ตะบูนขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocarpus granatum J. Koenig
ชื่อวงศ์ : MELIACEAE
ชื่ออื่น : กระบูน, กระบูนขาว, ตะบูน (ภาคกลาง, ภาคใต้)
ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก - กลาง สูง 8 - 15 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นสั้น แตกกิ่งใกล้โคนต้น มีพูพอน แผ่ออกคดเคี้ยว ต่อเนื่องกับรากหายใจ ลักษณะแบนคล้ายแผ่นกระดาน เปลือกเรียบบาง สีเหลืองแกมเขียวอ่อน หรือ สีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแกมชมพู ลักษณะคล้ายเปลือกต้นฝรั่ง หรือ ต้นตะแบก เปลือกหลุดออกเป็นแผ่นรูปทรงไม่แน่นอน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อยมักมี 1 - 2 คู่ เรียงตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ขนาด 2 - 5 X 7 - 14 เซนติเมตร แผ่นใบสมมาตรกัน ปลายใบกลม ฐานใบรูปลิ่ม
ดอก : ออกเป็นช่อที่ง่ามใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 3 - 8 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 8 - 20 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 - 1.2 เซนติเมตร ก้านดอกย่อย ยาว 0.4 - 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ
ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร กลีบดอก 4 กลีบ ไม่ติดกัน มีสีขาวครีม เกสรเพศผู้ 8 อัน ดอกมีกลิ่นหอมเย็นเวลาบ่ายถึงกลางคืน
ผล : ลักษณะกลมแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 15 - 20 เซนติเมตร แบ่งเป็น 4 พู เท่าๆ กัน แต่ละผล มี 7 - 17 เมล็ด ลักษณะโค้งนูนหนึ่งด้าน กว้าง 6 - 10 เซนติเมตร ผลแก่ หรือสุกสีน้ำตาลแดงคล้ายผลทับทิม หรือ ผลส้ม ออกดอก-ผลตลอดปี
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ : มักขึ้นปะปนกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนบางชนิด เช่น พังกาหัวสุมดอกขาว ถั่วดำ ตาตุ่มทะเล และโกงกางใบเล็ก เป็นต้น ขึ้นได้ดีในน้ำกร่อย พบบ้างเล็กน้อยในบริเวณน้ำจืด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครพบได้ตามริมคลองน้ำกร่อย
สรรพคุณทางสมุนไพร : เปลือกต้น เมล็ด รสฝาด แก้อาการท้องร่วงและแก้บิด
ประโยชน์อื่นๆ : เนื้อไม้ มีสีและลวดลายสวยงาม ใช้ตกแต่งหรือทำเฟอร์นิเจอร์ได้
ข้อมูลจาก : รายงานการวิจัย "การศึกษาความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรป่าชายเลน เพื่อส่งเสริมสุขภาพชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร"
โดย นายกวินท์ พินจำรัส หัวหน้าโครงการและคณะ (วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร สถาบันวิทยาลัยชุมชน)