ประวัติในช่วงวัยเด็ก

เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่จังหวัดจันทบุรี ย้ายตามคุณพ่อซึ่งรับราชการเป็นอัยการ ไปเติบโตที่สงขลาและกรุงเทพฯ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนมัธยมสาธิตสวนสุนันทา และจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคลองอรชร
คุณแม่เล่าว่า วัยเด็กเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่ซุกซน อยากเป็นครูสอนเด็กๆ รักการอ่านมาก เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ออกเสียงดังๆ ถูกบ้างผิดบ้างตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนชั้นประถม เรียนหนังสือเก่ง สอบได้ลำดับดีเสมอมา เมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนเทศบาล จังหวัดสงขลา ได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการต่อเนื่อง ๑๔ ปี จนจบแพทยศาสตรบัณฑิต

ในรั้วมหาวิทยาลัย

ในสมัยนั้นการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สอบเข้าเพียงครั้งเดียวเลือกได้ ๖ อันดับ เลือกคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ เป็นอันดับแรก เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ ทันสมัย ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ และเชียงใหม่เป็นเมืองสงบสวยงามน่าอยู่ น่าจะเหมาะกับการเรียนหนังสือ
เมื่อเข้าไปเรียนแล้วไม่ผิดหวัง ครูอาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศทุ่มเทสอนเราอย่างจริงจัง และมีรุ่นพี่ที่เก่งๆ คอยช่วยประคับประคอง อาทิ ท่านองคมนตรี อาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย ซึ่งเป็นรุ่นพี่ ๑ ปี การเรียนหนักมากตั้งแต่ ชั้นปีแรกจนปีสุดท้าย ต้องอ่านหนังสือมาก สอบบ่อย เขียนรายงานคนไข้เป็นภาษาอังกฤษในแต่ละวัน และต้องเรียนรู้เข้าใจภาษาพื้นถิ่นไปด้วย
ชีวิตนักศึกษาแพทย์ช่วงนั้น นอกจากการเรียนแบบเอาเป็นเอาตายแล้ว เรายังมีกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นการแสดงวิพิธทัศนาเพื่อหาทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลน อำนวยการแสดงโดยอาจารย์หมอวราวุธ สุมาวงศ์ คนทั่วไปรู้จักท่านในนามวราห์ วรเวช นักศึกษาแพทย์ทั้งหญิงและชายมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เป็นทั้งนักแสดง เย็บเสื้อผ้าตัวละคร สร้างเวที ควบคุมแสงสีเสียง ขายตั๋ว รวมทั้งเล่นการแสดงสลับฉากด้วย เหนื่อยแต่สนุก และส่งผลดีกับเราในการรู้จักทำงานเป็นทีมเมื่อเรียนอยู่ปีสุดท้าย เข้าร่วมงานบริหารเป็นกรรมการบริหารคณะในตำแหน่งหัวหน้าหอพักนักศึกษาหญิง

นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพื่อนร่วมรุ่นนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เหตุการณ์ประทับใจเรื่องหนึ่งคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเลี้ยงแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พวกเราได้เข้าเฝ้าโดยใกล้ชิดแทบพระบาท สมเด็จฯ ทรงเปียโนไพเราะมาก อาจารย์รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุด และมีความสุขยิ่งที่ได้มีโอกาสทำงานถวายหลายๆ เรื่องในเวลาต่อมา
เมื่อเริ่มเรียนแพทย์ก็รู้ตัวทันทีว่าชอบที่จะเป็นหมอเด็ก ทำคะแนนการสอบได้ดีมากในวิชานี้ ภาคภูมิใจมากที่เมื่อเรียนจบได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแพทยศาสตรบัณฑิต และยังได้เข้ารับพระราชทานเหรียญยอดเยี่ยม สาขากุมารเวชศาสตร์ด้วย

เหตุการณ์ประทับใจ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วิพิธทัศนาคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๑

