เรื่อง บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ

นายแพทย์เกษม วัฒนชัย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย

สุภาพร : ดิฉันสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ ปัจจุบันงานจดหมายเหตุอยู่ภายใต้ศูนย์บรรณสารสนเทศ มีโครงการทำหอเกียรติยศ (Hall of fame) ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ รวมทั้งผู้มีคุณูปการ ขออนุญาตสัมภาษณ์และบันทึกเสียง และขออนุญาตแนะนำ คุณน้ำฝน อินทรสิทธิ์และคุณมธุพจน์ รัตนะ นักวิชาการจดหมายเหตุ จะทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์

เกษม : ครับ

น้ำฝน : ขอให้อาจารย์เล่าประวัติในช่วงวัยเด็ก

เกษม : เกิดที่ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และเมื่อไม่นานนี้เพิ่งจะไปเยี่ยมบ้านเกิด เป็นลูกคนแรก เตี่ยกับแม่ทำไร่อยู่ในป่า อยู่ในอำเภอปากท่อ เวลาจะคลอดในป่าไม่มีหมอตำแย ก็เลยเข้ามาในตลาดปากท่อ เพราะมีพี่ชายของพ่ออยู่ที่นั่น แต่ก็ไม่มีห้องคลอด มีหมอตำแย ข้างๆ บ้านเขาคงเห็นใจ เขาเพิ่งขายหมูไป ก็เลยบอกให้ไปทำความสะอาดเล้าหมู เอากระดาษแข็งมากั้น ผมเลยคลอดที่เล้าหมูโดยมีหมอตำแยไปขย่มท้องแม่ แม่บอกว่าแทบตาย สุดท้ายผมก็คลอดออกมาจนได้ เตี่ยกับแม่ก็ไม่มีอาชีพ รับจ้างทำโน่นทำนี่ แล้วไปอาศัยเขาอยู่ ไปอยู่ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ตอนนั้นผมเกิด ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ตอนนั้นก็เกิดสงครามพอดี เตี่ยกับแม่ก็พากันมาสถานีหัวลำโพง ก็ขึ้นรถไฟ แล้วก็พากันย้ายไปอยู่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ผมเลยโตที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เตี่ยกับแม่ลำบากมาก ไปเช่าบ้านอยู่ แม่เป็นลูกจ้างเย็บผ้า เย็บเสื้อ เตี่ยไปเป็นกรรมกรแบกข้าวสาร ผมก็จะคุ้นชินกับความยากจน คุ้นชินกับความไม่มีตั้งแต่เด็ก เรื่องของผมแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง ตอนผมอายุ ๗-๘ ขวบ ผมไปเดินในตลาด โดนผู้ช่วยศึกษาอำเภอจับ คิดว่าผมหนีเรียน ไม่ไปโรงเรียน ก็ให้พาไปหาแม่ ถามไปถามมา บอกว่าผมยังไม่ได้เข้าเรียน เขาบอกว่าผิดพระราชบัญญัติ (พรบ.) ประถมศึกษา แม่บอกปรับไป ๑๒ บาท ไปเรียนโรงเรียนบางมูลนากวิทยาลัย ผมได้เข้าโรงเรียนตอนอายุ ๗-๘ ขวบ ตอนกลางปี ก็ไม่รู้เรื่อง จำได้ว่าเรียนไม่รู้เรื่อง พอสิ้นปี เตี่ยให้ย้ายไปเข้าเรียน ป.๒ ที่โรงเรียนจีน ชื่อโรงเรียนโถงจื้อ ผมได้เรียนภาษาจีน ๒ ปี จีนกลาง คงจะเรียนเก่ง แล้วอายุมากด้วย ผมเรียนภาษาจีนเพียง ๒ ปี คือ ป.๒ กับ ป.๔ พอจบ ป.๔ เตี่ยบอกพอแล้ว เพราะบ้านผมจน ก็ไปฝึกหัดเย็บผ้า ติดกระดุม สอยได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังทำได้อยู่ ปิดเทอมใหญ่ตอน ป.4 เผอิญมีญาติ เป็นคุณยายของแม่ เขาบวชพระ บวชสิ บวชอยู่ ๗ วัน เขาจับผมบวชที่พิษณุโลก บวชที่วัดพระพุทธชินราช (วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร) บวชเสร็จก็กลับมา มาเย็บเสื้อต่อ เรื่องแปลก จุดหักเหเรื่องที่ ๒ ครูที่เคยสอนผมที่โรงเรียนจีน ชื่อครูยงค์ (คุณครูบุญยงค์ เยาวพานนท์) ผมชื่อก๊กกวง แซ่ตั้ง เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ก๊กกวง คือ แสงสว่างของประเทศ ก๊ก คือของประเทศ กวง คือ แสงสว่าง เขาก็ถามว่าก๊กกวงไปสอบเข้า ม. ๑ รึป่าว ม.๑ โรงเรียนประจำอำเภอ จบ ป.๔ ไม่ได้สอบแล้ว ครูเดินผ่านหน้าบ้าน พ้นไปแล้ว แล้วเดินกลับมา มาต่อรองกับเตี่ยผม เอาอย่างนี้สิ บอกว่าให้ไปสอบ สอบไม่ได้ค่อยให้มาเป็นช่างตัดเสื้อ ถ้าสอบได้ก็น่าจะส่งเรียนนะ ผมก็ได้ไปสอบ ไม่ได้เตรียมตัว สอบได้ที่ ๕ ตอนนั้นทุกคนคงเป็นความกดดัน เตี่ยกับแม่เลยต้องส่งเรียน ผมจึงได้เรียนหนังสือ ม.๑-ม.๖ เรียนดีมาตลอด สมัยนั้นดีอย่างหนึ่งจังหวะ ที่ยากจน มูลนิธิฟุลไบรท์เขาจะให้ทุน เรียน ม.๗ ม. ๘ เป็นทุนทั่วประเทศ มี ๔ โรงเรียน ภาคเหนือไปเรียนที่โรงเรียนปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย ถ้าภาคอื่นไปเรียนที่กรุงเทพคริสเตียน ถ้าเป็นผู้หญิง ภาคเหนือที่ดาราวิทยาลัย ถ้าเป็นภาคอื่นเป็นโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นของคริสเตียนทั้ง ๔ โรง ผมก็ไปสอบแข่งกับเขา ครูก็พาไปอีก ไม่มีใครพาไป ผมก็ไปสอบ ได้ที่ ๑ ของจังหวัด ก็เลยได้ทุนฟุลไบรท์ไปเรียน ม.๗ ม.๘ เรียน ๒ ปี เรียนเสร็จก็ทำงาน คือจริงๆ ทำกิจกรรมบ้าง แล้วก็สอบ ม.๘ ข้อสอบคล้ายโอเน็ตใช้ข้อสอบเดียวกันทั่วประเทศ ตอนแรกสอบเสร็จก็กลับไปอยู่บางมูลนาก ตั้งใจเรียนรัฐศาสตร์ แต่ตอนที่จะสอบไล่เผอิญน้องเป็นโรคหัวใจ แล้วก็ตาย เราก็เสียใจ

