พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี

“การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน มีความคิดว่าของเก่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านสูญหายไป

คิดว่าควรมีการรวบรวมไว้ที่วัดเพื่อให้อยู่ยั่งยืน หากอยู่ตามบ้านแล้วอาจเสื่อมสูญได้”

พระครูผาสุกิจวิจารณ์ กล่าวเริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับที่มาของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี เมื่อแรกจัดตั้ง พ.ศ. 2534 โดยเป็นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกในโครงการบูรณาการฯ และลานธรรมลานวิถีไทย เช่นเดียวกับอีกหลายสิบวัดในจังหวัดพิษณุโลก ท่านพระครูฯ ไล่เรียงให้เห็นรูปแบบการทำงาน “ทางวัดได้จัดตั้งผู้นำฝ่ายสงฆ์ ฆราวาส แล้วประกาศให้ประชาชนนำของเก่ามาไว้ที่ศูนย์ฯ โดยเราใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าเป็นที่เก็บ ได้ดำเนินการมาของส่วนราชการโดยวัฒนธรรม โดยส่วนของคณะสงฆ์ และชาวบ้าน

ประเภทวัตถุที่ได้รับ ประกอบด้วย เครื่องมือการเกษตร การทำกิน อุปกรณ์ ยาสมุนไพร ตะเกียงโบราณ เตารีด รางบดยา สีฝัด เครื่องมือประมง พวกลอบ ไซ เบ็ดคู่ เบ็ดเดี่ยว หรือว่าจั่น ของเก่าๆ ที่ชาวไร่ชาวนา เอาไปดักปูปลา แห่ อวน มีหลายอย่างเกี่ยวกับเครื่องมือประมง เครื่องครัว การปรุงอาหาร เตาถ่าน เตาโบราณ กระต่ายขูดมะพร้าว เขียง กละ ทนาน ที่ใช้ลูกมะพร้าวตักข้าวตักน้ำ วัตถุเหล่านี้ได้รับบริจาคจากชาวบ้านและมีการลงทะเบียน ได้แก่ ชื่อผู้บริจาค ชื่อเรียกวัตถุ อายุ โดยได้ดำเนินการสะสมอย่างต่อเนื่อง

ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกำแพงมณี วัตถุได้รับการจัดไว้เป็นกลุ่มๆ ตามประเภทวัตถุ เริ่มจากทางขึ้นศาลาการเปรียญ ทางซ้ายมือจะเป็นวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนา รูปเคารพ โกฏเดิม เครื่องทองเหลืองประเภทเชี่ยนหมาก ตะบันหมาก ภาชนะใส่อาหาร ตะเกียงไส้ จากนั้นเป็นกลุ่มของเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ บ้างมีสภาพสมบูรณ์ บ้างมีรอยแตก หลายชิ้นปรากฏป้ายแสดงชื่อผู้บริจาค จากนั้น เป็นอุปกรณ์ช่างไม้ วัตถุทั้งหมดได้รับการจัดเก็บไว้บนตู้ โดยมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเป็นชั้นที่ต่อขึ้นอย่างง่ายๆ โครงเหล็กฉากและแผ่นไม้อัด บ้างเป็นตู้ไม้เนื้อแข็งที่น่าจะเป็นเครื่องเรือนที่เคยใช้งานมาก่อน

างขวาของศาลา เป็นเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เช่น โทรทัศน์ วิทยุ นาฬิกาแขวน อายุของกลุ่มวัตถุนี้อยู่ในราว 30-50 ปี นอกจากนี้ยังพบวัตถุที่อื่นๆ ได้แก่ คันชั่ง ตระกร้า กระบุง ถาดทองเหลือง ตาลปัตร ภาพเขียนแสดงให้เห็นบริเวณหน้าวัดเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เป็นการล่องเรือเมล์จากอำเภอบางกระทุ่มไปยังจังหวัดพิษณุโลกในระยะราวห้าสิบปีก่อนแม่น้ำเป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทาง

“วัดกำแพงมณีเป็นแหล่งการอบรมธรรมะ มีข้าราชการ นักเรียน พระ เณร มาแล้วก็มาเรียนรู้ เพื่อเอาไปเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มโรงเรียนพากันมาศึกษา เรียนนอกห้องเรียน เวลามีอบรมค่ายธรรมะ คุณธรรม เราจัดเวลาให้เขาไปศึกษาดูเป็นชั่วโมงศึกษา บางทีมาจากต่างจังหวัดบ้าง พอเห็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นไปดู นักศึกษาอยากรู้บางอย่างที่เขาทำรายงาน เห็นว่าเรามีของอย่างนี้” ท่านพระครูฯ กล่าว


ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน

สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘

ศิรินช เพ็งสลุด / เรียบเรียง

กรกฎาคม ๒๕๖๕