ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ


ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ

ประวัติ

ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ เป็นผ้าไหมพื้นบ้านทอมือชาวกูย

เป็นผ้าทอลายในตัว ย้อมสีดำด้วยมะเกลือ มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่มีสีดำมันวาวมีลวดลายสวยงาม ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือหรือ

ที่ชาวบ้านเรียกว่า แพรเหยียบ หรือ ผ้าเหยียบ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน

นิยมนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อแขนยาว

วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวบ้าน จะนุ่งผ้าที่ทอขึ้นและเย็บด้วยมือ โดยผู้ชายจะนุ่งโสร่ง โจงกระเบน ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น เสื้อจะเป็นเสื้อแขนยาวใช้ผ้าที่ทอขึ้นและเย็บด้วยมือแล้วนำไปย้อมมะเกลือ “เสื้อดำไหมย้อมมะเกลือ เป็นเสื้อที่ชาวบ้านนิยมใช้กันมาก เสื้อนี้ใช้ได้ทุกงาน ตั้งแต่การทำไร่ทำนาไปถึงงานประเพณี งานเทศกาล ถ้าครอบครัวใดไม่มีเสื้อดำไหมย้อมมะเกลือให้สมาชิกครอบครัวใช้จะถูกดูแคลนจากเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นทุกๆ ครอบครัวในหมู่บ้านต้องขวนขวายหาเสื้อดำย้อมมะเกลือมาให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้ จึงทำให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันโดยทั่วไป”

เสื้อดำไหมย้อมมะเกลือเป็นเสื้อที่ตัดจากผ้าไหมแท้ เป็นผ้าไหมที่ทอพิเศษที่ชาวบ้านเรียกว่า แพรเหยียบ หรือ ผ้าเหยียบ โดยการทอผ้า (ต่ำหูก) แบบธรรมดานั้นจะมีที่เหยียบเท้าอยู่ 2 ที่ แต่การทอแบบแพรเหยียบ จะมีที่เหยียบอยู่ 5 ที่ หรือที่เรียกว่า 5 เขา แพรเหยียบจะมีลวดลายพิเศษต่างจากผ้าธรรมดา จะเป็นลวดลายขนมเปียกปูนเป็นวงซ้อนกันติดต่อกันตลอดทั้งผืน การตัดเสื้อจากแพรเหยียบใช้วิธีตัดอย่างประหยัดที่สุด คือ จะไม่มีเศษผ้าเลย นอกจากที่เป็นคอกลมเท่านั้นที่ต้องคว้านออก นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นแผ่นหลังหรือแขนก็ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมทั้งสิ้น ในสมัยก่อนการตัดเสื้อในแต่ละครอบครัวจะตัดและเย็บด้วยมือใช้เอง แต่ในปัจจุบันต้องไปจ้างช่างตัดเสื้อตัดให้ กระดุมเสื้อในสมัยก่อนจะใช้เหรียญสตางค์หรือเหรียญสลึง (เหรียญสลึงในสมัยก่อนไม่ใช่เหรียญสลึงในปัจจุบัน) เจาะรู 2 รู ฟั่นไหมร้อยอย่างสวยงาม แต่ในปัจจุบันพบเห็นน้อยมาก เพราะเหรียญเงินเก่ามีราคามากตัดไปขายจนเกือบหมดแล้ว การตัดเสื้อดำไหมย้อมมะเกลือ เมื่อตัดเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำไปย้อมมะเกลือเป็นขั้นตอนสุดท้าย

2. ลวดลายและกรรมวิธีการทอ

ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีสีดำมันวาว ย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ คือ ผลมะเกลือ และต้องย้อมซ้ำไปซ้ำมาจนติดสีดำเข้ม มีกรรมวิธีการทอโดยการทอลายในตัว และใช้วิธีการแยกตะกอ 5 ตะกอ เพื่อให้เกิดลวดลายขนมเปียกปูนเป็นวงซ้อนกันติดต่อกันตลอดทั้งผืน เมื่อเสร็จสิ้นการทอ ขั้นตอนต่อไปนำไปตัดเสื้อและย้อมมะเกลืออีกครั้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ส่วนลวดลายผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ อดีตบรรพบุรุษได้คิดค้นมาจากลวดลายของผลหวายป่า ลักษณะคล้ายผลระกำหรือสละ ซึ่งมีรูปร่างเป็นช่อคล้ายลูกแก้วในปัจจุบัน แล้วนำไปใช้เป็นลวดลายทอผ้าขึ้นมาเป็นลักษณะรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนซ้อนกันตลอดทั้งผืน

