ถ้ำภูเขาทอง

พระพุทธรูปบริเวณหน้าถ้ำ

ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ต.ขันเงิน อ.หลังสวน ในถ้ำมี พระพุทธรูป และมีพระภิกษุสงฆ์ดูแล เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจบริเวณรอบ ๆ ถ้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ

จากการสัมภาษณ์พระนวราช ( นวราโช ) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรี อายุ ๗๑ ปี เล่าว่าในอดีตถ้ำภูเขาทองมีการกั้นผนังห้องโดยใช้อิฐ ซึ่งอิฐที่ใช้ได้จากการขุดเอาดินจากสระน้ำบริเวณด้านหน้าภูเขามาใช้ในการก่อสร้าง และเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้วได้มีพระสงฆ์ชาวมาเลเซีย ชื่อ ลีเซง ได้เข้ามาจำพรรษาและได้รื้อผนังอิฐดังกล่าวออกเสีย สำหรับการขุดหาขี้ค้างคาวได้ทำการมานานกว่า ๒๐ ปี โดยนำไปใช้ในการเกษตรกรรมและการค้าขาย ภายในถ้ำเคยพบชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์ และกระดูกสัตว์ นอกจากนี้บริเวณโพรงถ้ำซึ่งมีการเทปูนซีเมนต์เคยมรการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่แต่ได้ถูกทุบทำลายไปหมดแล้ว สำรับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานได้มีการทาสีใหม่ ในปัจจุบันเทศบาลเมืองหลังสวนเข้ามาปรับพื้นที่ในส่วนของโพรงถ้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ และจากการสัมภาษณ์พระมนู สัทธาธิโก ( อายุ ๖๘ ปี ) เล่าว่าบริเวณพื้นผิวภายในถ้ำในอดีตปูพื้นด้วยอิฐ และมีไม้กั้นพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธานและพระพุทธรูปขนาดเล็ก เป็นห้องๆบนเสาไม้ จะมีการประดับด้วยเสมาไม้ ในส่วนของลานชั้นที่ ๒ มีการประดิษฐานของพระพุทธรูปประธานในปัจจุบัน บริเวณส่วนฐานพระจะมีการบรรจุชิ้นส่วนของกระดูกของมนุษย์ นอกจากนี้ภายในองค์เจดีย์ด้านหน้าจะมีการบรรจุพระพิมพ์ดินเผา แต่ได้ขุดลักไปหมดแล้ว


บันไดทางขึ้นถ้ำ

สิ่งสำคัญ

๑. โบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์

๒. เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนฐานมีขนาดกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนส่วนยอดหักหายไปอิฐที่ใช้ก่อมีขนาดประมาณ ๑๔x๒๙X๔ เซนติเมตร เล่าต่อกันมาว่าอิฐที่นำมาก่อสร้างเจดีย์องค์นี้นำมาจากโบราณสถานบนเขากำแพง

๓. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพื้นเมือง

๔. พระพุทธรูป สลักจากหินทรายแดง อายุสมัยอยุธยาตอนปลาย - รัตนโกสินทร์ตอนต้น

ประวัติดำเนินการ

พ.ศ.๒๕๕๒ สำนักศิลปกรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราชสำรวจ

พ.ศ.๒๕๖๐ สำนักศิลปกรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราชสำรวจ

หนังสืออ้างอิง

กองพุทธศนสถาน. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒๓. กรุงเทพฯ: กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๔๗ หน้า ๑๑๙