น้ำฝน : เป็นความฝันไหมคะ

เกษม : ฝันอยากเป็นนักการทูต เดิมจะเรียนรัฐศาสตร์ เข้าใจว่าความจนมันทำให้เสียทุกอย่าง เพราะน้องเป็นน้องที่รักมาก ก็เลยคิดว่ามันมีอีกเส้นทางหนึ่ง ตัดสินใจเรียนแพทย์ ตอนนั้นยังไม่ได้ประกาศ ม.๘ วันนั้นจำได้ว่าอยู่ในตลาด ถ้าใครสอบได้ ๑ ใน ๕๐ เขาเรียนติดบอร์ดของสายวิทย์กับสายศิลป์ เขาประกาศวิทยุทั่วประเทศ ผมได้ที่ ๓ เขาตกใจกันหมดทั้งตลาดเลย บอกเด็กที่บ้านเราได้ที่ ๓ ตอนนั้นแม่ก็เลยมาถามอยากเรียนอะไร ผมบอกว่าอยากเรียนหมอ แม่พูดขึ้นมาประโยคหนึ่งว่าผมก็ยังจำได้ แม่บอกว่า “ถ้าเรียนหมอแล้วเพื่อมาช่วยคนจน แม่จะพยายามส่งให้ แต่ถ้าเรียนหมอแล้วไปหาเงิน ปล่อยให้คนอื่นเขาเรียนดีกว่า เผื่อเขาจะมีอุดมการณ์” ผมก็จำไว้คำนี้ไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อผมโตแล้ว จนบัดนี้ ผมไปอยู่ที่ไหนผมจะจำคำที่แม่พูด ตอนที่ผมอยู่เชียงใหม่ ผมกับภรรยาไปตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้โครงการหลวง ทำตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๒๙ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ผมแก่แล้ว ผมทำไม่ไหว ทำ ๒๐ กว่าปี ทำ ทุกเดือน ชวนลูกศิษย์ คนรู้จักไปให้บริการ พอย้ายไปอยู่หัวเฉียวผมก็ไปตั้งหน่วยบริการชุมชน ปัจจุบันพวกเราก็ยังทำต่อกันนะครับ อีกอันนั้นก็เป็นอีกอันหนึ่ง เรื่อง ๓ ผมไปรับผิดชอบโรงเรียนพระดาบส ผมก็มีหน่วยพระดาบสสัญจร ไปตามหน่วย อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ตามที่ต่างๆ ที่เขาขอมา ผมก็ไปตั้งหน่วยบริการคนจน ตอนที่ไปเรียนที่เชียงใหม่ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยก็มีครูใหญ่คนหนึ่ง ชื่ออาจารย์หมวก ไชยรังการณ์ ก็ยังติดต่อกันอยู่ ท่านก็ถามว่าเรียนหมอหรอ ที่เชียงใหม่เขาเปิดสอนแพทย์ ก็เลยมาเรียนที่เชียงใหม่ ค่าใช้จ่ายคงไม่แพง แล้วก็สอบได้ ผมเรียนเตรียมแพทย์ที่กรุงเทพฯ ๒ ปี แล้วก็มาเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ ๔ ปี จบแล้วก็มาเป็นอาจารย์ จบแล้วก็รับทุนอานันทมหิดล จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระบรมราชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) จบที่อเมริกา แล้วกลับมาสอนหนังสือ ชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนั้น