กรรมวิธีการทอ

การทอผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ เป็นการใช้เทคนิคการเพิ่มตะกอให้มากขึ้นกว่าสองตะกอ ลายผ้าที่ได้จะเป็นลายดอกนูนขึ้นมาตลอดทั้งผืน เป็นผ้าทอที่ต้องใช้ความสัมพันธ์ในการเหยียบตะกออย่างชำนาญ นอกจากนี้ใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งย้อมสีเดียวกัน มีลักษณะการทอแบบยกดอก จะแตกต่างจากการทอผ้าพื้น ที่การใช้ตะกอเป็นตัวกำหนดลาย มีจุดกลับโดยยกตะกอย้อนกลับ แล้วเก็บตะกอตามลวดลายที่กำหนดไว้

กรรมวิธีการย้อม

วิธีการย้อมผ้าไหมลายลูกแก้วด้วยมะเกลือ สามารถนำมะเกลือผลดิบหรือผลสุกมาย้อมได้

การใช้มะเกลือผลดิบ คือ นำผลดิบมาตำให้ละเอียด กรองเอาแต่น้ำสีเหลืองมาใช้ย้อมผ้า ผ้านั้นจะมีสีเหลือง แต่เมื่อตากให้แห้งจะมีสีเขียวจะต้องย้อมและตากแห้งอย่างนี้ซ้ำ ๆ กัน 5 - 6 ครั้ง ผ้าจะเปลี่ยนสีจนกระทั่งกลายเป็นสีดำตามต้องการ

และการใช้มะเกลือผลสุก คือ นำผลสุกสีดำมาบดละเอียด กรองแต่น้ำสีดำมาย้อมผ้า โดยย้อมแล้วตาก แล้วนำกลับมาย้อมซ้ำอีกประมาณ 3 ครั้ง ถ้าจะให้ผ้ามีสีดำสนิทและเป็นมันเงาด้วย ให้นำผ้าไปหมักใน โคลน 1 – 2 คืน หรืออย่างน้อย 5 ชั่วโมงแล้วจากนั้นจึงนำมาซักให้สะอาด

การย้อมสีดำด้วยผลมะเกลือ มีกรรมวิธีการผลิตตามภูมิปัญญา 2 วิธี รายละเอียดดังนี้

1) การย้อมเย็น นิยมทอเป็นผ้าลายลูกแก้วแล้วนำมาตัดเป็นเสื้อหรือกางเกงขากบ จึงนำไปย้อมมะเกลือเสื้อขนาด 1 ตัว ต่อ มะเกลือ 8 กิโลกรัม มะเกลือที่นำมาย้อมไม่ควรอ่อนหรือแก่เกินไป

วิธีการย้อม คือ นำมะเกลือประมาณ 1 กิโลกรัม โขลกให้ละเอียด ใส่ปูนใสประมาณ 50 กรัม ใส่ใบหนาด และใบพุดสร้อยอย่างละ 1 กำมือ โขลกรวมกันให้ละเอียด เพื่อให้มีสีดำ

เติมน้ำลงในมะเกลือที่โขลกแล้วประมาณ 8 ลิตร คนให้เข้ากันแล้วกรองเอากากทิ้ง โดยกรอง 2 ครั้ง ครั้งแรกกรองด้วยผ้ามุ้งเขียวทับซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ใส่ถังไว้ ครั้งที่สองกรองละเอียดด้วยผ้าขาวเพื่อให้กากมะเกลือออกหมดจะได้น้ำมะเกลือสะอาด พักใส่ถังไว้

จากนั้นนำเสื้อลงในครกไม้ ตักน้ำมะเกลือค่อย ๆ เทลงในครก แล้วใช้สากไม้โขลกเบา ๆ พลิกกลับ เพื่อให้น้ำมะเกลือซึมเข้าในเสื้อจนทั่วดีแล้ว จึงนำไปตากแดดโดยปูราบลงกับพื้นดินลานบ้าน เพื่อไม่ให้น้ำมะเกลือไหลออกจากเสื้อ ปล่อยไว้จนแห้งหมาด ๆ จึงนำเสื้อมาชุบน้ำมะเกลือเหมือนครั้งแรกอีก และนำไปตากแดดเหมือนเดิม โดยใน 1 วัน จะย้อมซ้ำและตากได้ประมาณ 3 – 4 ครั้ง ก่อนเก็บไว้ย้อมวันต่อไป นำเสื้อย้อมมะเกลือที่ตากแดดแห้งแล้ว มาลวกน้ำร้อนโดยต้มน้ำพอท่วมเสื้อให้น้ำเดือด แล้วยกลงเอาเสื้อลงลวกในหม้อกดลงให้น้ำท่วมเสื้อปิดฝาหม้อ ปล่อยให้เย็น จึงนำขึ้นจากหม้อ บิดหมาด ๆ พักไว้ในถัง รอย้อมวันต่อไป (ย้อมเสร็จในแต่ละวันต้องลวกน้ำร้อนทุกวัน เพื่อให้ยางมะเกลือละลายและเศษฝุ่นต่าง ๆ ออก เสื้อจะได้อ่อน นุ่ม ไม่แข็งกระด้าง และน้ำมะเกลือต้องเตรียมใหม่ทุกวัน)

