ผ้าทอมัดหมี่กี่กระตุกบ้านน้อย

ประเภทอาชีพ ผ้าทอมัดหมี่กี่กระตุก

ชื่อ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ามัดหมี่กี่กระตุกบ้านน้อย รหัสทะเบียน 6-65-03-06/1-0004

ที่ตั้ง ที่ตั้งกลุ่มเลขที่ 54 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

โทรศัพท์ : 086-2010249 ผู้มีอำนาจทำการแทน : นางไพบูลย์ จันทะคุณ

กลุ่มทอผ้ามัดหมี่กี่กระตุกบ้านน้อย จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2541 โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าบ้านน้อย” โดยมี นางไพบูลย์ จันทะคุณ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 10 คน ในการดำเนินงาน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าบ้านน้อย จะใช้การระดมทุน โดยให้สมาชิกกลุ่มฝากหุ้นคนละ 100 บาท และฝากเงินออมทรัพย์รายเดือน ๆ ละ 20 บาท หลังจากนั้นก็มีผู้มาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาทางกลุ่มได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “กลุ่มทอผ้ามัดหมี่กี่กระตุกบ้านน้อย”

ขั้นตอนการผลิต

การทำเส้นพุ่งหรือลวดลายบนผืนผ้า

1. เริ่มจากการกระบวนการทำผ้ามัดหมี่นั้น ในขั้นตอนการสร้างลวดลายจะต้องนำเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยไหมไปค้นลำหมี่ให้ได้ตามจำนวนที่เหมาะสมกับลวดลาย

2. จึงนำไปขึงเข้ากับ “โฮงหมี่” โดยจะใช้เชือกมัดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี เรียกว่าการ “โอบ” ในอดีตใช้เชือกกล้วย ต่อมานิยมใช้เชือกฟางพลาสติก การมัด จะต้องมัดให้แน่นตามลวดลายที่กำหนดไว้

3. นำไปย้อมสีจากนั้นตากแดดให้แห้ง

4. นำมาแก้เชือกออกจะเห็นส่วนที่มัดไว้ไม่ติดสีที่ย้อม หากต้องการให้ลวดลายมีหลายสี จะต้องมัดโอบอีกหลายครั้งตามความต้องการ ตำแหน่งที่มัดให้เกิดลวดลายนั้น จะต้องอาศัยทักษะที่ชำนาญและแม่นยำ เพราะมัดหมี่ของประเทศไทยไม่ได้มีการขีดตำแหน่งลวดลายไว้ก่อนการมัดลวดลาย จึงอาศัยการจดจำและสั่งสมจากประสบการณ์ ในกระบวนการทอ คนทอผ้ามัดหมี่จะต้องระมัดระวัง ทอผ้าตามลำดับของหลอดด้ายมัดหมี่ที่ร้อยเรียงลำดับไว้ให้ถูกต้อง และจะต้องใช้ความสามารถในการปรับจัดลวดลายที่เหลื่อมลํ้ากันที่เกิดจากกระบวนการย้อมสีให้ออกมาสวยงาม กลวิธีการทอผ้ามัดหมี่จึงเป็นภูมิปัญญาด้านงานฝีมือดั้งเดิมที่ต้องอาศัยทักษะชั้นสูง ลวดลายมัดหมี่ที่มีการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณนั้นส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณี อาทิ ลายดอกแก้วลายต้นสน ลายดอกพิกุลลายหมี่ตุ้มหมี่คั่น และพัฒนาลายมาเป็นลายดอกปีบ ลายดอกจำปา ลายพญานาค และลายอื่นๆ

5. เมื่อได้เส้นด้ายหมี่ตามสีที่ย้อมแล้ว นำด้ายหมี่มาแกะเชือกฟางออกจะนำด้ายหมี่มาใส่เครื่องกรอด้าย โดยนำปลายเส้นด้ายหมี่พันรอบหลอดด้ายพุ่ง (เป็นหลอดเล็ก ๆ ) ใส่เป็นรูปกรวยเรียงซ้อนกัน ตามลำดับโดยจะเรียงจากด้านล่างขึ้นบนไปเรื่อย ๆ การกรอด้ายหมี่จะกรอที่ละหลอด เมื่อเติมหลอดด้ายพุ่งแล้วจึงกรอใส่หลอดอื่น ๆ ต่อไป ด้ายหมี่แต่ละหลอดนั้น นอกจากจะเรียงลำดับจากด้านล่างขึ้นด้านบนแล้วจะต้องใส่เข้ากับเชือกห้อยเรียงไว้ตามลำดับก่อน – หลัง จึงจะทอเป็นลายผ้าหมี่ได้ถูกต้อง

