ฟาร์มเพาะเห็ดนางฟ้าตำบลโนนเหล็ก

ฟาร์มเพาะเห็ดนางฟ้า เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2544 นางสาวละเอียด สมัครไทย ได้จัดตั้งฟาร์มเห็ดนางฟ้า ขึ้นมาเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจช่วงนั้น และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนอยู่อย่างพอเพียงแบบยั่งยืน เพื่อเป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่ – ทำนา จึงนำเรื่องนี้เข้าประชุมกับผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ในหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลโนนเหล็ก รวมกลุ่มคนที่สนใจที่จะพัฒนาอาชีพไปพร้อมกับตน เมื่อชาวบ้านเห็นว่าทำแล้วมีรายได้ทุกวันจึงยินดีที่จะร่วมมือ และรวมกลุ่มสมาชิกได้ประมาณ 25-30 คน ต่อมามีความคิดที่จะพัฒนาฟาร์มเห็ดนางฟ้า ให้เกิดคุณภาพ และต่อยอดเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง จึงเริ่มจากการรวมกลุ่มสาธิตวิธี ขั้นตอน การเพาะเห็ดนางฟ้าให้ประชาชนที่สนใจ รับปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค ในการเพาะเห็ดนางฟ้า การแปรรูป การจำหน่าย ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการรวมกลุ่ม

ฟาร์มเพาะเห็ดนางฟ้าเพาะเห็ดหลายชนิดขึ้นอยู่กลับสภาพอากาศในปัจจุบัน เช่น เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดขอน เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดอีกมากมาย

ปี พ.ศ. 2559 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองอุทัยธานี กศน. ตำบลโนนเหล็ก จึงได้จัดโครงการจัดการศึกษาต่อเนื่อง รูปแบบกลุ่มสนใจ หลักสูตรการเพาะเห็ดนางฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และธุรกิจครัวเรือนที่สามารถนำไปต่อยอดและส่งเสริมกลุ่มอาชีพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในอาชีพสามารถพัฒนาตนเองและกลุ่ม ไปสู่การบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสามารถนำมาจำหน่ายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์และมุ่งเน้นให้ประชาชนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนตำบลโนนเหล็ก อำเภอเมืองอุทัยธานี
ร่วมถึงการนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

วิธีดำเนินการ

3.1 จัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทราบถึงพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ สภาพปัญหา ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการ

3.2 จัดทำโครงการ

3.3 ประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อฝึกอบรมทักษะให้กับสมาชิกในกลุ่ม

3.4 ดำเนินการจัดกิจกรรมตามแผนงานที่กำหนดและสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม

3.5 ติดตามและประเมินผลร่วมกับหน่วยงาน/เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

3.6 สรุปและจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน และเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยป้อน

1. ด้านบุคลากร: ครู กศน.ตำบล ในพื้นที่มีความใกล้ชิดเป็นกันเองกับสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งได้รับแรงสนับสนุน ส่งเสริม และให้คำปรึกษาที่ดีจาก ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมือง

อุทัยธานี และสำนักงาน กศน.จังหวัดอุทัยธานี ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ให้กลุ่มประสบความสำเร็จ

2. ด้านงบประมาณ : งบประมาณศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ของสำนักงาน กศน. และงบประมาณ

การบริหารจัดการของกลุ่มเอง

3. ด้าน สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ : จากโครงการจัดการศึกษาต่อเนื่อง และวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่นในแต่ละบ้านของสมาชิกในกลุ่ม และประธานกลุ่ม

4. ด้านการบริหารจัดการ: เนื่องจากกลุ่มมีความเข็มแข็ง และสมาชิกกลุ่มเองมีความสามัคคีกันมาก ทำให้การบริหารจัดการภายในกลุ่มเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งมี

ภาคีเครือข่ายที่หลากหลายในการช่วยสนับสนุนให้กลุ่มสามารถผลิตภัณฑ์ ได้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

เงื่อนไข/ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ของโครงการนี้ คือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่แบน กรมการพัฒนาชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ประชาชนในหมู่บ้าน

เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา ให้ความรู้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน ในการพัฒนาผลผลิต ให้มีมาตรฐาน และ นางสาวละเอียด สมัครไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่เสมอ นำความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น