ศิลปวัฒนธรรม

วัฒนธรรมประเพณี พิธีบวงสรวงองค์ท้าวเวสสุวรรณ วัดโพธิ์นิมิตร

บ้านห้วยเกิ้ง ตำบลห้วยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ท้าวเวสสุวรรณ เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 อธิบดีแห่งอสูรเป็นเทพผู้ปกครองผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา คุ้มครองโลกมนุษย์และเจ้าแห่งทรัพย์ ที่ชาวจีนนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่ซิงเอี้ย ท้าวเวสสุววรณ ในพระพุทธศาสนาเรียกท้าวไพสพ ซึ่งเป็นอธิบดีแห่งอสูรเจ้าแห่งภูตผีปีศาจนั่นเอง

ประวัติเท้าเวสสุวรรณ

ตำนานหนึ่งเชื่อว่าในอดีตท้าวเวสสุวรรณ เป็นพรามณ์เปิดโรงงานขายหีบอ้อยค้าขายอย่างร่ำรวยและนำเงินไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้ ด้วยผลบุญนี้ท้าวเวสสุวรรณจึงได้รับพรจาก พระพรหมและพระอิศวร ให้ท้าวเวสสุวรรรณเป็นอมตะ เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของทั้งปฐพี เทพแห่งความความร่ำรวยเงินทอง ผู้คนจึงนิยมบูชาท้าวเวสสุววรณ เพื่อความมั่นคงนั่นเองจึงเหมือนกับชื่อของท่าน คือ ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเวส แปลว่าพ่อค้า หมายถึง พ่อค้าอันมีทรัพย์นั่นเอง

อีกตำนานหนึ่ง เชื่อว่า ท้าวเวสสุวรรณ เดิมที่ชื่อกุเวรพราหมณ์ ในชาติก่อนได้ทำบุญทำกุศลไว้มาก ส่งผลให้ชาติถัดมาได้เกิดเป็นกษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ มีพระนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นสหายกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงเสด็จมาโปรดพระเจ้าพิมพิสารจนบรรลุโสดาบัน พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระเวฬุวันมหาวิหารให้พระพุทธเจ้าประทับ จึงเป็นอานิสงค์ให้ได้วิมานที่สวยงาม พระเจ้าพิมพิสารทำทานบ่อย ทำให้มีทิพยสมบัติมากมายและเมื่อทรงเป็นเทวดาที่มีอำนาจมาก


ลักษณะของท้าวเวสสุวรรณ

เป็นยักษ์สามขา (เนื่องจากถือไม้กระบองยาว อยู่หว่างขา) มีสี่กรพระวรกายสีขาว สวมอาภรณ์งดงามมีมงกุฎเป็นน้ำเต้าทรงพระเศียร แต่มีรูปกายพิการ ร่างกายกำยำดูแข็งแรง รูปร่างสมส่วน มือขวาถือกระบอกยาวมียักษ์เป็นบริวาร ยักษ์จะเป็นพวกกายทิพย์พวกหนึ่งมีสันดานที่แตกต่างกัน บางตนมีสันดานดีประกอบด้วยศีลธรรม บางตนมีสันดานร้ายจิตใจเต็มไปด้วยโทสะ โมหะ

บางตำนานท้าวเวสสุรรณยังมีกายเขียว สัณฐานสูง 2 คาวุด ประมาณ 200 เส้น มีอาวุธเป็นกระบอง มีพาหนะช้าง ม้า รถ ปราสาท อาภรณ์ มงกุฎประดับรูปนาค ดำรงอิสริยยศเป็นเจ้าแห่งยักษ์ มีบริวารแสนโกฏิ ถือโล่แก้วประพาฬ หอกทอง ท้าวเวสสุวรรณเป็นเทพอสูรที่มีอำนาจปกปักรักษา มีบทบาทปกครองภูตผีปีศาจที่เกเร มีอำนาจทางด้านการเงิน เพราะเป็นผู้รักษาขุมทรัพย์ของแผ่นดินเป็นมหาเทพแห่งความมั่นคง มีอำนาจในการประทานทรัพย์แก่ผู้ประพฤติปฎิบัติดี ผู้ใดหวังความเจริญในลาภยศทรัพย์สินเงินทองอำนาจวาสนาให้บูชารูปท้าวเวสสุวรรณ

องค์ท้าวเวสสุวรรณ วัดโพธิ์นิมิตรบ้านห้วยเกิ้ง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดโพธิ์นิมิต บ้านห้วยเกิ้ง หมู่ 4 ตำบลห้วยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่แต่เดิมมา เป็นที่นับถือ สักการบูชาและศรัทธาของชาวตำบลห้วยเกิ้ง ในทุกๆปีชาวตำบลห้วยเกิ้งจึงมีประเพณี บุญผะเหวด (บุญเดือน 4 ) พร้อมทั้งจัดพิธีบวงสรวงองค์ท้าวเวสสุวรรณเป็นประจำทุกปี และมีการรำบวงสรวงถวายต่อองค์ท้าวเวสสุวรรณมาตั้งแต่อดีดจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีรำบวงสรวงองค์ท้าวเวสสุวรรณ ของทุกปีเป็นประเพณีที่ชาวตำบลห้วยเกิ้งได้กระทำมาเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา สะท้อนความร่วมมือและความเชื่อ ศรัทธาของผู้คนในตำบล เป็นประเพณีพิธีกรรมรำบวงสรวงที่สวยสดงดงาม พร้อมเพรียงจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตำบลจนทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากแรงศรัทธาและพลังจากการร่วมมือ การรวมตัวกันของกลุ่มสตรี ข้าราชการ นักเรียน

เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และเป็นชาวพื้นเมืองอีสานลักษณะวิถีชีวิตเป็นผู้รักสงบมีความโอบอ้อมอารี ยึดถือขนบธรรมเนียม มีความเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ให้ความร่วมมือกับเทศบาลฯ ในการจัดงานวันสำคัญของชาติ ได้แก่ วันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น วันปิยมหาราช วันอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนด เช่น วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ วันเด็กแห่งชาติ วันท้องถิ่นไทย และงานประเพณีชาติ เช่น วันลอยกระทง วันสงกรานต์ เป็นต้น

คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ

จุดธูป 9 ดอก สักการะท้าวเวสสุวรรณ

และถวายดอกกุหลาบ 9 ดอก

ตั้งนะโม 3 จบ

อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต

นะ โม พุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จาตุมะหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต

เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ



แหน่งที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขต เทศบาลตำบลห้วยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

การเดินทาง : ใช้เส้นทาง ห้วยเกิ้ง-กุมภวาปี ขับผ่านเทศบาลตำบลห้วยเกิ้ง แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยแรก ก่อนเลี้ยวจะมีป้ายบอกทางเข้าวัด เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 500 เมตร ตรงไป เจอประตูทางเข้าวัด

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย ไทยนิวส์ออนไลน์/เทศบาลตำบลห้วยเกิ้ง/คณะครู กศน.ตำบลห้วยเกิ้ง

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย หลวงพี่ Priwan Prom/คณะครู กศน.ตำบลห้วยเกิ้ง