มธุพจน์ : อาจารย์สอนอยู่ที่เชียงใหม่ใช่ไหมคะ

เกษม : ผมเรียนจบที่ชิคาโก จบบอร์ด ๒ บอร์ด คือ โรคอายุรกรรมและโรคหัวใจ ผมทำเทียบปริญญาเอก ภายใน ๔ ปีกว่า ผมก็จบทั้ง ๒ ใบ มาสอนคณะแพทย์ที่เชียงใหม่ แต่ผมก็ไปสอนที่อื่นๆ ด้วย ตอนจบมาใหม่ๆ นั่งรถไฟไปสอนที่อื่น สอนที่อุบล โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สอนที่โคราช โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ทางภาคเหนือเยอะ ตระเวนสอนไป สอนโรคหัวใจ เป็นอาจารย์พิเศษ ให้กับหมอที่รามาฯ เป็นอาจารย์พิเศษ

มธุพจน์ : อาจารย์สอนกี่ปีคะ

เกษม : สอนนานหลายปี สอนจนเป็นรองปลัดที่กรุงเทพฯ และผมก็เป็นปลัด อีก ๒ ปี อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา หมอที่รามาฯ ให้ช่วยไปสอน ผมกินข้าวเย็นเสร็จ ผมก็มาสอนอยู่ข้างเตียงคนไข้โรคหัวใจ มีลูกศิษย์เป็นหมอรามาฯ อยู่หลายรุ่น เกษียณแล้วก็ยังสอน

มธุพจน์ : คิดว่าอาจารย์เป็นรองปลัดทบวงและปลัดทบวง คิดว่าอาจารย์ไม่ได้สอนแล้วแต่ตอนนั้นก็สอนอยู่

เกษม : สอนตอนกลางคืน สอนไปเรื่อยๆ ตอนที่เป็นปลัดฯ แล้วก็มาเป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ผมเกษียณก่อน ผมมีเรื่อง ๕ เรื่องและผมทำเสร็จภายใน ๒ ปีจะต้องทำให้เสร็จ พอเสร็จผมก็ลาออก ตอนนั้นอาจารย์หมอกรรณิการ์ ตันประเสริฐ มาทาบทาม ขอให้ไปเป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียเฉลิมพระเกียรติ จริงๆ ยังไม่ถึงอายุ ๖๐ เรื่องนี้เกี่ยวพันกับย่าทวดผม ทวดผู้ชายเขามาเมืองไทยช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ และ ๖ แล้วตอนนั้นประเทศไทยส่งออกข้าวเยอะมาก ตระกูลหวั่งหลี เขาไปเปิดโรงสีไฟ สีข้าวตรงแถวฝั่งธนฯ เข้าใจว่าอยู่ตรงโรงแรมเพนนินซูลาในปัจจุบันนี้ แล้วที่เมืองจีนทวดผมกับหวั่งหลี เขามาจากหมู่บ้านเดียวกัน ผมแน่ใจว่าเขาต้องรู้จักกัน ผมไปเที่ยวที่เมืองจีน ในหมู่บ้านทวดผมกับหวั่งหลีห่างกันไม่ถึง ๑๐๐ เมตร มองเห็นกัน ตอนที่ทวดผมมาเมืองไทย ก็พาปู่ผมมาด้วย ปู่เป็นลูกชายคนโต ทวดมีลูกชาย ๗ คน คนโตคือปู่ผม ตอนที่ปู่มาอายุประมาณ ๑๘ ทวด ยังหนุ่มอยู่ มาอยู่เมืองไทยด้วย พาหลานมาอยู่ด้วย ทวดทำการค้าคือรับจ้างขนข้าวเปลือกจากคลองรังสิต นครนายกล่องเจ้าพระยาแล้วมาขึ้นโรงสีไฟหวั่งหลี เพื่อสีข้าวส่งออกนอก ปีหนึ่งอยู่ที่เมืองไทย ๑๑ เดือน กลับไปอยู่เมืองจีน ๑ เดือน ย่าทวดผู้หญิงอยู่เมืองจีนจะคอยดูลูกเล็กๆ กับหลาน ตอนหลังหลานที่มาอยู่เมืองไทย ก็ส่งไปให้ย่าทวดเลี้ยงลูกกับหลานจนโตหมดแล้ว แกอายุยืน แกบอกว่าไม่ได้ แกบอกว่าจะต้องมาอยู่กับลูกที่เมืองไทยบ้านละหนึ่งปี ๑ คนก่อนแกตาย แล้วแกก็มาจริงด้วย ปู่ผมเป็นคนโต ตอนนั้นก็อยู่นครนายกกับกรุงเทพฯ มีอยู่ครั้งหนึ่งแกขี่ม้าไปเที่ยวโคราช ไปเจอย่าผมที่โคราช ย่าผมตัวดำปื๋อเลย กำลังทอผ้า ก็เลยจีบกัน ชื่อย่าสีนวล หอบหิ้วกันไปอยู่ที่จังหวัดพิจิตร อำเภอบางมูลนาก ปู่ก็เป็นตัวอย่างอีกเหมือนกัน คือแกไปเรียนแพทย์แผนจีน อาจารย์เขาก่อนจะสอน บอกขอ ๒ ข้อ คือ ๑. ห้ามขายยา เป็นหมอถ้าไม่คิดค่ายา จนตายเลย จริงไหม ๒. ห้ามถ่ายทอดให้ลูกหลาน ทีแรกปู่บอก งง ถ้าวิชาอาจารย์ดีอาจารย์ทำไมไม่ถ่ายทอดให้ลูกหลาน เลยโดนอาจารย์ด่า แกบอกไอ้โง่ ถ้าเองขายยาแล้วจน แล้วเองจะสอนให้ลูกหลานอีกหรือ ปู่เป็นจีนคนเดียวที่อำเภอบางมูลนาก ไม่ขายยา เพื่อแมะให้ เขียนใบสั่งยา ในตลาดมีร้านขายยาอยู่ ๓ ร้าน รอรับใบสั่งยา (Prescription) ตอนเด็กๆ ผมมีหน้าที่เขียนจดหมาย เพื่อจะสั่งผ้าข้าวม้ากับผ้าไหมมาขาย พอได้มีกิน

