สถานที่ท่องเที่ยว

วัดป่าประชารังสรรค์(หลวงปู่ห้วย)

พ.ศ.2483-2494 วัดประชารังสรรค์ เดิมทียังเป็นสำนักสงฆ์การพัฒนาไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร สมัยก่อนบริเวณแห่งนี้ยังเป็นป่าดงดิบ ชาวบ้านเรียกว่า หัวเลย มีปู่เจ้าหัวเลยรักษาอาณาบริเวณนี้อยู่ และเป็นที่ยำเกรงของชาวบ้านแถบนี้เป็นอย่างมาก เมื่อถึงเทศกาลฤดูฝนจะมีการบวงสรวงเจ้าปู่หัวเลยเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ต่อมามีข้าศึกทางเมืองเขมร ทางฝ่ายบ้านเมืองจึงได้ยกทัพมาทันกันที่หัวเลย จึงได้ตั้งชื่อใหม่เป็นทางการว่า ห้วยทัพทัน เมื่อเป็นชุมชนเกิดขึ้น จึงเปลี่ยนจากห้วยทัพทัน เป็น ห้วยทับทัน สภาพของวัดในสมัยนั้นไม่มีการพัฒนาต่อเนื่องและห่างไกลจากการปกครองของคณะสงฆ์ มีพระภิกษุดูแลมาก่อนแล้ว 5 รูป คือ (1)หลวงปู่ด่าง (2)พระมหามานิตย์ (3) พระสมบูรณ์ (4) พระสีหราช (5) พระคำไข โชติธมฺโม สภาพยังเป็นป่า มีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่เศษ และมีการประกาศตั้งวัดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2483 (ก่อนกฎกระทรวง)

พ.ศ.2494 ท่านเจ้าคุณพระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุต) ในสมัยนั้น ได้รับเรื่องราวเกี่ยวกับวัดป่าศรีสำราญและวัดป่าประชารังสรรค์ บ้านห้วยทับทัน ว่าไม่มีพระอธิการเจ้าวัดปกครองดูแล ท่านเจ้าคุณจึงได้พิจารณาคัดเลือกพระภิกษุในวัดผู้มีความรู้ความสามารถและ จริยวัตรพอไว้วางใจได้ ให้ไปเป็นเจ้าอธิการปกครองดูแลแทน จึงคัดเลือก พระบุญเลื่อน ปภากโร เพื่อนสหธรรมมิกรูปหนึ่งของท่านเจ้าคุณไปจำพรรษาที่วัดป่าศรีสำราญ เมืองศรีสะเกษ และได้คัดเลือก พระจรัส เขมจารี หรือท่านเจ้าคุณจรัสให้มาประจำที่วัดป่าประชารังสรรค์ บ้านห้วยทับทัน หมู่ 1 ท่านเจ้าคุณได้เดินทางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2494 ในพรรษาแรกแรกนั้นเข้าจำพรรษาในกุฎิกระท่อมมุงหญ้า ฝาไม้ไผ่ขัดแตะแถบตอง มีพระภิกษุ 4 รูป สามเณร 2 รูป สภาพค่อนข้างลำบากอยู่มาก แต่ก็สงบร่มรื่นด้วยราวป่าที่มีสภาพยังเป็นป่า พ.ศ.2501 อุบาสกขาว เขียวสวาท, อุบาสกพวง อินทะนิล บุตรของนายแก้ว นางหล้า อยู่่บ้านห้วยทับทัน หมู่ที่ 9 ตำบลหนองห้าง(สมัยนั้น) อำเภออุทุมพรพิไสย จังหวัดศรีสะเกษ ได้ถวายที่ดินให้แก่วัดห้วยทับทัน(ประชารังสรรค์) จำนวนที่ดิน 33 ไร่ 2 งาน 26 ตารางาว ตามหนังสือสัญญาได้ทำเมื่อวันที่ 20 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2501 โดยทิศเหนือจดถนน,ทิศใต้จดป่า,ทิศตะวันออกจดที่นายสิงห์ ศรีชารี,ทิศตะวันตกจดเขตป่าสงวน จึงนับได้ว่า ตะกูลเขียวสวาท,ตระกูลอินทะนิล ได้มีคุณูปการต่อวัดประชารังสรรค์แห่งนี้เป็นอย่าง สูงยิ่ง และมีอุบาสกบุญมา เชื้อทอง,อุบาสกกำ่ ขันธุลา เป็นทายกผู้นำคณะไหว้พระรับศีล สวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็น รักษาศีลอุโบสถประจำวันพระต่อมาเป็นลำดับ ต่อมา ได้มีอุบาสิกาดวงแก้ว แซ่เจ็ง เป็นต้น ได้จัดซื้อที่ดินถวายเพิ่ม ณ ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีเนื้อที่ ประมาณ 84 ไร่ พ.ศ.2513 วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาขึ้นเป็นวัดอย่างสมบูรณ์ในนามว่า “วัดประชารังสรรค์” เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พุทธศักราช 2513 เนื่องจากอยู่ในเขตป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านจึงนิยมเรียกเป็น “วัดป่าประชารังสรรค์”

แผนที่พิกัด