ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา

ประเด็นที่ท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษาของผู้จัดทำข้อตกลง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาวิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติ ที่คาดหวังของวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ คือ
การริเริ่ม พัฒนา การบริหารจัดการสถานศึกษาและคุณภาพ การศึกษาของสถานศึกษา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือมีการพัฒนามากขึ้น (ทั้งนี้ ประเด็นท้าทาย อาจจะแสดงให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังในวิทยฐานะที่สูงกว่าได้)


ประเด็นท้าทาย คือ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Hybrid Learning Classroom) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
เพื่อให้ผู้เรียนดี ครูเด่น โรงเรียนดัง

สภาพปัญหาการบริหารจัดการสถานศึกษาและคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

โรงเรียนภู่วิทยา ตั้งอยู่เลขที่ 126 หมู่ 4 ตำบลโนนแดง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30360 สังกัดสำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีผู้เรียนทั้งสิ้น 692 คน (ข้อมูล ณ 10 พฤศจิกายน 2564) มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น 49 คน โรงเรียนภู่วิทยา ได้รับรางวัลโรงเรียนมาตรฐานสากลที่ผ่านการประเมินการบริหารจัดการระบบคุณภาพระดับโรงเรียน (SCQA) ระดับ สพฐ. รางวัลดีเด่น “สถานศึกษาปลอดภัย” ประจำปี 2564 ปีที่ 2 ติดต่อกัน รางวัลเหรียญเงิน “สถานศึกษาสีขาว” ประจำปี 2562 เป็นโรงเรียนที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถานศึกษา อยู่ในระดับ A ของสำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ปีการศึกษา 2563


จากข้อมูลข้างต้น เป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การสรุปภาพรวมผลการจัดการศึกษาพบว่า ยังมีช่องว่างที่
ไม่สามารถทำให้ผลการจัดการศึกษาเป็นไปตามหมวด 4 แนวการจัดการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามความในมาตรา 22 ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ จากปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยรวม
ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และค่าเฉลี่ยแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติ และ ในปีการศึกษา 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ในปัจจุบัน ส่งผลต่อการเรียนการสอนในรูปแบบปกติและส่งผลต่อการเลื่อนเปิดสถานศึกษา เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ การจัดห้องเรียน การได้รับวัคซีนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้เรียน แม่ค้า ผู้ประกอบการรถรับ - ส่งนักเรียน ตลอดจนผู้มาติดต่อราชการ และอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรการ Social Distancing อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนยังขาดคุณลักษณะอันพึงประสงค์บางประการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เช่น ขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนนั้นต้องการการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ (Change Learning) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา
2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้น โดยจัดให้มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสานและหลากหลายวิธี อันจะทำให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้ ซึ่งการออกแบบบทเรียน การจัดการห้องเรียน การใช้สื่อในการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนการสอน ควรพิจารณาองค์ประกอบและรูปแบบ ที่สอดคล้อง เหมาะสมกับลักษณะวิชา และบริบทของผู้เรียนจะนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเรียนรู้เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คอนเทนต์ (Content) อำนวยความสะดวกการสอนได้แค่ปลายนิ้ว ทำให้เราสามารถเรียนรู้ทุกเนื้อหาได้จากทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal)


จากประเด็นปัญหาดังกล่าวข้าพเจ้า ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน ได้ตระหนักถึงความสำคัญว่า การจัดเรียนการเรียนรู้ทางออนไลน์ในยุคดิจิทัล เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง วิธีเรียนที่เป็นอยู่เดิม มาเป็นการเรียนแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ (Outcome) ตามวัตถุประสงค์ จึงได้นำเข้าที่ประชุมคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อหารือร่วมกันวางแผน กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ได้นำข้อสรุปจากที่ประชุมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มาดำเนินการจัดทำรูปแบบในการบริหารจัดการของสถานศึกษาและสร้างเครื่องมือในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยนำการบริหารแบบมีส่วนร่วมมาเป็นรูปแบบ (Model) โดยใช้ชื่อว่า “การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Hybrid Learning Classroom) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เพื่อให้ผู้เรียนดีครูเด่น โรงเรียนดัง” มาเป็นนวัตกรรมในการขับเคลื่อนโรงเรียนภู่วิทยา เป็นโรงเรียนดีมีคุณภาพสืบไป