น้ำฝน : คุณปู่มีคนไข้เยอะไหมคะ

เกษม : เนื่องจากไม่มีหมออื่น เวลารถไฟขึ้นลงมีแต่คนไข้ตามอำเภอต่างๆ มาหาปู่ผม มี ๒ วันใน ๑ ปี บ้านปู่จะมีแต่เป็ด ไก่ คือ ตรุษจีนกับสารทจีน ปู่ผมเป็นหมอจนๆ ตายอย่างจนๆ เป็นตัวอย่างให้พวกเรา ตอนนี้จะกลับมาที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ปู่ผมอยู่กับทวดผู้หญิง ๔ คน มาจากเมืองจีน เตี่ยกลับมาอยู่เมืองไทย ๑๗-๑๘ ทวดผมรักเตี่ยผมมาก มีลูกชาย ๗ คน มาอยู่เมืองไทย ๔ คน คนโตคือปู่ผม คนที่ ๔ คนที่ ๕ ไปอยู่ปีนัง และคนที่ ๖-๗ เตี่ยเกิดเมืองไทยแต่ไปอยู่เมืองจีน ผมยังเคยเจอแกเลย แกมาอยู่บ้านผมปีหนึ่ง คุณทวดผู้หญิงเขามัดขาเล็กนิดเดียว ยังนอนตักแกเลยเชียว ตัวนิ่มเชียว ตัวใหญ่ ปัญหาอยู่ตรงนี้ เรือที่พามาก่อนขึ้นคลองเตย ก่อนจะขึ้นมันมีโรคระบาดตาแดง ทางราชการไทยบอกไม่ให้ขึ้น แกบอกว่าอยู่ในเรือเดือนหนึ่ง โดนกัก แกรอดตายเพราะได้กินข้าวต้มป่อเต็กตึ๊ง ปู่กับย่าจนก็จริงแต่ก็เก็บเงินให้กับป่อเต็กตึ๊ง ทุกปีต้องทำบุญป่อเต็กตึ๊ง เป็นอันที่ผมเห็น ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะมาช่วยป่อเต็กตึ๊ง ทวดบอกว่าต้องตอบแทนบุญคุณกับป่อเต็กตึ๊ง ตอนนั้นอาจารย์หมอกรรณิการ์มาถามว่าพี่เษมมีแผนอะไร ผมบอกว่ายังไม่มีเลย ไปทำงานให้หัวเฉียวไหม ตอนนั้นยังไม่รู้จัก ถามไปถามมาว่าเป็นของป่อเต็กตึ๊ง เลยมีความโน้มเอียงที่จะมาช่วย ผมก็มาอยู่ ๔ ปีกว่า

น้ำฝน : เป็นจุดเริ่มต้น

เกษม : อยู่ในตำแหน่งหลายปี นึกถึงทวดผู้หญิงบอกว่าแกรอดตายเพราะข้าวต้ม ๓ มื้อจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

