พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง


ที่ตั้ง 3/3 หมู่ 1 บ้านจอมหรำ ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา 90230

ประวัติความเป็นมา

พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2521 บนพื้นที่ 1 ไร่ ภายในบ้านของอาจารย์ปกรณ์ ไชยรัตน์ สำหรับอาจารย์ปกรณ์เป็นบุคคลที่มีความสามารถรอบด้านในเชิงศิลปะแขนงต่างๆ นอกจากหนังตะลุง ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ งานปั้น งานแกะสลักเศษวัสดุพวกรากไม้ ตอไม้ แม้กระทั่งขอนไม้เก่าๆ ที่ใครเห็นก็มองว่าเป็นของไร้ค่า แต่อาจารย์ปกรณ์กลับนำมาทำเป็นงานศิลปะได้อย่างน่าทึ่ง


ในปีพ.ศ.2542 อาจารย์ปกรณ์ถึงแก่กรรมลงด้วยวัย 72 ปี งานที่ท่านได้ทำเอาไว้ได้รับการสานต่อจากทายาท มีทั้งหมด 6 คน และหลานชายอย่างอาจารย์นครินทร์ หลังจากอาจารย์ปกรณ์ถึงแก่กรรม บ้านที่ติดกับ ลำคลองประสบอุทกภัยอย่างหนัก ทำให้สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนที่เก็บรักษาไว้ถูกน้ำพัดพาสูญหายไปหลายชิ้น อาจารย์นครินทร์มองเห็นคุณค่า จึงปรึกษาหารือกับทายาท คือ นายจักรพัฒน์ ไชยรัตน์ ลูกชายคนที่ 2 ของอาจารย์ปกรณ์ เพื่อให้ย้ายที่เก็บสิ่งของต่างๆ ที่อาจารย์ปกรณ์สะสมไว้ใหม่ คือบ้านเลขที่ 3/3 เป็นบ้านของนายจักรพัฒน์ โดยสร้างเป็นโรงเก็บของชั้นเดียวโล่งๆ ภายในมีสิ่งของต่างๆ ที่เก็บสะสมไว้มากมาย เช่น หนังตะลุง ขอนไม้ รากไม้ ตอไม้ที่แกะสลักตามจินตนาการ ปืนเก่าๆ ของใช้ในวิถีชีวิตชาวภาคใต้ สมัยที่อาจารย์ปกรณ์มีชีวิต ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์

ต่อมาปี 2548 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีโครงการศึกษาและร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อต้องการสำรวจว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยมีจำนวนเท่าไหร่ และมีระบบการจัดการอย่างไร ทำให้พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เข้าไปช่วยพัฒนาความรู้ด้านวิชาการ เช่น แนะนำการจัดสิ่งของต่างๆ ที่เก็บสะสมไว้ให้เป็นสัดส่วน มีการอธิบายสิ่งของที่นำมาจัดแสดงที่สื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจง่าย

พอมาปี พ.ศ.2550 อาจารย์นครินทร์ได้รับการพิจารณาให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และเกิดแนวคิดที่ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ให้มีความมั่นคง เพื่อเป็น "ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน" ตามเจตนารมณ์ของอาจารย์ปกรณ์ โดยระดมลูกศิษย์ต่างๆ ช่วยกันบริจาคทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อดำเนินการก่อสร้าง

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน (3-5 พฤศจิกายน 2551) ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น และเชิญพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่งมาจัดนิทรรศการ แนะนำสิ่งของที่เก็บสะสมไว้ให้นักเรียน ประชาชนทั่วไปได้ชมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นงานแกะสลักพวกตอไม้ รากไม้ เช่น เศียรพระพุทธรูป พระพิฆเนศวร หนังตะลุง เครื่องดนตรีประกอบการเล่นหนังตะลุง ตัวพระ ตัวนาง ตัวตลก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังยกการแสดงหนังตะลุง เรื่องพระมหาชนกลงเรือสำเภา มาให้นักเรียน ประชาชนที่เข้ามาชม รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้สัมผัสกับหนังตะลุง การเล่นหนังตะลุงอย่างสนุกสนาน อาจารย์นครินทร์เล่าว่า "พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมสะสมของเก่าๆ ที่คุณอาได้เก็บสิ่งของที่สะสมไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะพวกตอไม้ รากไม้ รวมทั้งหนังตะลุง เป็นศิลปะแห่งชีวิตพื้นถิ่นของชาวภาคใต้ ตอนเด็กผมเห็นท่านมีความเพียรความพยายาม มีจิตใจอนุรักษ์ ในฐานะที่เป็นหลานได้ฝึกเล่นหนังตะลุงกับท่านมา เพราะท่านเป็นคนเก่งมากด้านวรรณศิลป์ สามารถเขียนบทกลอนและแต่งเพลงหนังตะลุงให้ผมศึกษาตั้งแต่อายุ 16 ปี ผมแสดงหนังตะลุงเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงขึ้นมาปีพ.ศ.2549 ต่อมาได้รับการพิจารณาเป็นครู ภูมิปัญญาไทย จากนั้นเป็นศิลปินแห่งชาติ"

อาจารย์นครินทร์เล่าต่อว่า "ตำบลคลองหอยโข่ง เคยเป็นตำบลหนึ่งใน อำเภอหาดใหญ่ เพิ่งแยกออกมาเป็นอำเภอในปีพ.ศ.2530 มีศิลปินมากพอสมควร คุณตาก็เก่งเรื่องการทำหนังตะลุงก็เสริมให้ เครื่องดนตรีประกอบการเล่นหนังตะลุง เช่น ทับ กลอง โม่ง ฉิ่ง ปี่ ส่วนคนเชิดหนังอาจจะมีเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ และต้องมีพลังเสียงหนักแน่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ เล่นเป็นเรื่องราว พวกรามเกียรติ์ วรรณคดี นิทานไทยทั้งหมด การเชิดหนังตะลุงถ้าจะพูดไปแล้วมันไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ต้องใช้ความอดทน ประสบการณ์ที่สะสม

"อาจารย์ปกรณ์ถือเป็นบรมครูหนังตะลุง ที่นายหนังตะลุงส่วนใหญ่ให้ความเคารพยกย่อง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวออกเกือบทั้งสิ้น ผมและทายาทของอาจารย์ปกรณ์ก็ไม่ย่อท้อ เพราะอยากให้พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง เป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาและวิถีของคนใต้"

ปัจจุบันอาจารย์นครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ.2550 ได้เสียชีวิตแล้ว มีนายจักรพัฒน์ ไชยรัตน์ เป็นผู้ดูแล

พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านคลองหอยโข่ง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การฝึกหนังตะลุง ฝึกเพลงพื้นบ้าน เพลงบอก เพลงเรือ ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีหนังตะลุง การแกะสลักหนังตะลุง และงานประดิษฐ์รากไม้ ตอไม้ ให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน ที่มีความสนใจ และยังเป็นแหล่งให้ข้อมูลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคลองหอยโข่งด้วย

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวตากาญจน์ มีนุ่น