ข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันโรค COVID-19 ในโรงเรียน

คุณหมอ ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ (รองอธิบดี กรมควบคุมโรค)

สรุปย่อข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันโรค COVID-19 ในโรงเรียน

โรงเรียน ครู ผู้ปกครองและนักเรียนต้องช่วยกัน โดยมีแนวคิดการดำเนินงาน ดังนี้ คือ

1. วัตถุประสงค์ของการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีเด็กป่วยเกิดขึ้นในโรงเรียนเลย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในโรงเรียน โดยมีหลักการที่สำคัญคือ การให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน เพื่อให้เด็กที่ยังสบายดีอยู่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

2. โรงเรียนควรจัดให้มีทีมงานรับผิดชอบประสานงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้นในโรงเรียน (ซึ่งควรประกอบด้วยครู เจ้าหน้าที่ นักเรียน และผู้ปกครอง)

3. ทุกคนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนต่างต้องมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคในโรงเรียน ทั้ง ครู เจ้าหน้าที่ คุณพ่อคุณแม่ นักเรียน รวมไปจนถึงแม่บ้าน

4. โรงเรียนควรชี้แจงและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการต่าง ๆ ที่โรงเรียนจะดำเนินการ และขอความร่วมมือจากทุกคนและทุกฝ่ายเพื่อให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดงาน และไม่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน

5. เฝ้าระวัง: โรงเรียนควรจัดระบบการติดตามการขาดเรียนของเด็กนักเรียนและครู ควรมีการตรวจสอบสาเหตุการขาดเรียนของนักเรียนและการลางานของครูด้วย โรงเรียนต้องรู้สถานการณ์ว่าเด็กขาดเรียนเท่าไหร่ ครูลางานเท่าไหร่ ขาดเพราะอะไร

6. โรงเรียนควรแนะนำให้นักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด (ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว) หยุดเรียน และพักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก อาจพิจารณา ไปพบแพทย์ตามความจำเป็น (ให้เป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละระยะ ของการระบาด)

7. ควรแนะนำให้นักเรียนตรวจสอบตัวเอง และพ่อแม่ช่วยกันตรวจดูลูก ๆ ทุกเช้าก่อนมาโรงเรียน ว่ามีอาการป่วย ไข้หรือเปล่า หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ควรให้ลูกหยุดเรียน

8. คัดกรอง: โรงเรียนควรมีการจัดระบบการคัดกรองนักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่ หากพบว่าป่วย ควรให้ผู้ป่วยหยุดพัก

9. ถ้าสามารถทำได้ โรงเรียนควรจัดห้องพยาบาลสำหรับการแยกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ห้องพยาบาลควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

10. หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนและครูที่มีอาการป่วยคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกคนหยุดเรียนได้ (ควรหยุดเรียนและพักอยู่กับบ้านอย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ) ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา (การปิดโรงเรียนสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ แต่ไม่สามารถยุติการระบาดได้ หากโรงเรียนยังไม่ปรับปรุงระบบการป้องกันโรค)

11. โรงเรียนควรมีคำแนะนำ (เอกสาร โปสเตอร์ อีเมล ไลน์) ให้กับนักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ และพ่อแม่ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

12. แนะนำ และสนับสนุนให้นักเรียนล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือด้วยเจลแอลกอฮอล์โดยการจัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ และควรจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ในจุดที่นักเรียนเข้าถึงอ่างล้างมือได้ยาก

13. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำละลายผงซักฟอกหรือแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด ให้บ่อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

14. ควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

15. ครูและนักเรียนอาจสวมใส่หน้ากากผ้ามาโรงเรียนได้ ความฟิตรอบใบหน้าของหน้ากากมีความสำคัญมากเพื่อให้อากาศที่หายใจเข้าผ่านการกรองของหน้ากาก

16. สถานศึกษาที่ยังไม่พบการระบาดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการนำนักเรียนจำนวนมากมารวมตัวกัน (เช่น การซ้อมเชียร์ การแข่งกีฬา เป็นต้น) หรือการเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นหมู่คณะ ส่วนสถานศึกษาที่มีการระบาดแล้วควรงดกิจกรรมดังกล่าวโดยเด็ดขาด

17. โรงเรียนควรเตรียมมาตรการชดเชยทั้งด้านการเรียน การสอน เวลาในการเรียน และการปฏิบัติงานของทั้งนักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องหยุดพักการเรียนหรือปฏิบัติงานเนื่องจากการป่วย

18. ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้

อนึ่ง คำแนะนำต่าง ๆ อาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนไป และสามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละสถานศึกษา

คำถามจากผู้ปกครอง

 

1. ถ้าเด็กกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและกักตัวครบ 14 วันแล้วมาเรียนได้ตามปกติหรือไม่?

