แม่ดีเด่น เทศบาลนครลำปาง ประจำปี 2560

คุณแม่ศรีวรรณ ทรงสมบูรณ์ อายุ89 ปี ศาสนาพุทธ พำนักอยู่บ้านเลขที่ 8 ถนนศรีเกิด อ.เมือง จ.ลำปาง เกิดและเติบโตที่บ้านหน้าวัดศรีเกิด ที่มีบรรพบุรุษ ที่หลากสายพันธุ์ เป็นลูกคนที่ 3 ของนายยิ่วพ้ง มีชื่อไทยว่า พงษ์ และ นางหลวง รุจจนพันธ์ มีพี่น้องจำนวน 7 คน มีบุตรธิดา 5 คน หลาน

การศึกษา หัดเขียนหนังสือที่ โรงเรียนเจ้าแม่จันทร์เทศ อยู่สบตุ๋ยใกล้แยกดอนปาน ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 ที่โรงเรียนวรรณศาสตร์ อยู่ที่ตลาดจีน

มัธยมปีที่ 1 ถึง 5 ที่โรงเรียนลำปางกัลยาณี เรียนตัดเย็บเสื้อผ้าฝรั่ง เสื้อ กระโปรง กระโปรงชุด ชุดสูท ชุดราตรี ชุดแต่งงาน ที่ โรงเรียนบรรจง-เสาวณีย์ ท่าช้างวังหน้า เรียนปักจักร ที่ร้านไทยประดิษฐ์ สะพานดำ กรุงเทพมหานคร

ประกวดนางงามลำปาง ผู้ว่ามาขอกับแม่ ก็ง่ายๆ ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องขัดผิว ของที่ต้องใช้ทุกอย่างเขาก็ให้เงินไปซื้อ ส่วนชุดเราตัดเอง จำได้ว่าเขาให้มา 1,000 บาท ผลพวงที่ได้รับ คือไปหาผู้ว่าฯ ฝากน้องชายเข้าโรงเรียน และอีกอย่างก็คือได้แต่งงาน กับหนุ่มหล่อ สูงใหญ่ เป็นแบบทหาร เป็นคนใต้ เห็นเดินประกวด ก็มาแวะหาที่บ้าน เป็นคนไม่พูด มาก็นั่งอยู่เงียบๆ ขี้หึงมาก จดทะเบียนสมรสที่เชียงใหม่เดือนมกราคมวันกองทัพบกพอดี เดือนเมษายนคุณพ่อพี่เล็กยิงตัวตายที่ห้องพักในค่ายทหารเพราะความเครียด เป็นทหารผ่านศึกเกาหลีมาก่อน ทางทหารก็มีเงินให้ลูกสามหมื่นบาท เอาไปซื้อหวยออมสิน นอกจากนี้เงินบำนาญสำหรับพ่อแม่และเมีย แต่ละคนได้รับเดือนละเจ็ดสิบห้าบาท แต่คุณปู่ คุณย่าก็ส่งมาให้ทั้งหมด พี่เล็กก็ได้เดือนละร้อยห้าสิบจนกว่าจะเรียนจบ

ภายหลังเมื่อแต่งงาน ครั้งที่สอง เมื่อลูกสาวคนโตอายุได้ 6 ปี จึงย้ายมาอยู่บ้านไม้ เลขที่ 8 บนที่ดินที่ซื้อใหม่ถนนศรีเกิด และเนื่องจากเป็นคนขยันทำงานรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าไม่เคยมีวันหยุดและเป็นคนกล้าลงทุนในเรื่องที่จำเป็น จึงตัดสินใจเริ่มเป็นหนี้ธนาคารสร้างบ้านตึกในบริเวณเดียวกันตอนมีลูกชายซึ่งอาศัยอยู่มาจนทุกวันนี้ ภายใต้ชื่อ “บ้านสกลวรรณ”

