ศาลเจ้าพ่อนาคราชจันเสน

ศาลเจ้าพ่อนาคราชจันเสน

ศาลเจ้าพ่อนาคราช ตั้งอยู่ที่ ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่อยู่คู่ชุมชนจันเสนมาร่วมสี่ชั่วอายุคนแล้ว ชาวจันเสนเชื่อกันว่ามี "เจ้าพ่อนาคราช" มีอำนาจดูแลทรัพย์สมบัติใต้พื้นดินทั้งหมดประทับอยู่ จึงได้พากันก่อตั้งศาลเจ้าขึ้นแต่ก็เป็นเพียงเพิงสังกะสีเล็กๆ ไม่ใหญ่นัก และก็ได้พากันกราบไหว้ขอพรจากเจ้าพ่อนาคราช แต่ก็เป็นที่รู้จักกันในเฉพาะชุมชนจันเสนเท่านั้น เนื่องจากในสมัยนั้นพื้นที่ยังเป็นป่า การเดินทางไปมาหาสู่กันค่อนข้างจะลำบาก

ผู้สร้างศาลเจ้าพ่อนาคราชเป็นคนแรก คือ "อาก๊ง" ซึ่งเป็นบรรพบุรุษผู้จับจองพื้นที่บริเวณศาลเจ้าพ่อนาคราชเป็นที่ทำมาหากิน ท่านได้เล่าให้ฟังต่อๆ กันมาว่า ได้เห็นพญานาค ๒ ตัวเล่นน้ำอยู่ในบึงโบราณ ซึ่งเป็นบึงเก่าแก่คู่เมืองจันเสนตั้งแต่สมัยทวาราวดี และท่านก็ได้เห็นพญานาค ๒ ตัวนี้หลายครั้งก็เลยสงสัย จึงได้เสี่ยงทายตามวิธีของคนจีนจนได้รู้ว่าเจ้าพ่อนาคราชมาบอกให้สร้างศาลให้ ท่านก็เลยตกลงใจชวนกันก่อตั้งศาลเจ้าขึ้น ณ บริเวณที่พญานาคเล่นน้ำนั้น โดยสร้างเป็นเพิงสังกะสีเล็กๆ ตามกำลังทรัพย์

เมื่อศาลเจ้าทรุดโทรมตามกาลเวลา ก็ได้ทำการบูรณะศาลเจ้า เป็นเรือนไม้ที่แข็งแรงขึ้นแต่ก็ไม่ใหญ่กว่าเดิมมากนัก จนเวลาล่วงเข้ามาถึงปี ๒๕๔๔ ก็ได้มีการบูรณะศาลเจ้าครั้งใหญ่อย่างที่ไม่มีใครคิดว่าจะสร้างได้ใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยงบประมาณเริ่มต้นที่ ๓,๐๐๐ บาทเท่านั้น และศาลเจ้าพ่อนาคราชหลังแรกก็สร้างสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาเพียง ๘ เดือน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๔๐ ล้านบาท จนกลายเป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพ เทวรูป พระในปางต่างๆ มากมาย เช่น พระยูไล เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้านาจา เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ยะ พระ ๑๘ อรหันต์ เทพเจ้าตี่จั่งอ๊วง เป็นต้น

ในระหว่างทำการก่อสร้างนี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาได้พากันบริจาคสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็ก หรือกระเบื้องต่างๆ และมีผู้คนพากันมาขอพรจากเจ้าพ่อนาคราชและองค์เทพต่างๆ ทุกวัน ในวันงานประจำปี คือวันที่ ๘, ๙ และ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี จะมีผู้คนมาที่ศาลเจ้าพ่อนาคราชเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในวันที่ ๑๐ ธันวาคมจะมีมากเป็นพิเศษ เนื่องจากจะเป็นวันที่เจ้าพ่อนาคราชจะมาประทับทรงผ่านร่าง "อาจารย์แห้ว" ซึ่งใน ๑ ปี จะมีเพียงวันเดียวเท่านั้น จึงมีคนมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะชาวจีน





แผนที่การเดินทาง

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวสิริรัตน์ เอี่ยมสอาด

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวสิริรัตน์ เอี่ยมสอาด