การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

   คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงจุดแข็งของเครื่องมือการประเมินผลในการต่อต้านการทุจริตทั้งของสำนักงาน ป.ป.ช. และของสำนักงานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง สาธารณรัฐเกาหลี จึงได้มีมติบูรณาการเครื่องมือการประเมิน โดยในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 304-51/2554 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ "ให้สำนัก/สถาบัน/ศูนย์ในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาและเตรียมความพร้อมตามดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2554 สำหรับการประเมินผลต่อไป และอนุมัติการปรับแผนปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ.2554 ตามที่เสนอ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (Transparency Index of the Public Agencies) มีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการประเมินคุณธรรมการดำเนินงาน (Integrity Assessment) ดังนั้น เมื่อดำเนินการตามโครงการทั้งสองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรที่จะนำผลการดำเนินการมาบูรณาการร่วมกัน” กล่าวคือ การประเมินผลตามดัชนีวัดความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตที่ใช้ในการประเมินความพยายามของหน่วยงานภาครัฐ ในการต่อต้านการทุจริต (measure anti-corruption efforts) จากข้อเท็จจริงในการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้จากเอกสารหลักฐานเชิงประจักษ์ ขณะที่การประเมินคุณธรรมการดำเนินงานเป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตที่ใช้วัดระดับการทุจริตในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (measure corruption) โดยประเมินผลจากการรับรู้หรือประสบการณ์ตรงของประชาชนที่เคยรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น เพื่อดึงจุดแข็งของทั้งสองระบบและเพื่อให้เกิดความสมดุลในการประเมิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีมติบูรณาการเครื่องมือการประเมินที่ใช้ในการต่อต้านการทุจริตทั้งสองระบบเข้าด้วยกัน แล้วเรียกเครื่องมือใหม่ว่า "การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA)”

ITA เป็นการประเมินคุณลักษณะด้านคุณธรรมและความโปร่งใสโดยใช้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน

การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือที่มีการเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านและหลากหลายมิติ กำหนดระเบียบวิธีการประเมินผลที่เป็นไปตามหลักการทางสถิติและทางวิชาการเพื่อให้ผลการประเมินสามารถสะท้อนสุขภาวะขององค์กรในด้านคุณธรรมและความโปร3งใสได้อย่างแท้จริง โดยมีการเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด IIT โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐทุกระดับที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานตนเอง โดยสอบถาม การรับรู้และความคิดเห็นใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่

ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่

ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ

ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ

  ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ

ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต

ส่วนที่ 2 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด EIT โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐในช่วง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดยสอบถาม การรับรู้และความคิดเห็นใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่

ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน

ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร

ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงระบบการทำงาน

ส่วนที่ 3 แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด OIT เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ไว้ทางหน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 2 ตัวชี้วัด ได้แก่

ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล โดยมีตัวชี้วัดย่อย ได้แก่

ตัวชี้วัดย่อยที่ 9.1 ข้อมูลพื้นฐาน

ตัวชี้วัดย่อยที่ 9.2 การบริหารงาน

ตัวชี้วัดย่อยที่ 9.3 การจัดซื้อจัดจ้าง

ตัวชี้วัดย่อยที่ 9.4 การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

ตัวชี้วัดย่อยที่ 9.5 การส่งเสริมความโปร่งใส

ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต มีตัวชี้วัดย่อย ได้แก่

ตัวชี้วัดย่อยที่ 10.1 การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต

ตัวชี้วัดย่อยที่ 10.2 มาตรการภายในเพื่อป้องกันการทุจริต

แผนที่โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ

จำนวนผู้เยี่ยมชม