Pathumthani Family Medicine

เวชศาสตร์ครอบครัว

ในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้ถูกกำหนดให้มีบทบาทในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมินับตั้งแต่เริ่มมีระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๕ จนมาถึงในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๘ (๕) และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม

จากหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านของราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยฉบับพ.ศ.๒๕๖๒ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ได้พัฒนาตามเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของสหพันธ์แพทยศาสตร์ศึกษาโลก พ.ศ.๒๕๕๘ (World Federation for Medical Education, WFME ๒๐๑๕) โดยมีขอบเขตครอบคลุมพันธกิจ กระบวนการ โครงสร้าง องค์ประกอบ ผลลัพธ์ หรือความสามารถที่พึงประสงค์ การประเมินผล และสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง

เครือข่ายสถาบันฝึกอบรมโรงพยาบาลปทุมธานี อันประกอบด้วยโรงพยาบาลปทุมธานีเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักและโรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานีเป็นสถาบันร่วมฝึกอบรม ได้นำแนวทางจากหลักสูตรราชวิทยาลัยฯ ฉบับดังกล่าว มาพัฒนาเป็นแผนการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านแบบใช้ชุมชนเป็นฐาน สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๖ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้สถาบันฝึกอบรม ผู้ให้การฝึกอบรม ผู้รับการฝึกอบรมทุกประเภท สามารถใช้แผนการฝึกอบรมนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทางคลินิกที่มุ่งไปสู่การประกอบเวชปฏิบัติในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัวได้สืบไป