เริ่มต้นชีวิตการทำงาน

เริ่มวิชาชีพแพทย์ โดยเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ๑ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ แล้วฝึกอบรมเพิ่มเติมสาขากุมารเวชศาสตร์และทารกแรกเกิด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ๗ ปี ได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกาและอนุมัติบัตร*ในสาขาเดียวกันจากแพทยสภาประเทศไทย

แพทย์ฝึกหัด Ohio USA

ชีวิตการทำงานในเมืองไทย เริ่ม พ.ศ. ๒๕๒๐ ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกกุมารเวช โรงพยาบาลหัวเฉียวของมูลนิธป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งกำลังขยายเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ๗๕๐ เตียง พอใจมากที่ได้มีโอกาสใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมา

** แพทย์ที่จบฝึก Residency training สาขาการแพทย์ต่างๆ จากประเทศไทย แพทยสภาจะจัดการสอบเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะสาขาการแพทย์นั้นๆ โดยได้รับวุฒิบัตร แต่ถ้าจบจากต่างประเทศจะได้รับอนุมัติบัตร

จัดตั้ง ICU ทารกแรกเกิดที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งยังมีเพียงไม่กี่แห่งในบ้านเรา ช่วยเหลือทารกเกิดก่อนกำหนดและเจ็บป่วยร้ายแรงได้มาก ๕ ปีต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว เป็นงานที่ยุ่งยากและเหน็ดเหนื่อยมาก ต้องดูแลบังคับบัญชาบุคลากรกว่า ๑,๐๐๐ คน ปัญหาสำคัญระดับชาติเรื่องหนึ่งในยุคนั้น คือการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ มูลนิธิฯ ได้พัฒนาโรงเรียนผดุงครรภ์หัวเฉียวขึ้นเป็นวิทยาลัยหัวเฉียว ผลิตพยาบาลวิชาชีพรุ่นแรก ๓๐ คน จุดหักเหสำคัญในชีวิตการทำงานเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการวิทยาลัยหัวเฉียว เพื่อดูแลและขยายงานด้านการศึกษาของมูลนิธิฯ จำเป็นต้องขวนขวายศึกษาเพิ่มเติมจนได้ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๕
ก้าวสำคัญของอาจารย์ในการขยายงานด้านการศึกษา คือการดูแลรับผิดชอบ โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในวาระครบรอบ ๘๐ ปีของการดำเนินกิจการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าทุกเชื้อชาติศาสนาให้ร่มเย็นสมานฉันท์

รับพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๕
นักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดีเด่น ด้านบริหารการศึกษาพ.ศ. ๒๕๕๔

