หมู่ที่ 5 ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่Moo 5, Hua Thong, Long, Phrae, Thailand
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์

ประวัติ "บ้านเค็ม"

ตํานานเล่าขาน กาลเวลาอันยาวนานในอดีตมีหมู่บ้านชื่อ “บ้านหนองหล่ม” ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก หมู่บ้านแห่งนั้นมีแม่หม้ายอาศัยอยู่ด้วย แม่หม้ายคนนี้ไม่มีใครชอบเลย วันหนึ่งมีชายในหมู่บ้านได้ไปหาปลาที่แม่น้ำแล้วได้ปลาไหลเผือกมาตัวหนึ่งปลาไหลเผือกตัวนั้นตัวใหญ่มาก ชายคนนั้นเลยไปปรึกษาพวกชาวบ้านว่าจะทำอย่างไรกับปลาตัวนี้ดี พวกชาวบ้านเลยลงความเห็นว่าจะแกงแล้วแบ่งกันกินทั้งหมู่บ้าน เมื่อตกลงกันได้ชาวบ้านก็ลงมือทำปลาไหลเผือกดังกล่าว พอแกงปลาไหลเผือกเสร็จชาวบ้านก็แบ่งกันกินยกเว้นแต่แม่หม้ายคนนั้นที่ไม่มีใครชอบเลยไม่ได้กิน พอตกตอนกลางคืนก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดหมู่บ้านแห่งนั้นได้จมลงใต้ดินทั้งหมดผู้คน บ้านเรือน ถูกดินกลบจมหายจนไม่เหลืออะไรเลย แต่แม่หม้ายคนที่ไม่ได้กินแกงปลาไหลเผือกไม่เป็นอะไรเลย (ในปัจจุบันพื้นที่ที่หมู่บ้านตั้งอยู่นั้นเป็นอ่างเก็บน้ำหนองบ้านปู)

ประวัติความมา ในปี พ.ศ. 2400 ชาวบ้านนาหมาโก้งและบ้านดอนทราย ประมาณ 15 ครอบครัว มาทำไร่ในผืนดินแห่งนี้และต่อมาก็มีชาวบ้านเข้ามาทำไร่เรื่อย จึงได้ตั้งถิ่นฐาน บ้านเรือนอยู่บริเวณนี้และมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหนองตีนแตก" หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็น "บ้านหนองตีนตั่ง" และหลักจากนั้นอีกประมาณ 20 กว่าปีต่อมาเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านอีกครั้งเป็นชื่อ "บ้านเค็ม" มีการสร้างวัดและโรงเรียนขึ้น ไม่นานต่อมาวัดและโรงเรียนก็ร้าง ในปี พ.ศ. 2507 มีประชากรประมาณ 80 กว่าครัวเรือน จึงสร้างวัดขึ้นมาใหม่ (วัดศรีดอนแก้ว) โดยย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้ามจากวัดเดิม (ที่ร้าง) ตั้งอยู่บนเนินเขาฝั่งตรงข้ามจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบัน บ้านเค็ม ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีเนื้อที่ 4,500 ไร่ มีประชากรประมาณ 170 กว่าครัวเรือน

ที่ตั้งและอาณาเขต

ทิศเหนือ

ติดต่อกับ บ้านแม่จองไฟ


ทิศใต้

ติดต่อกับ บ้านแม่จอก


ทิศตะวันออก

ติดต่อกับ บ้านนาหลวง


ทิศตะวันตก

ติดต่อกับ อำเภอแม่เมาะ (จังหวัดลำปาง)

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มใกล้เชิงเขา เป็นที่ดอน ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ พื้นดินค่อนข้างขาดน้ำ ทิศเหนือติดกับเขตบ้านแม่จองไฟ ทิศใต้ติดต่อกับเขตบ้านแม่จอก ทิศตะวันออกติดกับเขตบ้านนาหลวง และ ทิศตะวันตกติดต่อกับเขตอำเภอแม่เมาะ (จังหวัดลำปาง) โดยมีภูเขาสูงกั้นเป็นแนวพรมแดน

ภาษาและอาชีพประชากร

  • ภาษาที่ใช้สื่อสาร คือ ภาษาถิ่น (คำเมือง)

  • อาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ ได้แก่ ทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ส่วนอาชีพรองลงมา ได้แก่ รับจ้าง ค้าขาย เป็นต้น

Social & Contact

แจ้งข้อผิดพลาด