น้ำฝน : ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง ประมาณ ๔ ปีกว่า

เกษม : ผมอยู่ ๔ ปีนิดๆ เท่านั้นเอง จำได้ว่าไม่มีสิทธิ์ได้อะไร เพราะต้องทำงานครบ ๕ ปี ได้ศูนย์บาท ต้องทำตามระเบียบ เหตุการณ์อย่างนี้ทำให้เราจำได้

มธุพจน์ : อาจารย์เข้ามามกราคม ๒๕๔๐-๒๕๔๔ จำได้ว่าอาจารย์มาปรับโครงสร้างใหม่ และคิดว่าทำไมต้องมีโครงสร้างแบบนี้

เกษม : ผมโตมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) แล้ว มช. เป็นมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแห่งแรก ตอนนั้นเรามีมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ๕ แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางหมด พอรัฐบาลทำแผนพัฒนาประเทศ ๕ ปี ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙ การพัฒนาภาคต่างๆ ของประเทศ ไม่มีมหาวิทยาลัยเลยในต่างจังหวัด ไม่มีคน มติครม.บอกว่าไม่ได้ ต้องไปตั้งมหาวิทยาลัยทั้ง ๓ ภาค ภาคละ ๑ แห่ง มช. มข. (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ต้องครอบคลุม (Comprehensive) คือเป็นมหาวิทยาลัยหลายๆ สาขา ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เขาเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ก็เลยมีข้อตกลงว่ามีอะไรต้องช่วยกัน และต้องไม่ตั้งคณะภาควิชาซ้ำซ้อนกัน เพราะต้องสอบหมด ของจุฬาฯ สมัยก่อนคณะวิชามีภาควิชาสอนภาษาอังกฤษหมด แต่ที่มช. เราทำไม่ได้ เราให้คณะมนุษย์ฯ สอนทุกคณะเลย เป็นการประหยัด รวมศูนย์ ทำให้คนเก่งมาอยู่ที่เดียวกัน แต่พอมาทำที่หัวเฉียว ผมว่าต้องใช้วิธีรวมศูนย์ ประหยัดด้วย เราจึงรวมเป็นหน่วยงาน สำนักทะเบียนตอนแรกวุ่นวายหมด งานคลัง พยายามรวมคนเข้ามาทำงาน ตอนหลังๆ ได้ตัวอย่างมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากมติครม. ส่วนคณะฯ เนื่องจากคณะฯ ค่อนข้างเป็นเอกเทศมาตลอด ผมไม่อยากจะไปล้วงลูกอะไรเขาลึก แต่ทำอย่างไรให้เขาพัฒนาความเป็นเลิศได้มากที่สุด ผมก็ได้ทุนส่งอาจารย์ไปเรียนต่อ ตอนนั้นเรายังไม่ได้มีทุนไปให้อาจารย์เรียนต่ออะไรมากมาย บอกว่าเราต้องลงทุนในระยะยาว อาจารย์ที่ไปเป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยหอการค้า

มธุพจน์ : อาจารย์จีรเดช อู่สวัสดิ์

เกษม : อาจารย์จีรเดช ผมจะประชุมทุกอาทิตย์ แล้วเราจะแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วรองอธิการบดีเขาจะจดทุกอย่างที่ผมพูด เขามาบอกผมเองว่าเขาไปบริหารที่หอการค้าเขาเอาจากที่ผมพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน เดี๋ยวนี้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจบปริญญาเอกกันมากที่สุด นี่เป็นฝีมือของอาจารย์จีรเดช แต่แนวคิดเริ่มต้นมาจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ หากได้อาจารย์เก่งๆ อย่างอื่นจะตามมาหมด อีกอันหนึ่งที่ผมทำ ผมไปดูว่าเด็กปีหนึ่งของเรามาจากที่ไหน ก็ให้สำนักทะเบียนฯ เขาหาข้อมูล ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่มาจากทางภาคตะวันออก ๓-๔ จังหวัดหลักๆ เท่านั้น เด็กไกลๆ ไม่มาเรียน เพราะไม่รู้จัก ผมจึงทำง่ายๆ ๒ อย่าง คือ ปีใหม่ ผมให้เขาเอารายชื่อโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ๓,๐๐๐ กว่าแห่ง ๑. ส่ง ส.ค.ส. ส่งไปให้คณาจารย์และเจ้าหน้าที่โรงเรียนมัธยมทุกแห่งประเทศ ผมส่งไปทุกแห่ง และทุกเดือนผมจะมีคือ ๒. เอกสารแนะนำการศึกษาด้วย ส่งไปตามโรงเรียนมัธยม ๓,๐๐๐ กว่าแห่ง ผมไปอยู่ ๔ ปีกว่า เว้นจังหวัดเดียว คือแม่ฮ่องสอน อาจารย์เอา ส.ค.ส. ไปติด เอกสารทุกเดือนจะส่งไปตามโรงเรียนมัธยม มีเด็กคนหนึ่ง จบมาจากอำเภอคง จากโคราช ผมก็ไม่เคยได้ยิน ถามเขาว่าทราบได้อย่างไร เขาบอกว่าอาจารย์เอา ส.ค.ส. ไปติด มีโปสเตอร์ มีเอกสาร เขาอ่านจากที่นั่นว่าแนะนำคณะอะไรบ้าง ผมภูมิใจมาก ปีสุดท้ายที่ผมออก มีเด็กเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นแม่ฮ่องสอน จังหวัดเดียว เด็กปีหนึ่งของเรานะ สนุกดี

