แหล่งท่องเที่ยว(ชุมชน)

อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก

อาสนวิหารแม่พระบังเกิด (อังกฤษ: Nativity of Our Lady Cathedral) ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นอาสนวิหารประจำเขตมิสซังราชบุรี ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่การบังเกิดของพระแม่มารีย์ ถือเป็นสถานที่สักการะอันศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ชนนิกายโรมันคาทอลิกที่อาศัยอยู่โดยรอบ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) โดยบาทหลวงเปาโล ซัลมอน มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ใช้เวลาก่อสร้างถึง 6 ปี เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกที่สร้างด้วยอิฐเผา ผนังฉาบด้วยปูนตำกับน้ำเชื้อมจากอ้อยใสสีดำ ภายในประดับด้วยกระจกสีที่สวยงามจากประเทศฝรั่งเศสที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางมารีย์พรหมจารีตามคัมภีร์ไบเบิล และภาพของบรรดานักบุญทั้งชายและหญิง มีรูปปั้น ธรรมาสน์ อ่างล้างบาป ขาเทียนลักษณะต่าง ๆ และรูปแกะสลักประดับบานประตู บรรยายเกร็ดประวัติในพระคัมภีร์คริสต์ศาสนาบางตอน

ปัจจุบันอาสนวิหารแม่พระบังเกิดมีบาทหลวงเสนอ ดำเนินสะดวก อธิการโบสถ์ มีบาทหลวงวัชศิลป์ กฤษเจริญ และบาทหลวงสนธยา ไทยสนธิ เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์

อาสนวิหารแม่พระบังเกิด ได้รับการออกแบบในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคของประเทศฝรั่งเศส มีจุดเด่นตรงที่การฉาบด้วยปูนตำ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการก่อสร้างโบราณ ภายในตกแต่งด้วยภาพกระจกสีที่นำเข้าจากฝรั่งเศสอย่างสวยงาม และมีรูปปั้นแกะสลักที่บรรยายเกี่ยวกับประวัติในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์

ส่วนธรรมาสน์จะอยู่กลางโบสถ์อาสนวิหารแม่พระบังเกิด อัมพวา เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีไฟฟ้าและเครื่องขยายเสียง โดยส่วนที่เป็นตำแหน่งตรงกลางจะช่วยให้เสียงดังก้องแล้วได้ยินทั่วทั้งโบสถ์นั่นเอง นับว่าเป็นความชาญฉลาดของผู้คนในสมัยก่อนที่ได้ผลดีจริงๆ นอกจากนี้ยังมีอ่างล้างบาป ตู้สารภาพบาป และขาเทียนลักษณะต่างๆ ให้ชมอีกด้วย


สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า เพราะจะเปิดให้เข้าชมได้ในบางช่วงเวลาและบางวันเท่านั้น รวมถึงช่วงที่มีพิธีกรรมภายในโบสถ์และพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ อีกทั้งจะต้องแต่งตัวเรียบร้อยและงดใช้โทรศัพท์มือถือด้วยเช่นกัน

วิธีการเดินทางไป ท่องเที่ยวชม อาสนวิหารแม่พระบังเกิด แห่งนี้ ให้ใช้เส้นทางสมุทรสงคราม – บางนกแขวก

เข้าไป 5 กิโลเมตร ก็จะอยู่ถัดจากแยกสะพานสมเด็จพระอัมรินทร์ประมาณ 100 เมตร


ที่อยู่: FWWF+4G4 ตำบล บางนกแขวก อำเภอ บางคนที สมุทรสงคราม 75120

โทรศัพท์: 034 761 347

คำอธิบาย

เปิด: 2 กุมภาพันธ์ 2439

รูปแบบสถาปัตยกรรม: สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก

ฟังก์ชัน: ศาสนสถาน

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เรียบเรียงโดย นางสาวสุรีรัตน์ เอี้ยวพันธ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวสุรีรัตน์ เอี้ยวพันธ์