ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นโดย " มูลนิธิฮั้วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง " ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลจีน ที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย และนโยบายอันแน่วแน่ ที่จะส่งเสริมด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโครงการ " รับใช้สังคมและพัฒนาการศึกษา ”

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติมีประวัติในการจัดการศึกษามากว่า 50 ปี โดยมีพัฒนาการซึ่งแบ่งออก ได้เป็น 3 ระยะ คือพ.ศ. 2485 จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย โรงพยาบาลหัวเฉียวมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ ให้มีความรู้ ความสามารถด้านการพยาบาล และการผดุงครรภ์ เพื่อนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ

พ.ศ. 2525 คณะกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ตระหนักถึงภารกิจของรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ( พ.ศ. 2520 - 2524 ) จึงได้ขยายโรงพยาบาลหัวเฉียว เดิมให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไป เปิดบริการรักษา และให้คำแนะนำแก่ผู้มาขอรับบริการทุกสาขาการแพทย์ พร้อมกับการขยายโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ให้เป็นวิทยาลัยพยาบาล มีคณะพยาบาลศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ และให้ชื่อวิทยาลัยว่า “ วิทยาลัยหัวเฉียวต่อมาได้เปิดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิตอีกคณะหนึ่ง

พ.ศ. 2533 เป็นวาระที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งดำเนินการมาครบรอบ 80 ปี มูลนิธิฯ ได้มีนโยบายแน่วแน่ ที่จะส่งเสริม และขยายขอบข่ายงานด้านการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา และเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตฯ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยหัวเฉียวขึ้นเป็น “ มหาวิทยาลัย ” และได้รับอนุมัติจาก ทบวงมหาวิทยาลัย ให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ชื่อ “ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 นับเป็นมิ่งมงคลสูงสุดแก่สถาบัน และมีความหมายต่อชาวจีนที่เข้ามา อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารเป็นอย่างยิ่ง