ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี

"ถือศีลกินผัก" @เมืองตรัง

กลุ่มควันสีขาวจากธูปนับหมื่นๆแสนๆก้านตลบอบอวลไปพร้อมกับกลิ่นหอมรัญจวนแห่งศรัทธา เสียงสวดมนต์ดังลอยมาพาใจสงบ ผู้คนหลายพันคนในชุดสีขาวขวักไขว่เต็มทุกศาลเจ้าและทั่วเมืองตรังทุกครั้ง กับ “เทศกาลถือศีลกินผัก” หรือ “เทศกาลถือศีลกินเจ” เทศกาลแห่งบุญคู่คนตรังมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี

ชาวตรังมีประเพณี “ถือศีลกินผัก” หรือ “กินเจ” สืบทอดกันมาร้อยกว่าปี คือเริ่มประมาณพ.ศ.2447 จัดระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน หรือราวเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาการบูชาเทพเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ตามความเชื่อแบบจีน แต่เดิมจัดที่วัดประสิทธิชัย หรือวัดท่าจีน อ.เมือง จ.ตรัง ภายหลังมาก่อสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่ขึ้นอีกหลายแห่ง

ในพิธีกินเจ จะมีสมาชิกของศาลเจ้าและผู้ร่วมศรัทธามาร่วมละกิจโลกียวัตร บำเพ็ญศีล สมาทาน กินเจ บริโภคแต่อาหารผักผลไม้ งดเว้นกิจที่จะทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ซักฟอกมลทินออกจากกาย วาจา ใจ สวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ก่อนเริ่มการกินเจจะมีพิธีเตรียมการหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือการยกเสาตะเกียงหรือคี่เต็งโก ซึ่งทำในวันสิ้นเดือนก่อนกินเจ 1 วัน

ระหว่างพิธีกินเจ จะมีการอัญเชิญเทพเจ้ามาประทับทรงและออกเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งแต่ละศาลเจ้าจะกำหนดวันออกเยี่ยมไปให้ตรงกัน โดยจัดขบวนแห่อย่างมโหฬารไปรอบๆ เมืองในขบวนจะมีม้าทรงพร้อมกับบรรดาสาวกและรูปปฏิมาตัวแทน “เจ้า” อยู่ใน “เกี๊ยว” หรือเก้าอี้หาม ออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ไปตามอาคารบ้านเรือน ฝ่ายเจ้าของบ้านก็จะจัดโต๊ะบูชาและเตรียมประทัดไว้จุดต้อนรับ บางที “เจ้า” ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ โดยใช้ของมีคมเสียบทะลุเนื้อหนัง กลับจากออกเที่ยวก็มีพิธีลุยไฟ พอถึงวันที่ 9 ค่ำก็จะมีพิธีส่งเทพเจ้าที่อัญเชิญมา รุ่งขึ้นยกเสาตะเกียงลงเป็นอันเสร็จพิธี ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็น “อภินิหาร” ที่เกิดขึ้นจาก “ความศรัทธา”

สถานที่ประกอบพีธีกรรมทางศานาของชาวไทยเชื้อสายจีนในตรัง คือ “ศาลเจ้า” หรือคนท้องถิ่นเรียกโรงพระ ปัจจุบันมีศาลเจ้าสำคัญ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน อาทิ “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” “ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม” “ศาลเจ้าพ่อเสือ” “ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว” “ศาลเจ้ากวนอิมเก็ง” “ศาลเจ้าส่ามอ๋องฮู้เต้าโบ้วเกง” “ศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย” “ศาลเจ้าเปากง” “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” “ศาลเจ้าไท่หนานไต้เทียนกง” เป็นต้น

ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย

ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม

ศาลเจ้าพ่อเสือ