จันเสนเมืองโบราณ

จันเสนเมืองโบราณ

บริเวณหมู่ที่ ๒ ในตำบลจันเสน เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ ชาวบ้านเรียกกันว่า โคกจันเสน เพราะเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมมนจนเกือบกลมแห่งนี้ มีระดับสูงกว่าพื้นที่รอบๆ อันเกิดจากการขุดคูน้ำล้อมรอบ แล้วนำดินที่ขุดนั้นมาถมพื้นที่ในเมืองบางส่วนแทนการสร้างคันดินสูง ที่มักพบได้ทั่วไปตามเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกันเมืองโบราณจันเสนมีขนาดราว ๗๐๐ x ๘๐๐ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่พิกัดทางภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ ๑๕ องศา ๑๐ ลิปดา ๕๗ พิลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐ องศา ๒๗ ลิปดา ๒๓ พิลิปดา ตะวันออก เป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำสุดของจังหวัดนครสวรรค์จันเสนห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๖ กิโลเมตร อยู่ในลักษณะภูมิประเทศอันเป็นที่บรรจบกันระหว่างชายที่ราบลุ่มแม่น้ำในลุ่มเจ้าพระยาและที่ดินเป็นลอนลูกคลื่นและภูเขา อันเป็นขอบของที่ราบขั้นบันได ซึ่งต่อเนื่องมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินชุดลพบุรีและชุดตาคลีระบายน้ำได้ดี เนื้อดินเป็นดินเหนียวสีดำร่วน ซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง มักมีเม็ดปูนสีขาวปนอยู่ในเนื้อดินระดับล่าง เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม

นอกคูเมืองด้านทิศตะวันออก มีบึงน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ขนาดประมาณ ๑๘๐ x ๓๑๐ เมตร เรียกกันว่า บึงจันเสน คันบึงด้านทิศใต้มีคันดินโบราณที่เรียกว่า คันคูหณุมาน กว้างประมาณ ๒๐ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร (บันทึกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑) ตั้งต้นจากคันบึงจันเสน มุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ความยาวราว ๔-๕ กิโลเมตร สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคันดินรับน้ำหลากจากพื้นที่ทางเหนือให้ไหลลงสู่บึงจันเสน เป็นการกักเก็บน้ำใช้ได้ตลอดปีด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก จนถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกคูเมืองมีสระน้ำ หนองบึงและเส้นทางน้ำจำนวนมาก คูน้ำสายสั้นๆ ทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่ต่อเนื่องมาจากคูเมือง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า คลองบ้านคลอง ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร สิ้นสุดลงบริเวณที่นาเส้นทางน้ำนี้ มีร่องรอยต่อไปถึงลำน้ำโพชัยที่ห่างไปราว ๗ กิโลเมตรได้ ชาวบ้านมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า สมัยก่อนเรือกำปั่นขนาดใหญ่ผ่านมาทางลำโพชัยเข้ามาจนถึงโคกจันเสน แม้กระทั่งผุ้คนในปัจจุบันยังเคยใช้เรือค้าข้าวจากลำน้ำโพชัยข้ามทุ่งมาเข้าที่คลองบ้านคลองขายข้าวที่ตลาดจันเสนในยามหน้าน้ำ ส่วนบึงน้ำ สระน้ำ ขนาดเล็ก ปัจจุบันตื้นเขินจนกลายเป็นที่นาและสวนผักไปจนหมดในเมืองมีทางน้ำและสระน้ำ ๒-๓ แห่ง พื้นที่เป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ สระน้ำขนาดใหญ่บริเวณทิศใต้เกือบกึ่งกลางของเมือง ชาวบ้านเรียกว่า บุ่งยายคำ เส้นผ่าศูนย์กลางราว ๖๐ เมตร ลึกกว่า ๒ เมตร สมัยก่อนมีน้ำใช้ได้ตลอดปี แต่ปัจจุบันตื้นเขินจนใช้การไม่ได้แล้วในปัจจุบันไม่พบซากโบราณสถานภายในเมืองเนื่องจากมีการขุดทำลายจนหมด แต่ยังปรากฏหลักฐาน เช่น อิฐดินเผา เศษปูนปั้น หลงเหลืออยู่บ้าง ทำให้ทราบว่าเคยมีโบราณสถานมาก่อน ชาวบ้านในโคกจันเสนพบโบราณวัตถุบริเวณผิวดินและใต้ดินเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การลักลอบขุดและซื้อขายโบราณวัตถุ ทำให้โบราณวัตถุจากเมืองจันเสนสูญหายไปจนเกือบหมดทีเดียว





แผนที่่การเดินทาง

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวสิริรัตน์ เอี่ยมสอาด

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวสิริรัตน์ เอี่ยมสอาด