ตาตุ่มทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Excoecaria agallocha L.

ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่น : ตาตุ่ม (กลาง) : บูตา (มลายู-ปัตตานี)

ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก - กลาง ต้นแยกเพศ สูง 10 - 18 เมตร มียางสีขาวมาก ส่วนมากลำต้นจะตรง มักแตกกิ่ง ในระดับต่ำ บางครั้งดูคล้ายไม้พุ่ม เปลือกเรียบแตกเป็นรองสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมีช่องอากาศเล็กๆ เด่นชัด รากหายใจแผ่กระจายไปตามผิวดิน

ใบ : เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี หรือ รูปไข่แกมรีถึงรูปไข่กลับ ขนาด 2 - 5 X 4 - 9 เซนติเมตร ปลายใบกลมถึงเว้าตื้นๆ หรือเรียวมนแหลม ฐานใบมน ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเกลียงทั้ง 2 ด้านแผ่นใบนิ่มคล้ายหนัง มีสีเขียวเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐ เมื่อใบใกล้ร่วง ก้านใบเรียวยาว 1 - 2 เซนติเมตร

ดอก : ออกเป็นช่อตามง่ามใบ เป็นช่อเชิงลด ดอกมีขนาดเล็กมาก ติดกันเป็นกระจุก ช่อดอกเพศผู้มีสีเหลืองแกมเขียว ยาว 5 - 10 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียสั้น 2-3 เซนติเมตร

ผล : แบบผลแห้งแตก มี 3 พู รูปเกือบกลม ขนาด 0.5-0.7 x 0.3-0.4 เซนติเมตร ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ผลเกลี้ยง สีเขียวถึงน้ำตาลเข้ม เมล็ดเกือบกลมสีดำ ออกดอก-ผล เดือนพฤษภาคม
ถึง พฤศจิกายน

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ : พบทั่วไปในป่าชายเลน ตามริมแม่น้ำที่เป็นพื้นที่สูง ดินเหนียวปนทรายค่อนข้างแข็งและน้ำท่วมถึง จังหวัดสมุทรสาคร พบได้ตามชายป่าชายเลนกับนากุ้ง หรือนาเกลือ

สรรพคุณทางสมุนไพร : ใบ : รสเค็มเฝื่อนร้อน แก้ลมบ้าหมู เปลือกต้น รสเค็มเฝื่อนร้อน ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย แก้โรคลมชัก

ต้น : รสเค็มเฝื่อนร้อน ถ่ายเสมหะและโลหิต แก้โลหิตพิการ ขับผายลม เผาเอาควันรมฆ่าเชื้อโรคผิวหนัง โรคเรื้อน

ราก : รสเค็มเฝื่อนร้อน ถ่ายหนองและลม ขับลมให้ผาย แก้เสมหะ ฝนทาแก้บวมตามมือตามเท้าแก้คัน

ยาง : รสร้อนเมาเบื่อ เป็นยาถ่ายอย่างแรง อาจเสียชีวิตได้ ถ่ายหนองและลม สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานอาจแท้งได้ ทำน้ำมันแก้โรคเรื้อน กัดแผลอักเสบเรื้อรัง ทาถูนวดแก้ปวดข้อ แก้อัมพาต

กระลำพัก : (กระลำพัก เป็นธาตุวัตถุที่มีกลิ่นหอม ได้จากแก่นที่มีเชื้อราเจริญอยู่ในเนื้อไม้ของตาตุ่มทะเล) รสขมหอม แก้ลมฟอกโลหิต ขับระดู ขับเสมหะ

ข้อมูลจาก : รายงานการวิจัย "การศึกษาความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรป่าชายเลน เพื่อส่งเสริมสุขภาพชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร"
โดย นายกวินท์ พินจำรัส หัวหน้าโครงการและคณะ (วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร สถาบันวิทยาลัยชุมชน)