มธุพจน์ : ตอนนั้นได้ข่าวว่าภรรยา (คุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย) ของอาจารย์ช่วยออกแบบ ส.ค.ส. ด้วยใช่ไหมคะ

เกษม : เขาชอบขีดๆเขียนๆ ก็เลยให้เขาช่วยออกแบบ เขาตามมาอยู่ที่หอพัก

น้ำฝน : ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้บุกเบิกหลักสูตรการแพทย์แผนจีนอย่างไรบ้างคะ

เกษม : การแพทย์ของโลกมี ๓ แผน คือ ๑. การแพทย์ที่ยังไม่มีความรู้ คิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้าช่วยให้คนเป็นไข้นั้นหายไข้ได้ ๒. การสวดอ้อนวอน การบูชา ถ้าบูชาสิ่งมีชีวิต เรียกว่าบูชายันต์ การบูชาธูปเทียน เขาเรียนการบูชา การแพทย์มันเป็นการติดต่อระหว่างคนกลาง เจ้าทรงก็ได้ อะไรก็ได้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้เราจะสุขหรือจะทุกข์ ๓. การแพทย์แผนจีนเป็นขนบประเพณี (Traditional) เช่น การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนอียิปต์ แผนอินเดีย การแพทย์แผนจีนคนจีนมีเวลาพัฒนากว่าคนอื่น คือ ๔-๕,๐๐๐ ปี คนจีนชอบบันทึก มีวิชาเยอะมาก ใน (South east Asia) ในอาเซียนยังไม่มีความสัมพันธ์เรื่องการแพทย์แผนจีนกับที่นี่ คุณอุเทน เตชะไพบูลย์ บอกว่าเราน่าจะไปร่วมมือกับเขา ผมเลยอาสาสมัคร ผมขอให้มูลนิธิฯ ตั้งผมเป็นประธานจัดตั้งการแพทย์แผนจีน แล้วอย่าให้ใครมายุ่งกับผม ก็เลือกกรรมการเอง ผมเคยเป็นปลัดทบวงฯ ผมเลือกลูกน้องผมที่อยู่ทบวงฯ ผมเคยสอนลูกศิษย์ผมที่สาธารณสุขฯ มาเป็นกรรมการ มันก็ง่าย พูดจาภาษาเดียวกัน แล้วก็ผู้แทนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้แทนมหาวิทยาลัยฯ ชื่อหมออะไร ตายไปแล้ว เขาก็ช่วยผมเยอะ เราก็ตั้งคณะกรรมการ ๔-๕ คน ถามไปถามมาที่เซี่ยงไฮ้ดี ตกลงได้รูปแบบ แล้วเสนอกระทรวงสาธารณสุขฯ ทางจีนก็ติดมาหลายประเทศติดต่อมา (Southeast Asia) โดยเฉพาะทางมาเลย์ สุดท้ายเขาก็เลือกไทย เพราะว่ามีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสนับสนุนอยู่และมีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวอยู่แล้ว ตอนแรกเราก็เถียงกันมากเลยว่าจะสอนภาษาไทยหรือสอนภาษาจีน ถ้าสอนภาษาจีนเด็กไทยจะลำบาก จะต้องไปเรียนภาษาจีนก่อน แต่ถ้าสอนภาษาไทยตำราแพทย์ภาษาจีนเขาจะอ่านไม่ออก สุดท้ายเรามีมติสอนภาษาจีน ซึ่งคิดว่าเป็นมติที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้การแพทย์แผนจีนของเราหนักแน่น เด็กของเราถ้าไปเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ผมเชื่อว่าอยู่ในระดับที่ทุกคนยอมรับ ก็เลยเกิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีนขึ้น ถ้าปล่อยให้หลักสูตรเกิดแบบอื่นผมว่าไม่จบ ตอนนั้นกรรมการของเราตัดสินใจถูกแล้ว เด็กของเราจบและมาแนะนำตัวกับผมเยอะ ก็ภูมิใจ ของเราทำได้ดี

น้ำฝน : เหตุใดที่ท่านมาจัดตั้งหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

