สพฐ.ส่งเสริมทักษะทางกีฬาเพื่อพัฒนาสู่ทักษะการดำรงชีวิต “ว่ายน้ำเพื่อชีวิต”
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมทักษะทางกีฬาเพื่อพัฒนาสู่ทักษะการดำรงชีวิต "ว่ายน้ำเพื่อชีวิต ปี 2566 " ให้เด็กสามารถว่ายน้ำเป็นและช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุทางน้ำตามมาตรฐานสากลได้
วันที่( 19 สิงหาคม 2566 ) ที่สระว่ายน้ำโรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายพนัส บุญวัฒนสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานเปิดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมทักษะทางกีฬาเพื่อพัฒนาสู่ทักษะการดำรงชีวิต "ว่ายน้ำเพื่อชีวิต ปี 2566"
โดย ดร.กฤษ ละมูลมอญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ ในนามคณะกรรมการ กล่าวรายงาน
นายพนัส บุญวัฒนสุนทร กล่าวว่า เห็นว่าการทำให้เด็กสามารถว่ายน้ำเป็น และช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุทางน้ำตามมาตรฐานสากลได้ จะเป็นมาตรการแรกของการลดจำนวนเด็กที่เสียชีวิต จึงจัดทำโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมทักษะทางกีฬาเพื่อพัฒนาสู่ทักษะการดำรงชีวิต "ว่ายน้ำเพื่อชีวิตปี 2566 " ขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ดำเนินการ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติ และในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพ โดยกำหนดเป็นนโยบาย ประจำปี 2566 ด้านความปลอดภัย พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้เรียนทุกคน พร้อมเสริมสร้างระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มข้นให้กับผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา จากโรคภัยต่าง ๆ ภัยพิบัติ และภัยคุกคามทุกรูปแบบ ซึ่งจากสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาพบว่า ภัยประเภทหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กและเยาวชน คือ ภัยจากการจมน้ำ ซึ่งปรากฎว่าในประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ยวันละ 4 คน
ปีละประมาณ 1400 คน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี วัตถุประสงค์ เพื่อสอนและฝึกหัดให้นักเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถว่ายน้ำเป็น และสามารถเอาตัวรอดจากการประสบเหตุทางน้ำ นักเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ มีความรู้และทักษะการว่ายน้ำ และการช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุทางน้ำได้อย่างถูกต้องตามวิธีมาตรฐานสากล
ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 และนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ของโรงเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ รวม 100 คน คณะวิทยากรและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 50 คน รวม 150 คน ได้รับความอนุเคราะห์ วิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลปะคำ โรงพยาบาลโนนดินแดง โรงพยาบาลสตึก โรงพยาบาลหนองหงส์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนเจริญ และมูลนิธิสว่างจรรยาธรรมสถานบุรีรัมย์ สถานที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่ง จากโรงเรียนมารีย์อนุสรณ์