บุญเดือนเก้า ข้าวประดับดิน

“บุญเดือนเก้า ข้าวประดับดิน” หรือ “บุญข้าวประดับดิน” เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2564 ทั้งนี้ หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณหนึ่งเดือน อีกหนึ่งฮีตคองประเพณีอีสานบ้านเราที่มีใช้ช่วงนี้คือ “บุญข้าวประดับดิน” ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า (ประมาณเดือนสิงหาคม) เป็นการนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เป็นการทำบุญที่ชาวบ้าน จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

มูลเหตุของความเป็นมาของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดิน นี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท ว่า "ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่ พระสมณโคดมพุทธเจ้า ในภัททกัปป์นี้ ก็ไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้ แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินและเห็น พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราว ที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศล แล้ว ได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์" ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ ทำบุญข้าวประดับดิน ติดต่อกันมา

ประเพณีคนลาวและไทยอีสาน มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า กลางคืนของเดือนเก้า หรือ ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากันจัดห่อข้าวไว้ให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว ถือว่าเป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว พิธีกรรมของประเพณีบุญข้าวประดับดิน การทำบุญข้าวประดับดินนั้นจะทำกันในช่วงเช้ามืด ประมาณตีสาม – ตีสี่ ของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งหมายความว่าจะต้องเตรียมจัดอาหารคาวหวานไว้ตั้งแต่ตอนเย็นของวันแรม 13 ค่ำเดือน 9 นอกจากอาหารคาวหวานแล้วยังมี หมากพลู บุหรี่ โดยจะแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับครอบครัว ส่วนที่สองแบ่งญาติพี่น้องเรือนเคียง ส่วนที่สามอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์

สำหรับส่วนที่สามที่จะอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วนั้นจะห่อน้อยกว่าส่วนอื่น มีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ยาวให้สุดซีกของใบตองที่ตัดมา อาหารคาวหวานนั้นจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย อาทิ

1.ข้าวเหนียวนึ่ง ปั้นเล็กๆเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน2.เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือ อาหารคาวที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่น 3.อาหารหวาน เช่น กล้วย น้อยหน่า มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ4.หมาก บุหรี่ และเมี่ยง อย่างละคำำ ห่อข้าว–บุญข้าวประดับดิน ห่อข้าว อาหาร คาวหวานด้วยใบตอง แล้วใช้ไม้กลัดหัวท้าย และตรงกลาง เราก็จะได้ห่อข้าวน้อย ที่มีลักษณะยาวๆ ตามซีกของใบตอง อีกหนึ่งห่อ เป็นหมากพลู บุหรี่ และเมี่ยงคำ นำมาห่อในลักษณะเดียวกัน จะได้เห็นห่อหมากพลู หลังจากนั้นนำทั้งสองมามัดเป็นคู่ และไปรวมกันเป็นพวงอีกที โดย 1 พวง จะใส่ห่อหมากห่อพลูจำนวน 9 ห่อ ห่อข้าวน้อยที่เรานำไปวาง หมายถึง การนำไปอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รุ่งสางราวๆตี 3-4 ของเช้าวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 แต่ละครัวเรือนจะนำเอาห่อข้าวน้อยที่เตรียมไว้ไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ ตามทางเดิน ริมกำแพงในวัด ภาษาอีสานเรียกว่าการยาย (ยายหมายถึง วางเป็นระยะๆ) จะทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีการตีกลอง ตีฆ้องแต่อย่างใด ระหว่างที่ยายห่อข้าวน้อย ก็จะมีการจุดธูปเทียน เพื่อบอกให้ดวงวิญญาณมารับส่วนกุศลที่ได้อุทิศไปให้ บางคนก็บอกเฉยๆ ไม่ได้จุดเทียนก็มี หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน เพื่อเตรียมอาหารมาใส่บาตร ถวายพระในตอนเช้า พระสงฆ์มีการแสดงธรรมเทศนา เกี่ยวกับอานิสงส์ของการทำบุญข้าวประดับดินให้ฟัง และมีการกรวดนำทำบุญ ตามประเพณีของพุทธศาสนา ที่ทำกันทั่วๆไป ประเพณีของอีสาน ซึ่งสามารถสื่อให้รู้ว่ามีความกตัญญูต่อบุพการี หรือญาติแม้ล่วงลับไปแล้ว

โดยที่วัดในแต่ละหมู่บ้าน จ.หนองคาย ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชาวบ้าน มา “ทำบุญให้ผี” กันในทุกปี สืบทอดกันหมาหลายชั่วอายุคน โดยผู้เฒ่าของหมู่บ้านบอกกับผู้สื่อข่าวว่า มาทำบุญให้ผี ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ โดยทำทุกปี โดยสิ่งที่นำมาก็เป็นอาหารที่เรากินกันทุกวัน รวมทั้ง หมาก พลู โดยนำมาวางให้ผีกินช่วงเวลา เช้าวันใหม่ (04.00 น.) ซึ่งชาวบ้านยึดถือปฏิบัติมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว.


ขอบคุณที่มาข้อมูลบางส่วนจาก http://www.thatphanom.com/2411/วัฒนธรรมประเพณี/วัฒนธรรม/บุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า