ไม่หยุดเป็นหนี้

ในช่วงที่รับตัดเย็บเสื้อผ้านอกจากต้องเลี้ยงลูกๆ ของตัวเองแล้วยังช่วยส่งน้อง ๆ อีก 3 คน เรียนจนจบมีงานทำ เลี้ยงหลานชายอีก 3 คน คุณแม่ศรีวรรณ ให้ความสำคัญกับการศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างมาก เด็กชายเข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ส่วนเด็กหญิง ลูกสาวทั้ง 4 คน ช่วงชั้นประถมศึกษา เรียนที่โรงเรียนอรุโณทัย การมีชีวิตที่ต้องพึ่งตนเองจึงต้อง ประหยัด งานหลักคือรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ก็เริ่มแบ่งห้องที่สร้างพร้อมกับบ้านสกลวรรณซึ่งว่าง 2 ห้อง และบ้านไม้ที่เคยอยู่ ให้ข้าราชการเช่าพักเพราะบ้านอยู่ใกล้สถานที่ราชการ กิจการไปได้ดีใครๆ ก็มาถามหาที่พัก ทำให้บ้านสกลวรรณเป็นที่รู้จักในส่วนราชการ จึงไม่หยุดที่จะเป็นหนี้ธนาคารอีกครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้ห้องพักในรอบรั้วบ้านสกลวรรณ เป็น 14 ห้อง บ้านไม้เดิม 1 หลัง บ้านไม้หลังใหม่ 1 หลัง บ้านตึกชั้นเดียว 1 หลัง (ทั้ง 2 แห่งอยู่หลังสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ( TV ช่อง 8 เดิม)) กิจการจัดสรรที่ดินบ้านต้าหน้าค่าย และ หอพักสกลวรรณ 4 ชั้น ขนาด 40 ห้องนอน หน้าวัดศรีเกิด พร้อมรับพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เริ่มเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในช่วงปี พ.ศ. 2523

พฤษภาคม 2522 คุณพ่อสกล ทรงสมบูรณ์ ซึ่งทำงานธนาคารกรุงเทพ สาขาเชียงรายต้องจากทุกคนไปเนื่องจากโรงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยอาการท้องอืด ปวดแน่นท้อง อย่างเฉียบพลัน และเสียชีวิตหลังจากไปรับคุณพ่อสกล จากเชียงราย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอก เพียง 2-3 วัน คุณแม่ศรีวรรณจึงต้องทำหน้าที่เพิ่มคือเป็นทั้งพ่อและแม่ คุณแม่ศรีวรรณต้องตั้งสติให้เข้มแข็งเพราะต้องดูแลลูกๆ 5 คน ขณะนั้นมีเพียง พี่เล็กเท่านั้นที่เพิ่งเรียนจบ และทำงานที่สรรพกรจังหวัดลำปาง กุหลาบแดงกำลังเตรียมตัวจะเข้าเรียนปี 1 หลังจากประกาศผลสอบโคว้ต้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยคะแนนอันดับ 2 ของสายศิลป์ พวงชมพู เริ่มเปิดเทอมมัธยมศึกษาปีที่ 3 พวงแสด มัธยมปีที่ 2 และ โอ ประถมศึกษาปีที่ 5


คุณแม่ศรีวรรณ ต้องประคับประคองลูกๆ ที่กำลังเป็นวัยรุ่นทั้งชายและหญิง ให้ผ่านพ้นมาได้ด้วยความรักด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง มีวิธีอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความเป็นจริง ไม่ทำให้ลูกรู้สึกท้อถอย เมื่อมีปัญหาใดจะคุยกับคุณแม่ศรีวรรณได้เสมอ และสิ่งเหล่านี้คุณแม่ศรีวรรณยังมีเหลือเผื่อแผ่ให้กับสมาชิกหอพักสกลวรรณที่เดือดเนื้อร้อนใจทุกคน

เมื่อลูกๆ เรียนจบได้ทำงาน คุณแม่ศรีวรรณ เริ่มมีเวลาไปวัด ไปทำบุญ ไปร่วมกิจกรรมชมรมฮักกันยามเฒ่า ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดลำปางและ เป็นสมาชิกพุทธสมาคม ช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆในนามชมรม เช่นศูนย์สามวัยสานใยรัก ของหน่วยจ่ายกลาง โรงพยาบาลเมืองลำปางโดยเข้าไปช่วยดูแลเด็กที่ป่วยในโรงพยาบาล