การทำเส้นยืนหรือเครือหูก

นำหลอดด้ายใหญ่ ที่จะทำเป็นเส้นยืน นำปลายเส้นด้ายทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนขาตั้งหลอดมามัดรวมกันแล้วดึงไปมัดกับแคร่เดินเส้นด้าย เดินเส้นด้ายโดยใช้ไม้ปลายแหลมตรึง เส้นด้ายเข้ากับหลักค้น ทั้งเที่ยวขึ้นและเที่ยวลงจนครบ ทุกหลัก เมื่อเดินเส้นด้ายครบแต่ละเที่ยวจะต้องเก็บไขว้เส้นด้าย

ด้วยการใช้หัวแม่มือเกี่ยวเส้นด้ายแล้วนำไปคล้องกับหลักเก็บไขว้ เดินเส้นด้ายรวมกัน เส้นด้ายที่ออกจากหลักเก็บไขว้ สอดเข้าฟันหวีจนครบทุกเส้น โดยใช้ไม่ไผ่แบน ๆ สำหรับคล้องเส้นด้ายเข้ากับฟันหวี

การร้อยฟันหวี หรือการหวีเส้นด้าย

การหวีเส้นด้าย คือการจัดเรียงเส้นด้าย และตรวจสอบเส้นด้ายไม่ให้ติดกันหรือพันกันจนยุ่งก่อนที่จะนำเข้าเครื่องทอนำเส้นด้ายที่เดินครบทุกเส้นมาพันเข้ากับหลักบนโครงไม้ตอกสลักให้แน่น จากนั้นร้อยฟันหวี จะทำหน้าที่คัดเส้นดายออกทีละเส้น เพื่อให้ด้ายตรงกับช่องฟันหวีแล้ว นำเส้นด้ายมาร้อยใน “ไม้ร้อยฟันหวี” ซึ่งมีลักษณะโค้งงอเหมือนเคียว แต่อันเล็กกว่าจะเป็นเหล็กหรือไม้ไผ่ก็ได้) โดยนำมาสอดร้อยเข้าไปในฟันหวีที่ละเส้น เมื่อร้อยเส้นด้ายเข้าฟันหวีเสร็จแล้ว จะดึงเส้นด้ายมาพันเข้ากับใบพัดม้วนด้าย จากนั้นจะดันฟันหวีจากด้านหน้าออกไปเพื่อให้เส้นด้ายแยกออกจากกัน ป้องกันเพื่อไม่ให้เส้นด้ายพันกัน โดยจะฉีกเส้นด้ายเป็นระยะๆ พร้อมกับหมุนเส้นด้ายเข้ากับหม้อเล่เสร็จแล้ว จนครบหมดทุกเส้น แล้วนำม้วนด้ายที่ได้รับการหวีเสร็จแล้วมาวางบน “ กี่ ”

การทอผ้าเป็นผืนผ้า

นำหลอดด้ายมัดหมี่ที่กรอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใส่กระสวยสำหรับทอผ้า ซึ่งควรเลือกกระสวยที่มีปลายแหลมทั้งหัวและท้าย ผิวเรียบ นำกระสวยด้ายพุ่งใส่รางกระสวย ใช้มือกระตุกพาเส้นด้ายวิ่งผ่านไปมาให้ขัดกับเส้นด้ายยืน ดึงฟันหวีกระแทกใส่เส้นด้ายพุ่งกับเส้นด้ายยืนแน่นยิ่งขึ้น ใช้เหยียบไม้พื้นที่ผูกติดกับตะกอด้ายให้สลับขึ้นลงโดยให้สัมพันธ์กับการใช้มือกระตุกให้กระสวยพาด้ายวิ่งผ่านไปมา ขัดกับเส้นด้ายยืน เมื่อได้ผ้าทอเป็นผืนแล้วใช้กรรไกรตัดตกแต่งผืนผ้าทีมีเส้นด้ายซึ่งเป็นเศษด้ายริมขอบผ้าให้สวยงามจึงได้ผ้าทอมือที่สวยงาม

ข้อมูลโดย กลุ่มทอผ้ามัดหมี่กี่กระตุกบ้านน้อย หมู่ 3 ตำบลท่าสะแก อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

รวบรวมเรียบเรียง/จัดทำ/รูปภาพ โดย นางสาวเปียทิพย์ แสงสีบาง ครู กศน.ตำบลท่าสะแก