การนวดแผนไทยโบราณ

การประกอบอาชีพศาสตร์บำบัด การนวดแผนไทยโบราณ ตำบลโนนเหล็กมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลหนองไผ่แบน ในเขตตำบลหนองไผ่แบน อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี มีกลุ่มนวดแผนโบราณซึ่งจัดตั้งโดยเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูอุปการพัฒนกิจ หรือ หลวงพ่อสมัย อาภาธโร เป็นชาวอุทัยธานีโดยกำเนิด ตระกูลผ่ายบิดาเป็นหมอ ที่มีความเชี่ยวชาญในการแพทย์แผนโบราณมาหลายชั่วอายุคน มีตำราแพทย์แผนโบราณ เป็นมรดกตกทอดมาต่อ ๆ กันมา ต่อมามีหมอเขียวซึ่งเป็นลุง ได้ทำการถ่ายทอดความรู้ให้จนกระทั่งเมื่อได้บวชเรียนและจำพรรษาที่วัดหนองหญ้านาง จึงได้เริ่มทำการรักษาคนป่วยเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2516 ในช่วงแรกเป็นการรักษาเกี่ยวกับกระดูกโดยการใช้ยาสมุนไพร การใช้น้ำมัน การเหยียบเหล็กแดง การนวดประคบต่อมาเมื่อท่าน ได้ศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น จนเกิดความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยวิชาการแพทย์โบราณหลายโรคด้วยกัน ที่เน้นหนักและยอมรับกันว่า ท่านเชี่ยวชาญชำนาญเป็นพิเศษจนมีชื่อเสียงเลื่องลือก็คือ การรักษาโรคอัมพฤกษ์อัมพาต เหน็บชา เบาหวาน และภายหลังปี พ.ศ. 2523 จึงเริ่มมีการอบไอน้ำสมุนไพรในปี พ.ศ. 2536 พระครูอุปการพัฒนกิจ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาภูมิปัญญาชาวบ้าน (การบำบัดโรค)และการรักษาโรคให้กับชาวบ้าน


ในปี พ.ศ. 2547 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านไทยขึ้น โดยได้คัดเลือกวัดหนองหญ้านาง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านไทย ของจังหวัดอุทัยธานี วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ของชุมชนในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านไทยแก่ประชาชนในชุมชนต่อมาในปี พ.ศ. 2548สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ได้ดำเนินงานพัฒนาศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านไทยในลักษณะการพัฒนาแบบต่อยอดจากปีที่แล้ว ซึ่งการพัฒนาฯ ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากพระครูอุปการพัฒนกิจและศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (กลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทย)

การนวดแผนไทย หรือ นวดแผนโบราณ เป็นการนวดชนิดหนึ่งในแบบไทย ซึ่งเป็นศาสตร์บำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย โดยจะเน้นในลักษณะการยืดเส้น และการกดจุด ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ "นวดแผนโบราณ" โดยมีหลักฐานว่านวดแผนไทยนั้นมีประวัติมาจากประเทศอินเดีย และมีการนำเข้ามาในประเทศไทย จากนั้นได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับวัฒนธรรมของสังคมไทย จนเป็นแบบแผนที่เป็นมาตรฐานของไทยและถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน การนวดแผนไทยแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายราชสำนักและสายเชลยศักดิ์

การนวดแบบราชสำนัก กลุ่มเป้าหมายของการนวดคือ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่อยู่ในรั้วในวัง ฉะนั้นการนวดจึงถูกออกแบบที่เน้นการใช้นิ้วมือและมือเท่านั้น และท่วงท่าที่ใช้ในการนวดมีความสุภาพเรียบร้อย มีข้อกำหนดในการเรียนมากมาย ผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิชาชีพด้านนี้ จะได้ทำงานอยู่ในรั้วในวังเป็นหมอหลวง มีเงินเดือนมียศมีตำแหน่ง

การนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นการนวดที่ใช้ในระดับชาวบ้านด้วยท่าทางทั่วไป ไม่มีแบบแผนหรือพิธีรีตองในการนวดมากนัก อีกทั้งยังสามารถใช้อวัยวะอื่น ๆ เช่น เข่า ศอก เท้า เพื่อช่วยทุ่นแรงในการนวดได้ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการนวดแบบราชสำนักที่เน้นการใช้มือเพียงอย่างเดียว

ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดตั้งการเรียนการนวดแผนโบราณให้กับชาวบ้านในชุมชน ผู้ที่เป็นประธานในการจัดตั้ง คือ นางสมพร แสงคำ ปราชญ์ชาวบ้านประจำตำบลโนนเหล็ก ผู้ซึ่งสนใจในด้านการนวด การใช้สมุนไพรโบราณ การอบสมุนไพร ซึ่งนางสมพร แสงคำ นั้น ได้ไปเรียนรู้การนวดแผนโบราณกับกลุ่มนวดในชุมชนตำบลหนองไผ่แบนเพื่อที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในตำบลโนนเหล็ก