ประสบการณ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ชนิดที่เรียกว่าถ้าไม่มีท่านผู้นี้ก็จะไม่มีมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ คือ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พวกเราชาว มฉก. ควรรำลึกรู้คุณท่านตลอดไป เวลานั้นท่านอายุ ๘๐ ปีเศษแล้ว ท่านมีความมุ่งมั่นศรัทธาอย่างแรงกล้าในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ และด้วยความช่ำชองในประสบการณ์บริหาร ได้กำหนดการทำงานออกเป็น ๓ ส่วน แบ่งแยกภาระหน้าที่ แต่ทำงานสอดคล้องประสานสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนแรก คือการรณรงค์รับบริจาค เป้าหมาย ๑,๐๐๐ ล้านบาทใน ๑ ปี ท่านประธานและกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้รับผิดชอบโดยท่านประธานเริ่มประเดิมบริจาคเอง ๑๐๐ ล้านบาท ส่วนนี้ได้รับผลสำเร็จอย่างดี มีชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมบริจาคเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ ๒ คือการควบคุมการออกแบบและก่อสร้าง มอบให้คุณกอบชัย ซอโสตถิกุล เลขาธิการมูลนิธิฯรับผิดชอบ โดยอาจารย์เป็นกรรมการเลขานุการ ส่วนที่ ๓ คือวิชาการและการขออนุญาตจัดตั้ง มอบหมายให้อาจารย์รับผิดชอบ โดยจะจัดตั้งให้สำเร็จรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา ๒๕๓๕ หมายความว่าจะมีเวลาทำงาน ๑๘ เดือนเท่านั้น เราต้องจัดการวางแผนอย่างดี
สมัยนั้นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีเพียง ๑๒ แห่ง ส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นวิทยาลัย แต่ละแห่งต้องใช้เวลาเกือบสิบปีจึงจะพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยได้ โจทย์ยากที่สุดสำหรับอาจารย์คือทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนสถานภาพจากวิทยาลัหัวเฉียว ที่มีนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์รวมกัน ๒๐๐ คน ให้เป็นมหาวิทยาลัยได้ในเวลา ๑๘ เดือน คงนึกภาพออกว่าต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเพียงใด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานและสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบทบวงมหาวิทยาลัย แผนพัฒนาการอุดมศึกษา แผนพัฒนาประเทศ ประชากรและโครงสร้างแรงงาน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีอยู่แล้ว สาขาวิชาชีพที่ยังขาดแคลน วัตถุประสงค์และศักยภาพของมูลนิธิฯ เป็นต้น ในที่สุดได้ข้อสรุปถึงรูปแบบมหาวิทยาลัยที่ต้องการ อาจารย์ดีใจมากที่ได้พบลู่ทางว่าถึงแม้ยังไม่เคยมีใครขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนโดยตรงมาก่อน แต่ทบวงฯ ไม่ได้มีข้อห้ามไว้ จึงเสนอขออนุญาตจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยโดยตรงเป็นแห่งแรก แล้วผนวกวิทยาลัยหัวเฉียวเข้าเป็นวิทยาเขต
อาจารย์นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวว่า มหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้จะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดกลางที่ปฏิบัติพันธกิจได้แบบสมบูรณ์ครบถ้วนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของทบวงฯ การดำเนินงานไม่หวังผลกำไร แต่ต้องพึ่งและพัฒนาตัวเองได้ในระยะยาว กำหนดอัตราค่าเล่าเรียนไว้สูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน และจัดทุนการศึกษาให้แก่ผู้ยากไร้ สาขาวิชาที่เปิดสอนมีความหลากหลาย และพยายามสนองตอบความขาดแคลนของประเทศโดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๔๐ สูงกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนอื่นๆ โดยจะใช้โรงพยาบาลหัวเฉียวเป็นฐานฝึก ตั้งเป้าหมายว่าในปีที่ ๕ จะมีนักศึกษารวม ๕,๐๐๐ คน และอาจเพิ่มได้อีก ๑ เท่าตัวในอนาคต กำหนดคุณลักษณะบัณฑิตว่า เป็นผู้มีความรู้และมีจิตสำนึกสาธารณะ “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม”
มหาวิทยาลัยมีแผนงานจะเริ่มรับนักศึกษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยเปิดสอนคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และวิทยาการจัดการ เพิ่มเติมจากคณะพยาบาลศาสตร์และสังคมสงเคราะห์ ที่เปิดสอนอยู่แล้ว รวมทั้งเพิ่มเติมหลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการโครงการสวัสดิการสังคมในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ในปีต่อไปจึงจะเพิ่มเติมกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ คณะเภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น ๙ คณะ ๑๔ สาขาวิชา มูลนิธิฯ และสภาวิทยาลัยฯ ให้ความเห็นชอบในแผนงานนี้ และให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งต่อมารายงานว่ามีความเหมาะสม เป็นไปได้ตามแผนงานทั้งด้านวิชาการและด้านการเงิน จะสามารถพึ่งตนเองได้ภายใน ๕-๑๐ ปีท่านประธานมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยฯ อย่างเต็มที่ มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของมูลนิธิฯ ๑๔๐ ไร่ หน้ากว้างเกือบ ๕๐๐ เมตร ริมถนนบางนา-ตราด ซึ่งมูลนิธิฯ ซื้อไว้หลายปีแล้ว ให้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยฯ อนุญาตให้จัดตั้งกองทุนเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ราชการกำหนดไว้อีก ๑๐๐ ล้านบาท ได้แก่ กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย กองทุนพัฒนาคณาจารย์ และกองทุนเพื่อนักศึกษาที่ขาดแคลน ท่านติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เราต้องปรับพื้นที่และสร้างอาคารถึง ๙ หลัง โดยทยอยสร้างให้ทันตามแผนงานและการใช้สอย ในระหว่างนี้ทบวงฯ มีคณะกรรมการที่คอยติดตามความคืบหน้าโดยใกล้ชิดมาตรวจเยี่ยมสม่ำเสมอ ทุกฝ่ายทำงานหนักต่อเนื่องมา ๑๕ เดือน ก็ได้รับทราบข่าวที่น่ายินดีว่าเราได้รับอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยฯ แล้ว และจะใช้เวลาอีก ๓ เดือนเพื่อให้ความเห็นชอบในหลักสูตรที่จะเริ่มเปิดดำเนินการสอนในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๕ รวมเป็นเวลา ๑๘ เดือน ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายพอดี สิ่งที่เป็นสิริมงคลยิ่งคือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” คำว่า “หัวเฉียว” หมายถึง “จีนโพ้นทะเล” อาจารย์เองดีใจ หายเหนื่อยที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผน รู้สึกขอบคุณทุกส่วนทุกท่านที่ร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ช่วยของอาจารย์ ๒ ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์และอาจารย์ผ่องใส สุนทรา ที่ทุ่มทำงานสุดตัว จนได้รับผลสำเร็จสวยงาม เมื่อการขออนุญาตจัดตั้งสำเร็จเรียบร้อยแล้ว มีการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยดร.อุเทนฯ เป็นนายกสภากิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นนายกสภา และแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นอธิการบดีคนแรก

