วัดพระนอน

วัดพระนอน

วัดพระนอน เมืองกำแพงเพชร

          โบราณสถานวัดพระนอนตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารต่างๆก่อสร้างด้วยศิลาแลงพื้นที่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกมีอาคารศาลาโถง ที่อาบน้ำและบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทิศตะวันออกทางเดินปูลาดด้วยศิลาแลงมีเสาปักตลอดสองฟากข้างทางเดิน

          สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ตอนหน้าสุด ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รูปแบบของฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ภายในอาคารปรากฏแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป มีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสารองรับเครื่องบน ด้านนอกอาคารมีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสาพาไลรองรับชายคาของอาคาร และมีฐานใบเสมา ๘ ฐานตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ใบเสมาสลักจากหินชนวนมีการแกะสลักลวดลายประเภทลายพรรณพฤกษา เป็นรูปดอกไม้อยู่ท่ามกลางเถาใบไม้มีกระหนกปลายแหลมและมีการแกะสลักเป็นภาพบุคคลเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทรพีสู้กับพาลี (ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร)

          ถัดจากพระอุโบสถไปทางด้านทิศตะวันตกเป็นวิหาร มีแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อเป็นฐานหน้ากระดานและบัวคว่ำ ภายในอาคารปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นฐานชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถไสยาสน์(นอน) องค์พระพุทธรูปพังทลายคงเหลือแต่ส่วนโกลนของพระบาทที่บริเวณด้านทิศเหนือของแท่นฐานชุกชี เสาวิหารที่รองรับโครงสร้างเครื่องไม้และหลังคาเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ กว้างด้านละ ๑ เมตร สูง ๖ เมตร มีน้ำหนักกว่า ๑๔ ตัน เป็นเสาศิลาแลงที่เป็นแบบชิ้นเดียวที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย และถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่แสดงถึงความสมบูรณ์ในทรัพยากรและความสามารถในเชิงช่างในสมัยโบราณของเมืองกำแพงเพชร