ต่อมารับหน้าที่หัวหน้าฝ่ายจัดหารายได้และสวัสดิการชมรมผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง 2 สมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2553 ทำหน้าที่หาเงินทุนเช่นจัดตั้งกองผ้าป่าเพื่อนำเงินไปทำกิจกรรม เช่นเยี่ยมผู้สูงอายุที่ป่วย พระสงฆ์อาพาธ จัดอาหารกลางวันในการประชุม รวมถึงการเยี่ยม และดำหัวผู้อาวุโสที่พักผ่อนอยู่บ้าน เมื่อพ้นหน้าที่หัวหน้าฝ่ายฯ แล้วก็ยังรับหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายฯ และกรรมการบริหารชมรม และมาประชุมสม่ำเสมอ


ในชีวิตประจำวันคุณแม่ศรีวรรณเป็นผู้ที่มีความตั้งใจรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี แต่งกายชุดไทยสวยงามไปวัด ไปงานกิจกรรมต่างๆ เมื่อมีเวลาว่างก็หัดเล่นดนตรีไทยจนสามารถร่วมแสดงในงานต่างๆ เพื่อเป็นสาธารณกุศล

คุณแม่ศรีวรรณแม่ปฏิบัติตนเป็นพุทธมามกะที่ดีโดยหมั่นศึกษาหาความรู้จากการเรียนธรรมะของสถาบันจิตานุภาพ ของหลวงพ่อวิริยัง ที่วัดเชตวัน และเข้าร่วมสวดมนต์ที่วัดพระแก้วเป็นประจำ ทุกวันพระจะไปทำบุญที่วัดบุญวาทย์วรวิหาร และวัดหมื่นกาศ

คุณแม่ศรีวรรณ มีจิตใจเอื้อเฝือเผื่อแผ่ให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยาก ชอบทำบุญ ไม่ว่าบุญเล็ก บุญใหญ่

ใครบอกบุญมาก็จะร่วมด้วยทุกครั้งไปเคยปฏิเสธ และที่ทำเป็นประจำคือถวายข้าวสารเพื่อใช้เลี้ยงพระเณรที่

วัดปงหอศาล อ.แม่ทะ และวัดพระแก้วดอนเต้า อ.เมือง จ.ลำปาง และสนับสนุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยช่วยหาเงินบริจาคพร้อมทั้งได้ร่วมบริจาคเสา 2 ต้น

เป็นเงิน 50,000 บาทในการสร้างอาคาร นอกจากนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา เสด็จมาเยี่ยมราษฎรที่วัดพระแก้วดอนเต้า แม่ได้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 20,000 บาท

คุณแม่ศรีวรรณอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรมโดยทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลานและคนทั่วไป และลูกๆ ทุกคนมีความกตัญญู บิดา มารดา เอื้ออารี มานะ อดทน ส่งเสริมมารดาในการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติเป็นประจำ


เมื่อเรียนจบลูกทั้ง 5 คนก็ทำงานที่สุจริต มีฐานะมั่นคง มีคู่ครองที่เป็นคนดีเสริมส่งให้เป็นครอบครัวที่ดีมีความสุขทั้ง 5 ครอบครัว และมีความกตัญญูต่อบิดา มารดา สนับสนุนกิจกรรมที่คุณแม่ศรีวรรณทำซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ อยู่เสมอ

เมื่อ ตุลาคม ปี พ.ศ. 2554 คุณแม่ศรีวรรณป่วยด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีต้องเข้ารักษาตัวผ่าตัดใหญ่ที่

ศูนย์ศรีพัฒน์ ลูกๆ ช่วยกันรับหน้าที่ทั้งเรื่องการไปรับไปส่ง การนอนเฝ้า ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาล

ทำให้แม่ศรีวรรณสบายใจในยามเจ็บป่วย ทำให้อาการต่างๆ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนทุกวันนี้

ลูกทุกคนเจริญรอยตามที่แม่ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง แห่งความอดทน ขยันหมั่นเพียร ทำให้ทุกคนเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และส่งต่อแบบอย่างที่ดีนี้ แก่รุ่นหลานเหลนต่อไปไม่สิ้นสุด