เกษม : คือผมหลงใหลหอจดหมายเหตุของจีน เพราะจีนเขามีหอจดหมายเหตุมาเป็นพันๆ ปี ไปถามดู ในมหาวิทยาลัยของไทย ไม่มีเลยสักแห่งหนึ่ง ผมกับอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาก็ไปถามดูในมหาวิทยาลัยไทย ธรรมศาสตร์เขาก็อยากทำ แต่เขาก็ทำไม่ได้ นักจดหมายเหตุที่จบมาโดยตรงยังไม่มี บรรณารักษ์มี แต่หอจดหมายเหตุไม่มี ตอนที่ผมอยู่ทบวง แต่ความที่รู้จักอาจารย์หมอกรรณิการ์ เขาเรียนแพทย์อยู่หลังผมรุ่นเดียว ผมก็ชวนอาจารย์กรรณิการ์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ มาทำจดหมายเหตุไหม แล้วอาจารย์ก็ไปช่วยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย และมาทำที่หัวเฉียวเองด้วย แล้วไปช่วยที่โรงเรียนพระดาบสอีกแห่งหนึ่ง ผมคิดว่าหอจดหมายเหตุเรื่องใหญ่มาก คิดว่ากระทรวง ทบวง กรม ทั้งรัฐและเอกชนควรจะมีข้อมูลจดหมายเหตุของตัวเอง สามารถศึกษาย้อนหน้าย้อนหลังได้ ผมก็ดีใจที่อาจารย์หมอกรรณิการ์มาทำสำเร็จที่หัวเฉียว ก็ดีใจที่ยังมีอยู่ ไม่โดนล้มไป

มธุพจน์ : ตอนนี้เอกสารของอาจารย์ยังอยู่ที่หอจดหมายเหตุเยอะนะคะ ตอนที่อาจารย์ออกหมดวาระดำรงตำแหน่ง เราเก็บยังดูแลเป็นอย่างดี

เกษม : ที่ทบวงฯ หลังจากที่ผมออกมา ก็ไม่มีคนสนใจ เขาก็ยังไม่สำเร็จ

น้ำฝน : อาจารย์มีหลักในการบริหารงานตอนที่ท่านเป็นอธิการบดีอย่างไรบ้าง

เกษม : ผมค่อนข้างเป็นคนหัวเก่า ผมคิดว่าเมื่อมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติสร้างขึ้นมาโดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ก็ต้องศึกษาว่ามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เขาทำมีหลักคิดอะไรบ้าง เขามีความเชื่อแนวคิดอย่างไร เราเป็นลูกของมูลนิธิฯ เราก็ทำงานร่วมกับพ่อแม่คือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผม ทุกเรื่องที่ผมจะทำต้องเสนอผู้ใหญ่ก่อน ก่อนอื่นผมศึกษา แล้วสุดท้ายผมก็ไปศึกษาชีวประวัติของไต้ฮงกง ตอนหลังก็ไปตั้งศาลหลวงปู่ไต้ฮงกง เพื่อให้พวกเราได้รู้จัก ที่นั่นเขาเชื่ออะไร เราต้องทำตาม เราจะไปทำนอกลู่นอกทางของป่อเต็กตึ๊ง ผมว่ามันไม่ควร ถ้าเราอยากทำนอกลู่นอกทางป่อเต็กตึ๊ง เราควรไปอยู่ที่อื่น มหาวิทยาลัยอื่น อย่าไปทำที่นั่นเขาเสีย พูดง่ายๆอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมูลนิธิฯ เขายึดอุดมการณ์อะไร เชื่ออะไร ตอนนั้นก็คิดกันในเรื่อง เนื่องจากป่อเต็กตึ๊งเป็นองค์กรการกุศล ก็เกิดคำขวัญเรียนรู้คู่คุณธรรม มีอุดมการณ์ คำขวัญ “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” ต้องทำตามนี้

น้ำฝน : อาจารย์บริหารงานโดยให้มหาวิทยาลัยฯ พึ่งพาตัวเองได้ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี?

มธุพจน์ : ตอนแรกๆ ที่อาจารย์มามีนโยบายชัดเจนมาก เกี่ยวกับการประหยัด

เกษม : ตอนนั้นมันขาดทุนอยู่ คือ ๑. ต้องทำตามกฎระเบียบ คนเคยได้ ๗ ขั้น ผมขอให้ขึ้นเงินเดือนอยู่ในเกณฑ์ ๒ ขั้นได้ไหม อย่างนี้มันก็เหนื่อย ตกลงเขาก็ยอม คนบริหารต้องรับผิดชอบระยะยาว ๒. เขาไม่เคยดูเลยว่า (Income) เท่าไหร่ (Expend) เท่าไหร่ มันประหลาดมาก คนบริหารต้องรับผิดชอบระยะยาวสมัยก่อนไม่มี เรื่องคอมพิวเตอร์ผมนำเข้าที่มช. ก่อนที่จะมาทำงานที่นี่ คนทำงานไม่เคย

