ประวัติความเป็นมา

ศาลหลักเมือง กำแพงเพชร

ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร เป็นศาลที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี เชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์(เหม่) ผู้เรืองอำนาจเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น ทำด้วยศิลาแลงรูปกลม ยาวประมาณ 2 เมตร ผังโผล่พื้นมาประมาณ 1 เมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังคาศาลได้พังลงมาทับเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ หลังจากนั้นก็อยู่ในสภาพรกร้างมานาน และเมื่อปี พ.ศ. 2527 และมีพิธีเชิญเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นศาล เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ต่อมาช่างผู้เชี่ยวชาญจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้สำรวจความเสียหายเสาหลักเมืองเดิมและนำไปบูรณเพื่ออนุรักษ์เสาหลักเมืองเดิมพร้อมกันนี้ได้จัดทำเสาหลักเมืองจำลองใหม่ โดยทำจากไม้สักทองมีขนาดความสูงจากพื้นเสา 2.29 เมตร ความกว้างของฐานขนาด 64 เซนติเมตร โดยได้อัญเชิญเสาหลักเมืองจำลองที่ได้ผ่านการทำพิธีจากกรมศิลปากรมาวางไว้เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา ณ ศาลารายชื่อผู้จัดสร้างศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551



ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ที่เคยปกครองดูแลเมืองกําแพงเพชร เป็นศาลที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี เชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์ (เหม่) ทําด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังคาศาลได้พังลงมาทับเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ หลังจากนั้นก็อยู่ในสภาพรกร้างมาเป็นเวลานานจนถึงปี พ.ศ.2472 รองอํามาตย์เอกหลวงมนตรีราช (หวาน) อัยการจังหวัดกําแพงเพชรได้ริเริ่มสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่โดยเป็นศาลาทรงไทย

         มีเหตุการณ์ระบุว่า ในปี พ.ศ.2488 ได้มีผู้ลักตัดเศียรเทพารักษ์ไปหลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทรเจริญชัย) ผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชรได้ให้ทําขึ้นใหม่ด้วยดินจากยอดเขาสูงสุดของเขาหลวง ดินใจกลางโบสถ์ใจกลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกําแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก และตาก ต่อมานายเชาว์ วัตสุดลาภา เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ได้ไปสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองและมีความรู้สึกว่าศาลหลักเมืองนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมไร้สง่าราศรี จึงได้มีการปรับปรุงศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ให้สมฐานะการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งในการบูรณะปรับปรุงศาลหลักเมืองครั้งนี้ได้คำนึงถึงความถูกต้องและความสมบูรณ์ของรูปแบบของศาลหลักเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยอาคารศาลหลักเมืองที่ปรับปรุงใหม่นี้ เป็นอาคารจัตุรมุขพร้อมเขตปริมณฑลกว้าง 17.5 x 17.5 เมตร สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กพื้นหินอ่อนทรายล้างสีศิลาแลง กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเชิญหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ตรงวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช-สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการทรงเจิมเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2527


พระราชนิพนธ์ถึงศาลหลักเมือง


ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรปรากฏในพระราชนิพนธ์ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือในปี พ.ศ. 2449 และ พ.ศ. 2450 ตามลำดับ ดังนี้

 

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้พระราชนิพนธ์ถึงศาลหลักเมืองในเสด็จประพาสต้น ความว่า

 

“...ชื่อวัดนี้ไม่ปรากฏ ถ้าเรียกตามลพบุรีก็เป็นวัดหน้าพระธาตุ ถ้าจะเรียกตามกรุงเก่าก็เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งยอมรับว่าจะเรียกวัดพระแก้วก็ได้นั้น เพราเหตุที่มีตำนานว่า พระแก้วได้เคยมาอยู่เมืองนี้ ถ้าหากว่าได้มาอยู่คงจะไม่ได้อยู่วัดอื่น คงอยู่วัดนี้เป็นแน่ ออกจากวัดไปที่หลักเมือง ซึ่งอยู่มุมท้ายวัดอยู่ในระหว่างวัดกับวัง...”

 

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้พระราชนิพนธ์ถึงศาลหลักเมืองในเที่ยวเมืองพระร่วง ความว่า

 

“...ในกำแพงเพชรเมืองนี้ ที่ซึ่งจำเป็นต้องไปก่อนคือ หลักเมือง ซึ่งได้ไปบวงสรวงตามธรรมเนียม แต่ผู้ที่ไปดูอย่าได้คิดหาหลักเลย เพราะไม่มีหลักศิลา และรูปยักษ์ที่ตั้งไว้เป็นเครื่องหมายเดี๋ยวนี้ เชื่อว่าไม่ใช่ของที่ตั้งอยู่เดิม...”


