๕ ตำบลผาอินทร์แปลง อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรนับแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ทอดพระเนตรความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและป่าที่เสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ มีพระราชปณิธานในการ ฟื้นฟูป่า ปลูกป่า พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้คนอยู่กับป่าอย่างรู้คุณค่าและรู้รักษาพร้อมกับมีอาชีพสุจริตโดยไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ผานาง - ผาเกิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจากแนวพระราชดำรินับพันแห่งทั่วประเทศ

กิจกรรมนับแต่เริ่มโครงการใช้เวลานานนับสิบปีเพื่อปลูกป่าถาวรบริเวณภูผาผีถอน พื้นที่ ๑,๕๐๐ไร่ ไม้สำคัญ เช่น สัก (Tectona grandis L.f.) ประดู่ (Ptero-carpus macrocarpus Kurz.) สะเดา (Aza-dirachta indica A. Juss. var.siamensis valeton) เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ ผืนป่า

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปลาบ่า ตำบลท่าศาลา อำเภอ ภูเรือ ตำบลโพนสูง ตำบลวังยาว และตำบลอีปุ่ม อำเภอด่านซ้าย ตำบลหนองงิ้ว ตำบลเขาหลวง และตำบลทรายขาว

อำเภอวังสะพุง ตำบลภูหอ และตำบลเลยวังไสย์ กิ่งอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 17 องศา 3 ลิปดา ถึง 17 องศา 24 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 101 องศา 16 ลิปดา ถึง 101 องศา 21 ลิปดาตะวันออก

มีอาณาเขตรวมทั้งสิ้น 560,593 ไร่ หรือ 897 ตารางกิโลเมตร

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

แนวเขตเริ่มจากความสูงประมาณ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สูงที่สุดของ ภูหลวงมีความสูงประมาณ 1,571 เมตร

เทือกเขาซีกตะวันออกมีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่มีที่ราบหลังเขาที่ระดับความสูงประมาณ 1,200 - 1,500 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 62,500 ไร่

ส่วนเทือกเขาซีกตะวันตกเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ สูงชันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่น มีความสูงประมาณ 600 - 1,200 เมตร

ภูเขาทางทิศตะวันออกเป็นหน้าผาเขาสูงชันลาดลงสู่ทิศตะวันตก เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเลยและแม่น้ำป่าสัก ภูเขาลูกใหญ่จะปรากฏว่ามีหน้าผาสูงชันมากทางด้านทิศเหนือบางส่วน และเป็นแนวยาวทางด้านทิศตะวันออกตลอดแนวจนจดด้านทิศใต้

ทรัพยากรป่าไม้

1. ป่าดงดิบเขา

2. ป่าเบญจพรรณ

3. ป่าเต็งรัง

4. ป่าสนเขา

5. ป่าไม้พุ่ม

ทรัพยากรสัตว์ป่า

1. สัตว์ป่าสงวน ดังนี้ เลียงผา

2. สัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนี้ ช้างป่า เสือโคร่ง เสือปลา กวางป่า หมีควาย เก้ง หมูป่ากระจง อีเห็นชนิดต่างๆ หนูหริ่ง เม่นใหญ่ เม่นหางพวง ไก่ฟ้าหลังขาว

ภูป่าเปาะ

อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย

ตั้งอยู่ที่บ้านผาหวาย ตำบลปวนพุ อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย จุดเด่นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว ก็คือ การได้ขึ้นไปชม บรรยากาศบนจุดชมวิวที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร

สามารถมองเห็นภูหอซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาสูง เป็นภูเขายอดตัด หรือภูเขายอดราบโดยเฉพาะช่วงที่มีทะเลหมอกปกคลุม นักท่องเที่ยวเรียกว่า คล้ายภูเขาไฟฟูจิยามาในประเทศญี่ปุ่น เดิมที ภูป่าเปาะ เป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูค้อ-ภูกระแต และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแตถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร จนสภาพป่าบริเวณนั้นอยู่ในขั้นเสื่อมโทรม

แต่หลังจากมีการคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านเข้ามาก็มีการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนอุดมสมบูรณ์จน กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นโดยเฉพาะภูหอที่มีคล้ายกับภูเขาไฟฟูจิ

จุดชมวิวของภูป่าเปาะมีทั้งหมด 3 จุด ซึ่งแต่ละจุดจะห่างกันประมาณ 200 เมตร ลดหลั่นตามความสูง จุดแรกเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด ไม่มีอะไรบังสายตาสามารถมองเห็นวิวของภูหอได้ใกล้ที่สุดในมุมที่คล้ายกับภูเขาไฟฟูจิมากที่สุด

ตรงจุดนี้มีระเบียงยื่นออกไปสำหรับ ให้นักท่องเที่ยวได้มายืนชมวิวขอภูหอได้อย่างใกล้ชิด ส่วนจุดที่สองก็จะเห็นวิวของภูหอในอีกมุมแบบกว้างไกลที่แตกต่างจากจุดแรก จุดนี้มีระเบียงชมวิวเช่นกัน ส่วนจุดสุดท้ายต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปอีกประมาณ 200 เมตร เป็นจุดสูงสุดสามารถมองเห็นวิวได้ 360 องศา

แต่อาจะมีต้นไม้และตกหญ้าบังสายตาบ้าง จุดสูงสุดสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก ได้ที่จุดเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็น อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อำเภอภูผาม่านจังหวัดขอนแก่น อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ วนอุทยานแห่งชาติ นายูง-น้ำโสม อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี และ ถ้ำเอราวัณ อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ขึ้นภูเดียวเห็น 4 จังหวัด

ภูป่าเปราะตั้งอยู่เส้นทางเดียวกับสวนหินผางามอยู่ เมื่อมาถึงตัวเมืองเลยก่อนจะถึงตัวอำเภอหนองหินประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีป้าย ให้เลี้ยวขวาไปคุณหมิงเมืองเลย ให้ตามทางนั้น ถ้าหากมาจากทางอำเภอภูกระดึง เข้ามาถึงตัวอำเภอหนองแล้วหิน บริเวณตรงข้ามตลาดหนองหินจะมีซอยเลี้ยวซ้ายเข้าไปตำบลปวนพุ และเจอป้ายคุนหมิง 19 กิโลเมตร ให้ตรงเข้าไปเรื่อยๆ จะพบกับที่ทำการ ของภูป่าเปราะ