หน่วยที่2

ประวัติศาตร์อยุธยา


กรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบอยู่ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และอาจถือว่าเป็น "เมืองท่าตอนใน" เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีสินค้ากว่า 40 ชนิดจากสงครามและรัฐบรรณาการ แม้ว่าตัวเมืองจะไม่ติดทะเลก็ตาม


ประวัติ

การกำเนิด

ความเป็นมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยานั้นไม่ชัดเจน มีเพียงข้อมูลในลักษณะตำนานในเอกสารของทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศ อาทิ พงศาวดารเหนือในส่วนที่เกี่ยวกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งพงศาวดารล้านช้างที่ว่าขุนบรมได้ให้กำเนิดบุตรเจ็ดคนไปครองเมืองต่าง ๆ โดยคนที่ห้าคือ "งัวอิน" ได้ครองเมืองอโยธยา และพงศาวดารราชวงศ์หยวนที่แม้ไม่ปรากฏชื่อ "อโยธยา" แต่ปรากฏชื่อแคว้น "เซียม" และ "หลอโว้ก" ที่อาจหมายถึงแคว้นสุพรรณบุรีและละโว้

การกำเนิดอาณาจักรอยุธยาที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุด คือ เป็นรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการรวมอำนาจกันระหว่างอาณาจักรละโว้และอาณาจักรสุพรรณภูมิ โดยช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาจจะเพราะภัยโรคระบาดคุกคาม สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายราชสำนักมายังที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหนองโสนบนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำซึ่งในอดีตเคยเป็นนครท่าเรือเดินทะเล ชื่อ อโยธยา นครใหม่นี้ได้รับการขนานนามว่า กรุงพระนครศรีอยุธยา หรือ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตน ราชธานีบุรีรมย์ หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร[ ซึ่งภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา แปลความหมายว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้ 

พระบริหารเทพธานี อธิบายว่า ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนคร และกัมโพชนคร  ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมและสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงดำริจะย้ายเมืองและก่อสร้างเมืองขึ้นมาใหม่โดยส่งคณะช่างก่อสร้างไปยังอินเดียและได้ลอกเลียนแบบผังเมืองอโยธยามาสร้างและสถาปนาให้มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา

ในส่วนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา ที่ผ่านมาได้มีการคำนวณปรับเทียบวันเดือนปีทางจันทรคติที่มีระบุในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ความว่า "ศักราช 712 ขาลศก วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า....." ว่าตรงกับวันศุกร์ที่ "4 มีนาคม จ.ศ. 712" จากนั้นบวก 1181 เข้าไปเพื่อแปลงจุลศักราชให้เป็นพุทธศักราช จึงได้ว่า ตรงกับวันศุกร์ที่ "4 มีนาคม พ.ศ. 1893" และเผยแพร่กันโดยทั่วไปนั้น หากพิจารณาและปรับแก้ให้สอดคล้องกับปฏิทินไทยสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม วันสถาปนาจะตรงกับ วันศุกร์ที่ "12 มีนาคม พ.ศ. 1894 (ค.ศ. 1351)" 


เริ่มตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 อาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่สองของราชวงศ์ตองอู หรือเรียกว่า "สงครามช้างเผือก"สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์บางส่วนถูกพาไปยังกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระมหินทราธิราช พระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช เมื่อ พ.ศ. 2112 ราชวงศ์ตองอูรุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช


การฟื้นตัว

ภายหลังที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศเอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาอีกสามปีให้หลัง อยุธยาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของรัฐหงสาวดีหลายครั้ง จนในครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปลงพระชนม์เมงจีสวา (Mingyi Swa) อุปราชาของราชวงศ์ตองอูได้ในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. 2135 จากนั้นอยุธยากลับเป็นฝ่ายบุกโดยยึดชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดขึ้นไปจนถึงเมาะตะมะใน พ.ศ. 2138 และล้านนาใน พ.ศ. 2145 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพเข้าไปในพม่าลึกถึงตองอูใน พ.ศ. 2143 แต่ทรงถูกขับกลับมา หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2148 ตะนาวศรีตอนเหนือและล้านนาก็ตกเป็นของอาณาจักรตองอูอีกครั้งใน พ.ศ. 2157อยุธยาพยายามยึครองล้านนาและตะนาวศรีตอนเหนือกลับคืนระหว่าง พ.ศ. 2205-07 แต่ล้มเหลว