การบูรณะปรับปรุงอาคารศาลหลักเมือง

ตามข้อความมี่ได้บันทึกไว้บน ผนัง ของพระหลักเมือง เป็นข้อความบอกเล่าถึงเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ของศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเอาไว้ดังนี้

             “พ.ศ.2472 หลวงมนตรีราชได้สร้างอาคารศาลหลักเมืองขึ้นเป็นศาลาทรงไทยทำด้วยไม้

             พ.ศ. 2484 หลวงปริวรรต วรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ได้ให้นายฉกาจ กุสสุ ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่

             พ.ศ. 2526 นายเชาวน์วัศ สุดสาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เดินทางมารับตำแหน่งพิจารณาเห็นว่า ศาลหลักเมืองทรุดโทรมมากขาดความเป็นสง่าราศี จึงมอบให้ นายประมวล รุจน เสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการปรับปรุงอาคารบริเวณสถานที่ตามรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน

             สิ้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น 1,579,972.28 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด

             16 เมษายน 2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเจิมเสาหลักเมืองเสาใหม่

             5 พฤษภาคม 2527 พิธีเชิญเสาหลักเมือง เศียรเทพารักษ์ขึ้นศาล”

         การสังเวยเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี เรียกว่า “วันพญาวัน” ซึ่งประชาชนจำนวนมากจะมาชุมนุมพร้อมกันที่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร มักเรียกประชาชนที่มาร่วมกันว่า “ลูกช้าง”ทุกคนที่มาชุมนุมกันจะบนบานศาลกล่าวขอพรต่างๆ และพวกที่ยังไม่ได้แก้บนจะแก้บนให้เสร็จสิ้นในวันนี้ นอกจากนี้ พรามหม์จะทำพิธีบวงสรวงประจำปี เสร็จแล้วทำพิธีสรงน้ำเจ้าพ่อหลักเมืองและนิมนต์พระสงฆ์มาถวายภัตราหารเพลด้วย ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร หรือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ บริเวณวัดพระแก้ว ปากทางเข้าโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ถนนสายกำแพงเพชร-สุโขทัย ผ่านหน้าศาล ชาวเมืองกำแพงเพชรและประชาชนทั่วไปให้ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากและเป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ.2463 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 และอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองกำแพงเพชร


ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกำแพงเพชร ที่ชาวจังหวัดกำแพงเพชรให้ความนับถือ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียงมาหลายชั่วอายุคน ผู้ใดที่ประสบปัญหาอุปสรรค์ในการดำเนินชีวิต ก็มักไปบนบานศาลกล่าว ขอให้เจ้าพ่อหลักเมืองช่วยเหลือคุ้มครอง ซึ่งก็มักจะได้สมใจดังปรารถนาจนเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงมีผู้มาบนและขอแก้บนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จากความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ที่มีความเชื่อว่าการสร้างศาลหลักเมืองว่า ก่อนสร้างหลักเมืองได้ขุดหลุมกลางใจเมือง โดยทางการจะมีการป่าวประกาศหาคนชื่อ อิน จัน มั่น คง เมื่อได้บุคคลที่มีชื่อดังกล่าว จะนำบุคคลทั้งสี่คนมาไว้ที่ก้นหลุมและฝังเสาหลักเมืองลงทับร่างทั้งสี่ เพื่อให้เป็น ผีเฝ้าหลักเมืองเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง เป็นปีศาลคุ้มครองเมือง เป็นประเพณีในการก่อสร้างเมืองทุกเมืองโดยตลอด นับว่าทั้งสี่ท่านคือ อิน จัน มั่น และคง เป็นผู้เสียสละชีวิต เพื่อมาพิทักษ์บ้านเมืองของเรา กลายมาเป็นเจ้าพ่อหลักเมืองในที่สุด เชื่อกันว่า เมืองกำแพงเพชรน่าจะสร้างพร้อมๆ กับเมืองสุโขทัยและมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ทางทิศใต้ของสุโขทัย สังเกตได้จากแนวกำแพงสามชั้น ซึ่งเรียกว่าตรีบูรเหมือนสุโขทัยหรือร่วมสมัยกันกับสุโขทัย เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมทำด้วยศิลาแลง รูปกลมยาวประมาณ ๒ เมตรฝังโผล่ขึ้นดินมาประมาณหนึ่งเมตรเศษ มีรูปเศียรเทพารักษ์ อยู่บนยอดศิลาแลง เชื่อกันว่าคือเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองน่าจะร้าง เหมือนโบราณสถานทั่วไป พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร ทรงบันทึกไว้ว่าออกจากวัด ไปที่หลักเมือง ซึ่งอยู่มุมท้ายวัดอยู่ระหว่างวัดกับวัง ทรงบันทึกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2449 ไว้เพียงเท่านี้เอง