ดร.อุเทนฯ ติดตามการก่อสร้างมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ
พิธีวางศิลาฤกษ์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔
กรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๓๖

พัฒนาการของมหาวิทยาลัยในช่วงแรก

เราต้องเริ่มพัฒนากายภาพตั้งแต่เริ่มขออนุญาตจัดตั้งเลย พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าถนนเกือบ ๑ เมตร ชาวบ้านอาศัยประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสลิดและเลี้ยงหมู ต้องอธิบายทำความเข้าใจและรับซื้อปลาสลิดในปีแรก รับซื้อหมูในปีที่สอง เพื่อไม่ให้เขาเดือดร้อน คณะทำงานวางผัง (Master) โดยแบ่งพื้นที่ ๕ ส่วน คือ ๑. ส่วนอำนวยการ ๒. ส่วนศิลปวัฒนธรรม ๓. ส่วนการศึกษา ๔. ส่วนที่พักอาศัย ๕. ส่วนนันทนาการ โดยใน ๕ ปีแรก จะเพียงพอสำหรับนักศึกษา ๕,๐๐๐ คน และมีพื้นที่เหลือไว้สำหรับสร้างอาคารสูงเมื่อจะขยายงาน
ต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ถมที่ดินบางส่วนเพื่อสร้างอาคาร ๔ หลัง คือ อาคารเรียน อาคารอำนวยการ โรงอาหาร และหอพักอาจารย์ ให้เสร็จภายใน ๑ ปี ส่วนที่เหลืออีก ๕ อาคาร คือ อาคารเรียน ๒ หลัง ศูนย์บรรณสารสนเทศ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และหอประชุมใหญ่ ก่อสร้างในปีถัดไป เราต้องทำงานควบคู่กันไปหลายอย่าง ระหว่างก่อสร้างก็ต้องเตรียมจัดทำหลักสูตรและจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การศึกษา ตำราให้ครบถ้วน ปรับใช้พื้นที่ตามความจำเป็น เช่น ห้องสมุดในตอนแรกต้องไปอยู่มุมหนึ่งของโรงอาหารเสียก่อน ต้องรีบเร่งติดตั้งเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ เช่น Sound lab และ Computer Lab เพื่อให้นักศึกษารุ่นแรกได้ใช้ประโยชน์ ทุกอย่างเสร็จสิ้นทันการ จะมีช้ากว่ากำหนดก็เป็นเรื่องการรับบุคลากร ทั้งอาจารย์ประจำ และผู้อำนวยการศูนย์สำนักต่างๆ ในตอนนี้เราเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกมาช่วยหลายท่าน

อาคารในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

มหาวิทยาลัยฯ เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ปีแรกนี้แทบไม่มีโอกาสประชาสัมพันธ์ เพราะต้องรอให้การอนุมัติหลักสูตรเสร็จสมบูรณ์เสียก่อนตามระเบียบทบวงฯ รับนักศึกษารุ่นแรกได้เพียง ๒๐๐ คนหรือเพียง ๑ ใน ๓ ของเป้าหมาย เมื่อรวมกับนักศึกษาเดิมแล้วเป็น ๔๒๖ คน บางสาขา เช่น สาขาวิชาภาษาจีน มีนักศึกษาเพียง ๔ คน แต่เราไม่ท้อถอย สอนกันเต็มที่ พอรุ่นที่ ๒ ในปีถัดไปรับนักศึกษาใหม่ได้ ๔๕๐ คน หรือ ๒ ใน ๓ ของเป้าหมาย แต่เมื่อถึง รุ่นที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยฯ มีความพร้อมมากขึ้นในระดับหนึ่ง และทำการสอบคัดเลือกร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย รับนักศึกษาใหม่ ๑,๒๐๐ คน เต็มตามเป้าหมายได้เป็นปีแรก มีนักศึกษาทั้งหมดรวมกันราว ๒,๐๐๐ คน น่าดีใจว่าเมื่อถึงปีที่ ๕ มหาวิทยาลัยฯ มีนักศึกษา รวม ๕,๐๐๐ คน ครบถ้วนตามแผนงานที่นำเสนอต่อทบวงไว้ และในปีที่ ๗ มหาวิทยาลัยสามารถพึ่งตนเองได้ดังที่ NIDA ได้ศึกษาความเป็นไปได้ไว้
ความยุ่งยากในการดำเนินงาน ๓ ปีแรกนั้น คือเรายังต้องดำเนินงานควบคู่กันไปหลายอย่าง ทุกคนเหน็ดเหนื่อยมาก แบ่งแยกหน้าที่กันไป ทั้งดำเนินการสอนใน ๕ คณะ ตระเตรียมหลักสูตรและความพร้อมทุกด้าน เพื่อเปิดสอนกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก ๔ คณะในปีถัดไป รวมทั้งเริ่มจัดตั้งศูนย์ สำนักต่างๆ เพื่อสนับสนุนพันธกิจทุกด้าน อาทิ สำนักกิจการนักศึกษา สำนักวิทยบริการ ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา ศูนย์บรรณสารสนเทศ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมให้เสร็จภายใน ๑-๒ ปี นอกจากนี้ต้องเร่งรัดการก่อสร้าง อาคารขนาดใหญ่ ๕ หลัง และสะพานลอยเดินข้ามถนนบางนา-ตราด ที่กว้างใหญ่และรถแล่นเร็วมาก เรามีคนงานก่อสร้างจำนวนมากในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนพระอาทิตย์ตกทุกวัน อาจารย์เป็นห่วงสวัสดิภาพของนักศึกษาและบุคลากรมาก แต่ทุกคนมีความอดทนปรับตัวกับความไม่สะดวกทุกอย่าง น่านับถือน้ำใจนัก ขออภัยที่ไม่สามารถเอ่ยนามหลายท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิกยุคนั้น
ในปีที่ ๒ ของการดำเนินงาน มหาวิทยาลัยฯ เปิดการสอนได้ครบถ้วน ทั้ง ๙ คณะใน ๑๔ สาขาวิชาตามแผนงานการก่อสร้างอาคารทยอยแล้วเสร็จ ลักษณะทางกายภาพที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น ผู้คนเริ่มให้ความสนใจและรู้จักเรามากขึ้น รับอาจารย์ประจำได้มากขึ้น ในตอนปลายปีการศึกษามีอาจารย์ประจำ ๑๒๒ คน เริ่มให้ทุนอาจารย์ไปศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ จัดทุนการศึกษาให้นักศึกษาที่ขาดแคลน สนับสนุนให้นักศึกษามีกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น และให้มีกิจกรรมร่วม ด้านกีฬา วัฒนธรรมและดนตรีกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ การพัฒนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทุกด้าน มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในแวดวงการศึกษาอย่างน่าพอใจ และในปีที่ ๓ มีความพร้อมในการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและวัฒนธรรมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งเป็นแห่งแรก มูลนิธิฯ ได้รับเกียรติบัตรฐานะหน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติด้วย

พิธีลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พ.ศ. ๒๕๓๗

การก่อสร้างใช้เวลา ๓ ปีเศษ มาแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๓๗ รวมทั้งประติมากรรมพระบรมโพธิสมภาร ทันหมายกำหนดการสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยฯ ของเราในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๗ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่เสด็จฯ ทรงเปิด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นเหนือเกล้าฯ แก่มูลนิธิฯ ผู้บริจาค อาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับอาจารย์เองนั้นถือเป็นสิริมงคลสูงสุดของชีวิต ที่ได้ถวายรายงานและรับพระราชทานพระราชกระแสรับสั่งในหลายเรื่อง ปลื้มปิติเป็นพิเศษที่เมื่อทรงกดปุ่มแพรคลุมป้ายชื่อมหาวิทยาลัยฯ ทรงหันพระพักตร์มารับสั่งกับอาจารย์ว่า “มหาวิทยาลัยสวยมาก” และเมื่อเสด็จฯ กลับ รับสั่งกับท่านประธานมูลนิธิฯ ว่าการสร้างมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ดีมาก ขอให้ทำให้ดี และทรงอำนวยพร ถึงตอนนี้ความเหนื่อยยากของอาจารย์ที่สะสมมาหลายปี ตั้งแต่เริ่มรับทำโครงการฯ ไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด รู้สึกว่าถูกปลดปล่อยจากภาระหนักอึ้ง มีแต่ความสุข ภารกิจสำคัญของอาจารย์ได้สำเร็จลงแล้ว เชื่อว่าสภามหาวิทยาลัยจะสามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาสานต่อภารกิจนี้ได้ อาจารย์ขอลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๗ แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยและเป็นผู้อำนวยการโครงการพิเศษสภามหาวิทยาลัย ต่อมาอีก ๑๐ ปี นับว่าชีวิตการทำงานร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยาวนานถึง ๒๗ ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯทรงเปิดมหาวิทยาลัยวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

ขอเล่าเสริมตรงนี้ถึงภารกิจสำคัญที่ปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ในช่วงท้ายของการเป็นอธิการบดี คือการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานในงานวันอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังพญาไท ณ หอประชุมใหญ่ และทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ด้วยความสนพระทัยยิ่ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรกิจการ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗

วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงเปิดมหาวิทยาลัยฯ ท่านประทับอยู่นาน ถวายสิ่งใดให้ทอดพระเนตร

