การจัดการข้อมูลสารสนเทศ . . .
การจัดการข้อมูลสารสนเทศ . . .
มนุษย์ให้ความสนใจกับข้อมูลและสารสนเทศมาตั้งแต่ในอดีต มีการเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตนับเป็นเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมทั่วโลก มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศที่สะดวก รวดเร็ว เป็นแหล่งข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ตลอดเวลา การที่มนุษย์ให้ความสนใจกับข้อมูลและสารสนเทศนั้น เนื่องมาจากมนุษย์ต้องใช้ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในเรื่องเล็ก ๆ เช่น เลือกซื้อสินค้า จนถึงการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ เช่น การตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจ
ข้อมูลและสารสนเทศ คืออะไร
ข้อมูล (data) หมายถึง ข้อเท็จจริง (fact) ที่อยู่ในรูปแบบตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์พิเศษ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ซึ่งสามารถบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องและมีความหมายอยู่ในตัว เช่น ชื่อนักเรียน อายุ เพศ จำนวนประชากร ปริมาณฝน เป็นต้น ข้อมูลจะมีอยู่จำนวนมาก และจะถูกนำไปประมวลผลเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย
การประมวลผล (processing) หมายถึง การกระทำของเครื่องคอมพิวเตอร์กับข้อมูล เช่น การรวบรวมเป็นแฟ้มข้อมูล การคำนวณ การเปรียบเทียบ การเรียงลำดับ การจัดกลุ่มข้อมูล การจัดทำรายงาน เป็นต้น
สารสนเทศ (information) หมายถึง สิ่งที่ได้จากการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้มาประมวลผลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าสารสนเทศ คือ ข้อมูลที่ผ่านการเลือกสรรให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทันต่อเวลาและอยู่ในรูปแบบที่ใช้ได้สะดวก ซึ่งสารสนเทศที่ดีต้องมาจากข้อมูลที่ดี
ข้อมูลมีกี่ประเภท ?
แบ่งตามแหล่งที่มา ได้เป็น 2 ประเภท
ข้อมูลปฐมภูมิ ( Primary Data) คือข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่ผู้เก็บข้อมูลลงมือเก็บด้วยตนเองได้มา จากแหล่งกำเนิดที่แท้จริง เช่น ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การสังเกต การทดลอง การทดสอบ หรือการวัดจากกลุ่มตัวอย่างโดยตรง
ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) คือข้อเท็จจริง หรือรายละเอียดที่ผู้อื่นรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ สามารถนำมาเป็นข้อมูล โดยไม่ต้องลงมือเก็บรวบรวมเอง เช่น ข้อมูลจากระเบียนสะสม รายงานประจำปี สารานุกรม เอกสารเผยแพร่ เป็นต้น
แบ่งตามลักษณะของข้อมูล ได้เป็น 2 ประเภท
ข้อมูลเชิงปริมาณ ( Quantitative Data) คือข้อมูลที่วัดออกมาเป็นตัวเลข เช่นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาต่าง ๆ ความถนัดด้านต่าง ๆ ที่วัดออกมาเป็นคะแนน คุณลักษณะด้านจิตพิสัย เช่นความสนใจ ความวิตกกังวล คุณลักษณะทางกายเช่น ส่วนสูง ความเร็วในการวิ่ง
ข้อมูลเชิงคุณลักษณะหรือเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) คือข้อมูลที่ไม่ได้วัดออกมาเป็นตัวเลขแต่จะแสดงถึงคุณลักษณะของสิ่งนั้น เช่น เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ ศาสนา สถานภาพสมรส อาชีพ ข้อความที่เป็นความคิดเห็น ผลการสังเกตที่เขียนในรูปบรรยาย
แบ่งตามการนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ได้ มี 5 ประเภท
ข้อมูลตัวเลข (Numeric Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นจำนวนตัวเลข สามารถนำไปคำนวณได้ เช่น จำนวนเงินเดือนราคาสินค้า
ข้อมูลตัวอักษร (Text Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นตัวอักษร และสัญลักษณ์เช่น ชื่อ สกุล ที่อยู่ ข้อมูลเสียง (Audio Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงพูด
ข้อมูลภาพ (Images Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นจุดสีต่าง ๆเมื่อนำมาเรียงต่อกันแล้วเกิดรูปภาพขึ้น เช่น ภาพถ่าย ภาพลายเส้น เป็นต้น
ข้อมูลภาพเคลื่อนไหว (Video Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นภาพเคลื่อนไหวต่าง เช่น ภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายด้วยกล้องวิดีโอ หรือภาพที่ทำจากโปรแกรมต่างๆ เป็นต้น