ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vigna unguiculata subsp. sesquipedalis) เป็นถั่วชนิดหนึ่งที่เป็นไม้เลื้อย มีชื่อสามัญในภาษาต่างๆที่หลากหลาย เช่น สิบสองปันนาเรียก ถั่วลิ้นนาค ภาษาอังกฤษเรียกว่า yardlong bean (ตรงตัว:ถั่วยาวหนึ่งหลา) ภาษาจีนกวางตุ้งเรียกว่า dau gok ภาษาจีนกลางเรียก jiang dou (豇豆) ภาษาอินโดนีเซียและภาษามลายูเรียก kacang panjangภาษาตากาล็อกเรียก 'SITAO' or 'SITAW' ภาษาอีโลกาโนเรียก utong ในหมู่เกาะเวสต์อินดีสเรียกว่า bora หรือ bodi ภาษาเบงกาลีเรียกว่า vali, Borboti ในรัฐกัว อินเดีย เรียก eeril ภาษาเวียดนามเรียก đậu đũa และภาษาญี่ปุ่นเรียก ju-roku sasage (十六ササゲ) อย่างไรก็ตาม ฝักของถั่วชนิดนี้ยาวเพียงครึ่งหลา ชื่อของสับสปีชีส์ sesquipedalis (หมายถึงยาวฟุตครึ่ง)ใกล้เคียงกับความยาวจริงๆของฝักถั่วมากกว่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นเถาเลื้อย เถาแข็งและเหนียว คล้ายกับถั่วพู แต่มีอายุเพียงปีเดียว หรือฤดูเดียว เถาสีเขียวอ่อน ลำต้นม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ดี ใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ มี 3 ใบย่อย รูปสามเหลี่ยมยาว 6 -10 เซนติเมตร ดอก เป็นดอกช่อออกตามซอกใบกลีบดอกสีขาว หรือน้ำเงินอ่อน ฝักเป็นฝักกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 - 1 เซนติเมตร ยาว 20 - 80 เซนติเมตร มีหลายเมล็ด[1]

การใช้ประโยชน์

ฝักของถั่วฝักยาวใช้รับประทานทั้งดิบและสุก เหมาะที่จะรับประทานเมื่อยังอ่อน ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตกนิยมนำไปผัดกับมันฝรั่งและกุ้ง ชาวจีนนิยมนำไปผัดเช่นกัน อาหารมาเลเซียนิยมนำถั่วฝักยาวไปผัดกับพริกและซัมบัล หรือใส่ในข้าวยำหรือไข่เจียว

สารอาหาร

ถั่วฝักยาวมีโปรตีน วิตามินเอ ไทอามีน ไรโบฟลาวิน เหล็ก ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม นอกจากนั้นยังมีวิตามินซี โฟเลต แมกนีเซียม และแมงกานีส ถั่วฝักยาวปริมาณ 100 กรัมมีพลังงาน 47 แคลอรี ไม่มีไขมันและคอเลสเทอรอล โซเดียม 4 mg คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 8 g และโปรตีน 3 g วิตามินเอ 17% DV เหล็ก 2% DV วิตามินซี 31% DV และแคลเซียม 5% DV

อ้างอิง

ศูนย์สารสนเทศชุมชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2552). ถั่วฝักยาว. [online]. เข้าถึงได้จาก: http://202.28.48.140/isaninfo/?p=203.

แหล่งข้อมูลอื่น