เมื่อย้อมได้วันละ 3 – 4 ครั้ง ได้ประมาณ 7- 8 วัน แล้ว เห็นว่าเสื้อมีสีดำสนิทแล้วให้หยุดย้อม และนำเสื้อมาอบหอม วิธีการอบหอมนั้น นำพืชใบหอมต่าง ๆ ได้แก่ ว่านหอม ใบหนาด ขมิ้น พุดสร้อย ใบเสน คำพอง มาต้มรวมกันใส่น้ำพอท่วมเสื้อ ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที ยกหม้อลงจากไฟ นำเสื้อลงแช่โดยกดลงให้จม อยู่ในน้ำ ปิดฝาหม้อให้มิดชิดปล่อยให้เย็น จึงนำไปตากแดดให้แห้ง นำเสื้อที่ตากแดดแล้ว มาล้างน้ำให้สะอาด 2 – 3 ครั้ง จึงนำไปตากแดดให้แห้ง ก็นำไปสวมใส่ได้ ถ้าต้องการให้เรียบ ก็นำไปรีดด้วยไฟอ่อน ๆ ก็จะมันวาว สวยงาม

2) การย้อมร้อน นิยมย้อมเส้นไหม

วิธีการย้อม คือ นำใช้เส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว 1 กิโลกรัม

ต่อ มะเกลือ 10 กิโลกรัม แบ่งมะเกลือ 2 กิโลกรัม โขลกให้ละเอียดผสมปูนใส

ประมาณ 200 กรัม เมื่อโขลกมะเกลือละเอียดดีแล้ว เติมน้ำสะอาดประมาณ

7 ลิตร คนให้เข้ากันดีแล้ว กรองเอาแต่น้ำ 2 – 3 ครั้ง เอากากออกให้หมด

แล้วเอาน้ำมะเกลือใส่หม้อขึ้นตั้งไฟต้มให้เดือด

จากนั้นนำเส้นไหมลงแช่น้ำประมาณ 10 นาที แล้วนำเส้นไหมขึ้นจากน้ำบิดให้หมาด ๆ นำเส้นไหมใส่ห่วง ๆ ละ 2 ไจ จึงนำลงต้มย้อมในหม้อ หมั่นพลิกกลับเส้นไหม ย้อมนานประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำเส้นไหมไปล้างน้ำสะอาด 2 – 3 ครั้ง แล้วนำไปตากแดด ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง

หลังจากย้อมได้ 3 ครั้งแล้ว จึงนำเส้นไหมไปหมักโคลน โดยเอาโคลนจากหนองน้ำนิ่ง เอาทั้งน้ำและโคลนมาด้วย กรองเอาสิ่งสรกปรกออกเหลือแต่น้ำโคลนละเอียด ใส่ในกะละมัง จากนั้นนำเส้นไหมลงหมักในโคลน ให้โคลนท่วมเส้นไหม หมักไว้ 1 คืน จากนั้นนำเส้นไหมขึ้นจากโคลนล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากแดด

จากนั้นเตรียมน้ำมะเกลืออีกครั้ง แล้วนำเส้นไหมที่หมักโคลนแล้วมาย้อม และนำไปหมักโคลนอีก ทำเช่นนี้อีก 2 – 3 ครั้ง เมื่อได้เส้นไหมมีสีดำสนิทแล้ว นำเส้นไหมไปล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง เพื่อจะนำไปทอผ้าต่อไป

3. การนำไปใช้ประโยชน์

ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ เป็นผ้าที่ชาวบ้านนิยมใช้กันอย่างมาก ผ้านี้ใส่ใช้ได้ทุกงานตั้งแต่การทำไร่ ทำนา ไปถึงงานประเพณี และงานเทศกาลต่างๆ

ข้อมูล เนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายบัญชา สงสาร

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย ณณฑ์พิศิษฐ์

ข้อมูล TKP อ้างอิง https://www.facebook.com/profile.php?id=100070918502338