ตอบ: สามารถมาเรียนได้ตามปกติ

 

2. ถ้าต้องเที่ยวเมืองไทย ต้องระวังสถานที่ท่องเที่ยวหรือเมืองที่คนจีนไปมั้ย?

ตอบ: ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนไปมาก ประเทศจีนเองก็มีผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นก็มีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยมากขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยหากพูด ในหลักการในปัจจุบันก็คือสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก หรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด

 

3. ถ้ามือเราเป็นแผล เชื้อเข้าทางบาดแผลได้มั้ย?

ตอบ: เชื้อตัวนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถติดเชื้อทางแผลได้

 

4. หน้ากากผ้าสามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้มั้ย (ควรพ่นแอลกอฮอล์มั้ย)

ตอบ: ซักแล้วใช้ซ้ำได้ ผงซักฟอกและแสงแดดฆ่าเชื้อโรคตายได้ โดยไม่จำเป็นต้องพ่นแอลกอฮอล์

 

5. ถ้าติดเชื้อแล้วโอกาสหายสูงมั้ย?

ตอบ: โอกาสหายจากโรคสูง โรคนี้เป็นโรคที่หายได้เองโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส

 

6. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อรักษาหายแล้ว ติดเชื้อซ้ำอีกได้มั้ย?

ตอบ: ส่วนใหญ่หากติดเชื้อแล้ว ทั่ว ๆ ไปเราจะมีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถป้องกันโรคได้สักระยะหนึ่ง ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีกมั้ย ส่วนที่เราพบเห็นในข่าว ส่วนใหญ่ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่ แต่เป็นการที่เรายังสามารถตรวจพบเชื้อในตัวผู้ป่วยได้ค่อนข้างนานหลังจากที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

 

7. โรงเรียนสามารถจัดกีฬาสีได้มั้ย?

ตอบ: โรงเรียนควรประเมินสถานการณ์การระบาดเมื่อใกล้วันจัดงานอีกครั้งหนึ่ง หลักการที่สำคัญ คือ หากเราสามารถขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยพักอยู่กับบ้าน (ไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ หรือแขกรับเชิญ) ไม่มาร่วมกิจกรรมกีฬาสี คนที่เหลืออยู่ก็จะสามารถร่วมงานกีฬาสีกันได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ โรงเรียนอาจพิจารณานำมาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ มาใช้ร่วมด้วย เช่น การจัดงาน ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก การสนับสนุนให้กองเชียร์สวมใส่หน้ากากผ้า เป็นต้น

 

8. โรงเรียนสามารถจัดทัศนศึกษาได้มั้ย?

ตอบ: ถ้าพื้นที่ที่โรงเรียนจะไปจัดกิจกรรม ทางโรงเรียนสามารถบริหารจัดการให้ปลอดผู้ป่วย (ทั้งนักเรียน ครู พนักงานขับรถ และทีมในพื้นที่) โรงเรียนก็จะสามารถจัดทัศนศึกษาได้

 

9. ในสระว่ายน้ำ ถ้ามีคนติดเชื้อลงไปใช้สระเราจะติดเชื้อไปด้วยมั้ย?

ตอบ: โดยทั่วไป คลอรีนฆ่าเชื้อได้ดี ดังนั้น ถ้าสระว่ายน้ำดูแลปริมาณคลอรีนในน้ำได้ตามมาตรฐานก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากว่ายน้ำอยู่ แล้วถูกคนติดเชื้อไอหรือจามใส่หน้าก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้

 

Cr: หมอดื้อ.com

Cr: กรุงเทพธุรกิจ