ประทับอยู่นานจนพลบค่ำ ทอดพระเนตรนิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-จีน และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ธ ทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์ จัดถวายที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม พระราชทานข้อคิดเห็นที่สำคัญหลายเรื่อง อาทิ การพบเครื่องถ้วยจีนที่กรุงชิง บนเทือกเขาหลวงนครศรีธรรมราช ควรมีการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และรับสั่งกับอาจารย์ให้ “จดเรื่องราวเก่าๆ จากคุณอุเทนฯ ไว้” นี่เป็นการพระราชทานพรอันประเสริฐที่ทำให้อาจารย์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ “ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า” อันเป็น “จดหมายเหตุ” ประเภทหนึ่ง รับใส่เกล้าฯ แล้วรีบปฏิบัติ ต่อมาจึงเกิดเป็นผลงานวิจัยและหนังสือ ๔ เล่ม ได้แก่ “รายงานการวิจัยสนองพระราชประสงค์ เรื่อง นครศรีธรรมราช” “๙๐ ปีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย” “ร้อยคำบอกเล่าเรื่องมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” และ “อุเทน เตชะไพบูลย์ เจ้าสัวผู้ปลูกกุศลไว้ในแผ่นดิน” หนังสือเล่มที่ ๒ ได้รับรางวัล สาขาปรัชญาจากสภาวิจัยแห่งชาติ ภายหลังยังมีผลงานหนังสือหลายเล่ม ที่ใช้จดหมายเหตุเป็นเอกสารอ้างอิง เช่น เรื่อง “วังไกลกังวลในสมัยรัชกาลที่ ๗” “พระราชวังพญาไทในวันวารห้าแผ่นดิน” และ “โรงเรียนพระดาบส โอกาสครั้งที่สองของชีวิต” และด้วยเห็นความสำคัญของจดหมายเหตุ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจรากเหง้าเรื่องราวในอดีตและพัฒนาการของตน นำสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในปัจจุบัน และวางแผนเหมาะสมในอนาคตได้ อาจารย์จึงบุกเบิกจัดตั้งหอจดหมายเหตุหลายแห่ง ได้แก่ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติของเราหอจดหมายเหตุมูลนิธิพระดาบส และร่วมจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ปลื้มใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุดที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรหอจดหมายเหตุ ทั้ง ๒ แห่ง

ชีวิตในวัยหลังเกษียณ

ตอนเกษียณจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติอาจารย์อายุ ๖๐ ปี ท่านองคมนตรี ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เลขาธิการมูลนิธิพระดาบสในขณะนั้นได้ชวนให้ร่วมถวายงานในมูลนิธิพระดาบส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงตั้งขึ้นเพื่อพระราชทานโอกาสให้ผู้คนที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือในวัยเด็ก ได้มีโอกาสฝึกฝนวิชาชีพช่าง และวิถีทางดำเนินชีวิตที่เหมาะสม สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และเป็นคนดีของสังคม เป็นนวัตกรรมการศึกษานอกโรงเรียนที่ทรงริเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสมีที่ยืนในสังคมของเราได้อย่างสง่างาม อาจารย์ภาคภูมิใจและมีความสุขกับงานในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนพระดาบส และผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส ดูแลทั้งด้านฝึกอบรมศิษย์และรณรงค์การบริจาคทุนทรัพย์ งานจิตอาสานี้ช่วยเหลือผู้คนได้มากมายจริงๆ ขณะนี้อาจารย์อายุ ๗๕ ปี ทำงานในมูลนิธิมา ๑๖ ปี วางมือจากงานบริหารแล้ว แต่ยังคงเป็นกรรมการของมูลนิธิพระดาบสความสุขในชีวิตช่วงนี้คือการได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้มากขึ้น และการได้ดูแลเฝ้าติดตามหลานคู่แฝด หวังให้เขาได้เติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป อาจารย์เห็นว่าชีวิตหลังเกษียณของอาจารย์เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าค่ะ

ในกิจการมูลนิธิพระดาบส
พักผ่อนกับครอบครัว

ผู้ให้สัมภาษณ์ แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ อายุ ๗๕ ปี

อธิการวิทยาลัยหัวเฉียว พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๕

ปฐมอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๓๕–๒๕๓๗

ผู้สัมภาษณ์ น้ำฝน อินทรสิทธิ์

วันที่สัมภาษณ์ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓

สถานที่สัมภาษณ์ บ้านเลขที่ ๖๒๗ หมู่ ๗ ถ. เทพารักษ์ ต. เทพารักษ์ อ. เมือง จ. สมุทรปราการ ๑๐๒๗๐