เกษม : เรื่องคอมพิวเตอร์ผมเอาเข้าที่มช. คนบอกผมว่า ไม่ได้ มาที่นี่เอาพิมพ์ดีด (Processer) ก่อน สมัยก่อนโอลิมเปีย เลยถามว่าในตึกหน้ามีกี่คน เขาบอกมี ๕๓ คน ผมบอกเปลี่ยนเลย ให้เอาคอมพิวเตอร์มาใช้แทนโอลิมเปีย มีแต่คนบอกว่าไปฝึกเขา เดี๋ยวเขาก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น ปรากฏว่าไม่มีใครลาออกสักคน พอมาทำเรื่องงบประมาณที่หัวเฉียวเลอะเทอะหมด จึงเอาระบบที่มาเป็นเรื่องเป็นราว มาตั้งหลักตอนที่ผมเข้ามา เงินเข้าออกเท่าไหร่ จะลงทุนอะไรเราตอบได้หมด

มธุพจน์ : จริงๆ หลายอย่าง ก็เริ่มตอนรุ่นอาจารย์เข้ามาทุกอย่างระบบงบประมาณ เริ่มระบบเอกสาร เมื่อตอนอาจารย์มา รู้สึกดีมากเลยค่ะ ผู้บริหารสูงสุดให้ความสำคัญ พออาจารย์ให้ความสำคัญของงานจดหมายเหตุ ปัจจุบันก็ยังใช้ระบบนั้นอยู่ เอกสารมันก็มาตามระบบนั้นจัดมาเป็นอย่างไร ตั้งแต่แรก ทำให้เราได้เอกสารมา

สุภาพร : เป็นตัวอย่างที่คนมาดูงานคู่มือตารางกำหนดอายุการเก็บเอกสาร

เกษม : ต้องเก็บตังค์เขาแล้ว ภูมิใจ

มธุพจน์ : หน่วยงานอื่นเขาบอกว่ามันทำยาก มันก็อาจจะเป็นเพราะว่าเราต้องออกแบบตั้งแต่แรก เราใช้ตามประกาศว่าหน่วยงานต้องใช้แบบนี้นะ

เกษม : ผมยังจำได้ ช่วงที่ผมมาอยู่ แม้แต่น้องๆ ที่เขาร่างหนังสือ เขายังร่างหนังสือไม่เป็นเลย สุดท้ายได้พี่กอ(คุณชุติมา เพชรประกอบ) มาช่วยฝึกพวกเรา เด็กรุ่นหลังๆ ก็เก่ง คุณณัฏฐา มูนจินดา และตุ้ม (คุณอรพินธ์ สุชาติ) รวม ๓ คน ตอนนี้ก็ไปอยู่ที่โน่นที่นี่กันหมดแล้ว ผมก็ไม่ได้โทษนะ ความที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนมานาน ที่จริงมหาวิทยาลัยของรัฐบาล บางอย่างก็ดีนะ อย่างเรื่องระบบ การร่างจดหมาย ก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

น้ำฝน : อาจารย์ประทับใจหรือภูมิใจต่อมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯอย่างไรบ้าง

เกษม : การที่เป็น (Non Profit University) สำคัญ เราไม่ได้หวังเอากำไรไปให้ผู้ถือหุ้นกับเจ้าของ ซึ่งไม่เหมือนมหาวิทยาลัยเอกชนอื่น ๒ ข้อสำคัญ ๑. เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพื่อการกุศล เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ ๒. การที่เราอยู่ภายใต้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทำให้เราตระหนักว่าเราต้องทำเพื่อส่วนรวม ผมคิดว่า ๒ เรื่องนี้สำคัญ อยากให้พวกเรายึดตลอด

น้ำฝน : อยากให้อาจารย์แนะนำ (Hall of fame)

เกษม : ผมยังไม่เคยทำ เดี๋ยวเราคุยกันอีกที

สุภาพร : เอาข้อมูลขึ้น เป็นออนไลน์ เอาข้อมูลขึ้น เนื่องจากการเก็บที่ยังไม่มีพื้นที่ด้วย เราจะขึ้นเว็บไซต์

เกษม : เป็นเว็บไซต์ก็จะไปได้อีก

มธุพจน์ : ถอดเทปเสร็จจะนำข้อมูลมาให้อาจารย์พิจารณาอีกครั้ง

เกษม : ไม่ต้องนำมาให้ผมตรวจ ผมจะลืม (หัวเราะ) ขอบพระคุณมาก

น้ำฝน : ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ

สุภาพร : ขอบพระคุณค่ะ

มธุพจน์ : ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………………………….


ผู้ให้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย อายุ ๗๗ ปี

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐–๓๑ ธันวาคม

พ.ศ. ๒๕๔๔)


ผู้สัมภาษณ์ ๑. สุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์

๒. น้ำฝน อินทรสิทธิ์

๓. มธุพจน์ รัตนะ

วันที่สัมภาษณ์ วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น.


สถานที่สัมภาษณ์ ทำเนียบองคมนตรี