การค้าขายกับต่างชาติไม่เพียงแต่ให้อยุธยามีสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วย โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมาก  แต่กลับสูญเสียการควบคุมเหนือหัวเมืองรอบนอก ผู้ปกครองท้องถิ่นใช้อำนาจของตนอย่างอิสระ และเริ่มกบฏต่อเมืองหลวงมากขึ้น


การล่มสลาย

หลังจากยุคสมัยอันนองเลือดแห่งการต่อสู้ของราชวงศ์ กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ "ยุคทอง" เมื่อศิลปะ วรรณกรรมและการเรียนรู้เฟื่องฟู ยังมีสงครามกับต่างชาติ กรุงศรีอยุธยาสู้รบกับเจ้าเหงียน (Nguyễn Lords) ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้ เพื่อการควบคุมกัมพูชา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2258 แต่ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่ามาจากราชวงศ์อลองพญาซึ่งได้ผนวกรัฐชานเข้ามาอยู่ในอำนาจ

ช่วง 50 ปีสุดท้ายของราชอาณาจักรมีการสู้รบอันนองเลือดระหว่างเจ้านาย โดยมีพระราชบัลลังก์เป็นเป้าหมายหลัก เกิดการกวาดล้างข้าราชสำนักและแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถตามมา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย บังคับให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระอนุชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ขณะนั้นสละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์แทน

พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงยกทัพรุกรานอาณาจักรอยุธยา หลังจากอยุธยาว่างเว้นศึกภายนอกมานานกว่า 150 ปี จะมีก็เพียงการนำไพร่พลเข้าต่อตีกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้น อยุธยาเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพร อย่างไรก็ดี พระเจ้าอลองพญาไม่อาจหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ในการทัพครั้งนั้น

แต่ใน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ พระราชโอรสแห่งพระเจ้าอลองพญา ทรงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน และเตรียมการกว่าสามปี มุ่งเข้าตีอาณาจักรอยุธยาพร้อมกันทั้งสองด้าน ฝ่ายอยุธยาต้านทานการล้อมของทัพพม่าไว้ได้ 14 เดือน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการกองทัพรัฐอังวะได้ เนื่องจากมีกำลังมาก และต้องการทำลายศูนย์อำนาจอย่างอยุธยาลงเพื่อป้องกันการกลับมามีอำนาจ อีกทั้งกองทัพอังวะยังติดศึกกับจีนราชวงศ์ชิงอยู่เนือง ๆ หากปล่อยให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อต่อไปอีก ก็จะเป็นภัยแก่อังวะ และมีสงครามไม่จบสิ้น ในที่สุดกองทัพอังวะสามารถเข้าพระนครได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

ในช่วงปี พ.ศ. 2303-2310 มีเหตุการณ์เผาทำลายเมืองและปล้นเมืองไปส่วนใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาทำลายกรุงศรีอยุธยาตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทุมาศ (เจิม) ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน หลักฐานอื่น ๆ เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด หนังสือสังคีติยวงศ์ และบันทึกของชาวต่างชาติเช่น โรแบรต์ โกสเต (Robert Goste), ฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็ง, และ คุณพ่อกอร์ ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรและได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ โดยตูร์แป็งได้บันทึกไว้ว่า

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2310 บ้านเมืองถูกข้าศึกบุกเข้าโจมตีทรัพย์สมบัติในพระราชวังและวัดวาอารามต่าง ๆ แทบไม่เหลือสิ่งใดนอกจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่าน พระพุทธรูปถูกข้าศึกเผาจนหลอมละลาย เปลวเพลิงที่ลุกลามทำให้ผู้ชนะที่ป่าเถื่อนต้องสูญเสียสิ่งของที่ปล้นชิงมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กระตุ้นให้พวกเขาเกิดความละโมบ พวกพม่ายังได้ระบายความโกรธแค้นของพวกเขาจากการสูญเสียในครั้งนี้ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ


"รายพระนามกษัตริย์อยุธยา" 

โดย Kongpol Supawakul