แหล่งเรียนรู้ชุมชน

“วัดบ้านกู่” ศูนย์รวมจิตใจของคนตำบลบ้านกู่

วัดบ้านกู่ (วัดชัยมงคล) ตำบลบ้านกู่ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม โบราณสถานศิลาแลง ปัจจุบันอยู่ในเขตวัดบ้านกู่ ทางวัดได้เทปูนเป็นลานรอบโบราณสถาน และสร้างศาลาโปร่งคลุมตัวโบราณสถาน ทำซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง ทางด้านทิศเหนือและใต้ยังคงมีคูน้ำอยู่ แต่ด้านอื่นถูกรบกวนสภาพไปมาก เพราะทางวัดได้ถมดินทับไปแล้ว

วัดบ้านกู่ ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกู่ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ. 2448 โดยนายสงค์คราม-นางคาม ไชยโก ชาวบ้านหนองชำและดงบัง ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านกู่ เมื่อปี พ.ศ. 2430 เดิมเป็นป่าดงดิบ เหตุที่ชื่อบ้านกู่เนื่องจากมีกู่ซึ่งบรรจุพระพุทธรูปนาคปรกอยู่บริเวณนั้น ซึ่งกู่ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นในสมัยขอม เมื่อชาวบ้านอพยพมาอยู่มากขึ้น จึงได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นประจำหมู่บ้าน และเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลว่า “วัดบ้านกู่” นายสงค์ครามได้บริจาคไม้เพื่อสร้างเสนาสนะ ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชัยมงคล” ซึ่งน่าจะผันมาจากนามสกุลของนายสงค์คราม ไชยโก

วัดบ้านกู่ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน หมู่ 1 และหมู่ 9 ซึ่งมีชุมชนประมาณ 247 หลังคาเรือนในตำบลบ้านกู่ เป็นที่จัดกิจกรรมของชุมชนดังกล่าว ได้แก่ กิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมตักบาตร ทอดกฐิน ถือศีลในวันพระ เป็นสถานที่ทำวัตรปฏิบัติธรรมในช่วงวันพระ บวชชีพราหมณ์ บวชสามเณรฤดูร้อน นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ งานกีฬาประจำชุมชน และงานประเพณีประจำท้องถิ่น “งานบุญสรงกู่” ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงเดือนเมษายน ตามจันทรคติ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ภายในวัดชัยมงคลมีเสนาสนะ อันได้แก่ ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ วิหาร ปูชนียวัตถุโบราณ กุฏิพระสงฆ์ และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์