การต่อสายไฟฟ้า

การต่อสายไฟ

สายไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ส่งพลังงานไฟฟ้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยกระแสไฟฟ้าจะเป็นตัวนำพลังงานไฟฟ้าผ่านไปตามสายไฟจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟทำด้วยสารที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ เรียกว่าตัวนำไฟฟ้า และตัวนำไฟฟ้าที่ใช้ทำสายไฟเป็นโลหะที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ดี ลวดตัวนำแต่ละชนิดยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ต่างกัน ตัวนำไฟฟ้าที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้มากเรียกว่ามีความนำไฟฟ้ามากหรือมี ความต้านทานไฟฟ้าน้อย ลวดตัวนำจะมีความต้านทานไฟฟ้าอยู่ด้วย โดยลวดตัวนำที่มีความต้านทานไฟฟ้ามากจะยอม ให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้น้อย

สายไฟฟ้าเป็นสื่อกลางในการนำเอากำลังไฟฟ้าจากแหล่งต้นกำลังไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าไปติดตั้งใช้งาน จะพิจารณาจากข้อมูลเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1.ความสามารถในการนำกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดโดยไม่ทำให้ฉนวนของสาย (Insulated) ได้รับความเสียหายซึ่งสามารถดูเปรียบเทียบได้จากตารางสำเร็จรูป โดยที่ข้อกำหนดการใช้งานสายไฟฟ้าขนาดต่างๆดังกล่าวนี้ เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้า

2.แรงดันไฟฟ้าที่สายไฟฟ้าทนได้ ส่วนใหญ่โรงงานผู้ผลิตจะจัดพิมพ์ และติดไว้ที่ผิวฉนวนด้านนอกของสายไฟฟ้า เช่น 300V หรือ 750V เป็นต้น

3.อุณหภูมิแวดล้อมขณะใช้งาน เช่น 60"C หรือ 70"C เป็นต้น

4.ชนิดของฉนวนที่ใช้หุ้ม เช่น ฉนวนพีวีซี (PVC) หรือเรียกว่าโพลิไวนิลคลอไรด์ ซึ่งเหมาะสำหรับการเดินสายไฟฟ้าในอาคารทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากพลาสติกพีวีซี มีความอ่อนตัว สามารถดัดโค้งงอได้ ทนต่อความร้อน มีความเหนียวและไม่เปื่อยง่าย ฉนวนพลาสติกอีกชนิดหนึ่ง คือ ครอสลิ่งก์ โพลิเอธทิลีน (Cross Linked Polyethylene: XLPE) ซึ่งเป็นสายอลูมิเนียมหุ้มฉนวนหนาพิเศษ จึงสามารถรับแรงกระแทกได้มากยิ่งขึ้น

5.ลักษณะการนำไปใช้งาน โดยพิจารณาจากลักษณะการติดตั้ง สถานที่ใช้งาน สภาพความแข็งแรงของสายไฟฟ้า ทั้งนี้จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสายไฟฟ้าแต่ละชนิดด้วย

การต่อสายไฟฟ้า

จุดประสงค์ของการต่อสายไฟ ต้องการให้แน่น, แข็งแรง, ตรงรอยต่อสัมผัสกันมากที่สุดและ แลดูสวยงาม การต่อสายไฟฟ้ามีวิธีต่อได้หลายแบบ คือ

1. การต่อสายแบบรับแรงดึง

ก. การต่อสายเดี่ยว ทำดังนี้คือ

1. ปลอกสายที่หุ้มฉนวนออกเส้นละประมาณ 3 นิ้ว

2. ขุดทำความสะอาดสาย

3. เอาปลายทั้งสองบิดเข้าหากันเป็นเกลียว

4. ใช้คีบบีบให้แน่น

2. การต่อสายแบบไม่รับแรงดึง

ก. การต่อแบบหางเปีย ทำดังนี้คือ

1. ปอกฉนวนปลายสายข้างละประมาณ 3 นิ้ว

2. ขุดทำความสะอาดสาย

3. เอาปลายทั้งสองข้างมาชิดกันแล้วบิดเป็นเกลียวให้แน่น

3. การต่อสายแบบแยก

การต่อแยกสาย คือการต่อแยกสายออกเป็น 3 ทางหรือ 4 ทาง แล้วแต่งานซึ่งแยกออกตามประเภทของงานคือ

ก. แยกแบบเส้นเดียว

1. ปอกสายไฟเส้นที่ต้องการแยกประมาณ 1 นิ้ว

2. ปอกสายที่จะแยกออกประมาณ 3 นิ้ว

3. วางปลายสายที่จะแยกลงบนเส้นที่ไม่แยกตรงปอกแล้ว

4. ใช้คีมดึงและบิดเป็นเกลียวให้แน่น

ข. แยกแบบหลายเส้น

1. ปอกสายไฟเส้นที่ต้องการแยกประมาณ 1 นิ้ว

2. ปอกสายที่จะแยกออกประมาณ 3 นิ้ว

3. วางปลายสายที่จะแยกลงบนเส้นที่ไม่แยกตรงปอกแล้ว

4. ใช้คีมดึงและบิดเป็นเกลียวให้แน่น

4. การต่อสายแข็งกับสายอ่อน

คือมีสายอยู่สองชนิด ชนิดแข็งกับชนิดอ่อนนำมาต่อกัน วิธีต่อปอกฉนวนปลายสายทั้ง 2 เส้นออกข้างละประมาณ 3 นิ้ว แล้วใช้สายอ่อนพันรอบๆ สายแข็งให้เป็นเกลียวเสร็จแล้วพับหรืองอปลายสายแข็งให้เป็นขอเพื่อป้องกันมิให้สายหลุดได้ง่าย

5. การต่อสายแบบคู่

การต่อสายคู่ วิธีทำคือ

1. ปอกฉนวนที่สายออก

2. การปอกฉนวนสายทั้งคู่เวลาต่อไฟให้เยื้องกันเล็กน้อย

3. ทำความสะอาดสาย

4. ต่อแบบสายเดี่ยวทีละเส้น

6. การต่อสายเดี่ยวที่ข้างในมีหลายเส้น

ส่วนมากเป็นสายเมนใหญ่ต้องการรับแรงดึงมาก วิธีทำดังนี้

1. ปอกปลายสายทั้งสองเส้นข้างละประมาณ 5 นิ้ว

2. ทำความสะอาดสาย

3. คลีปลายสายที่ปอกดึงให้ตรงและจัดระยะห่างให้เท่า ๆ กันทั้ง 2 เส้น

4. เอาปลายสายที่คลีแล้วประสานกันเส้นต่อเส้น

5. ใช้สายแต่ละเส้นพันกันเป็นเกลียวให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน

6. ใช้คีมบีบตบแต่งให้เรียบร้อย

การพันสายด้วยผ้าเทปพันสาย

ตามปกติ หลังจากที่ทำการต่อสายไฟเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือ การใช้ผ้าเทปพันสายไฟที่ต่อไว้อย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันมิให้วัตถุใด ๆ หรือมือคนไปสัมผัสกับสายไฟฟ้านั้นจะทำให้เกิดการ ลัดวงจรหรือเกิดอันตรายขึ้นได้โดยสามารถหาซื้อผ้าเทปพันสายได้จากร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป