เทคนิคการขายของชำ โดย นางลำไพ แสดคง ในการทำธุรกิจใดๆนั้น สิ่งสำคัญที่เจ้าของกิจการต้องการมากที่สุดคือผลประกอบการหรือที่เราเรียกว่า กำไร แต่การที่จะให้ได้มาซึ่งกำไรที่เราต้องการนั้นกล่าวได้ว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครหลายคนคาดคิด ต้องมีองค์ประกอบในหลายๆด้านด้วยกัน ซึ่งดิฉันได้ตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการขายของชำ ซึ่งดิฉันได้รวบรวมเอาประสบการณ์บวกกับความรู้ที่สั่งสมมาเป็นเวลากว่าสิบปีมาเป็นเรื่องราวถ่ายทอด ดิฉันประกอบธุกิจ ซึ่งธุรกิจของดิฉันเป็นร้านขายของชำ ตั้งอยู่ในบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ กว่าดิฉันจะมีความสำเร็จเป็นแม่ค้าที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวไม่ให้เดือดร้อนทางด้านเรื่องเงินเหมือนปัจจุบันได้ ดิฉันได้อาศัยเทคนิคเล็กๆน้อยๆในการขายของชำซึ่งสามารถบอกกล่าวให้ท่านผู้อ่านได้ดังนี้ 1 หมั่นพยายามจัดร้านให้เป็นที่น่าสนใจต่อลู้ค้าเสมอ พูดง่ายๆเลยก็คือการหมั่นรักษาความสะอาดของหน้าร้านให้มีความสะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรที่จะขี้เกียจและคิดว่าด้วยทำเลที่ตั้งเหมาะสมของร้านเรา ลูกค้าจะซื้อกับเราเพียงเจ้าเดียว เมื่อไม่รักษาความสะอาดในจุดหน้าร้านนี้ลุกค้าบางคนก็ไม่กล้าเข้ามาซื้อของในร้านเรา ลุกค้าอาจจะยอมที่จะเดินไปซื้อของกับรายอื่น และหน้าร้านนี้เองควรที่จะมีของใหม่ๆสินค้าใหม่ๆเข้ามาล่อตาล่อใจผู้ซื้อหรือลูกค้ามิได้ขาด ควรวางสินค้าในที่ๆเห็นได้ชัดเจน บางร้านไม่นำสินค้าที่ใหม่และสินค้าแปลกๆไม่เหมือนร้านอื่นมาโชว์ก็จะขาดจุดดึงดูดลูกค้าไป หรือการที่ร้านจะต้องมีสินค้าที่เป็น แบลนด์ ติดตลาด เข้ามาจำหน่าย เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นที่นิยมแก่ลูกค้า จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น2 การแต่งกายของแม่ค้า ต้องแต่งกายดี ตัวแม่ค้าเองก็เปรียบเสมือนหน้าร้าน หากไม่แต่งตัวให้สะอาด เรียบร้อย สกปรกมอมแมม ลูกค้าก็จะหมดความน่าเชื่อถือที่จะซื้อ ลองคิดกันง่ายๆดู หากลูกค้าเข้าร้านเพื่อจะมาซื้อของกินเล่นหรือเครื่องดื่ม เมื่อลุกค้าเจอหน้าแม่ค้าหรือเจ้าของร้านในสภาพสกปรก ลูกค้าจะรับประทานของกินเล่น หรือ เครื่องดื่มที่ซื้อมาลงไปได้หรือไม่ 3 ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า และ บุคคลรอบข้างทั่วไป การพูดจาของแม่ค้าหรือเจ้าของร้านควรที่จะใส่ใจเป็นอย่างยิ่งควรมีครับ มี ค่ะ ยิ้มแย้มแม้เราจะอมทุกข์ เพราะการพูดจาดีเป็นการสร้างลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่าคิดว่าลุกค้าคนนี้ไม่เคยเข้าร้านเราแล้วเราจะไม่พูดดีๆกับเขา เพราะเราต้องคิดไว้เสมอว่าสักวันเขาคนนั้นจะต้องมาซื้อของจากร้านเรา เป็นการสร้างลุกค้าในอนาคต หรือถ้าเป็นลุกค้าประจำการตีสนิทชิดเชื้อเพื่อผูกใจให้เขากลับมาซื้อของที่ร้านเราเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควนรอย่างยิ่งที่จะสนิทถึงขนาดพูดจาเล่นหัวกันได้ เราเองอาจจะมีคำพูดที่ไม่พึงประสงคืหลุดลอยจากปากเราออกไปกระทบกระเทือนจิตใจเขาได้ และเขาอาจจะหายไปเลยโดยที่เราไม่รู้ตัว 4 การมองหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการขายของชำ ของชำคือของที่ทุกคนมีความจำเป็นต้องซื้อหามาใช้ การเลือกทำเลควรเลือกไปในแหล่งที่มีผู้คนหนาแน่น มีคนพลุกพล่าน เหมือนกับร้านดิฉันซึ่งมีทำเลที่เหมาะมากนั่นคือการมีที่ตั้งของร้านในบริเวณ สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิตใหม่ 5 ความอดทน มุ่งมั่นในการค้าขาย สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่นักธุรกิจจนถึงระดับแม่ค้า เราต้องอดทนต่อการที่จะขายของให้ได้กำไร กำไรอาจจะไม่ได้มาอย่างรวดเร็ว อาจจะต้องอาศัยการรอคอย ถือคติว่า ช้าๆได้พร้าเล่มงาม ลองนึกภาพดูว่าท่านผู้อ่านรอได้หรือไม่ในการขายลูกกวาดเม็ดละสองบาทให้ได้ถึงร้อยบาท ถ้าทนในระดับพื้นฐานแค่นี้ไม่ได้กล่าวได้ว่าคุณไม่มีจิตวิญญาณความเป็นนักค้าขายหรือแม่ค้าได้ 6 ลูกค้าถูกต้องเสมอ การทำการค้าเราจะต้องเอาใจลุกค้าให้มากที่สุด อยากได้อะไรเราจะต้องหามาให้อย่างสุดความสามารถ มีเรื่องอะไรกับลุกค้าดิฉันมีเทคนิคคือ ให้นิ่ง แล้วค่ะ ครับ ให้ได้ อย่าพยายามเถียงลูกค้า ถ้าจำเป็นต้องอธิบายต้องมีน้ำเสียงนุ่มนวล ลดระดับความร้อนรุ่มในใจ และพีงคิดเสมอว่า คนนี้แหละเราจะต้องเอาเงินจากกระเป๋าเขาให้ได้
ปัจจัยที่ส่งผลให้เราขายของยากลำบาก ส่วนใหญ่จะเป็นข้อที่ตรงกันข้ามกับเทคนิคในการขายของให้ดีขึ้น ท่านผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจร้านชำ ควรที่จะศึกษาว่ากิจการหรือร้านของท่านเป็นเช่นนี้หรือไม่ ถ้าหากเป็นในข้อใดข้อหนึ่งควรที่จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เราสสามารถสร้างยอดขายหรือกำไรให้มากยิ่งขึ้น 1.จัดรูปแบบร้านได้ไม่สดุดตาคนซื้อ 2.พนักงานขายแต่งตัวสกปรก ไม่น่าให้คนมาซื้อของ 3.สินค้าที่ขายไม่ทันสมัย หรือเก่าเกินไปไม่ตามยุคสมัย 4.เอาของที่ผู้บริโภคไม่นิยมมาขาย ก็จะทำให้เราขายของได้ลำบากขึ้น 5.พนักงานขายพูดจาไม่ไพเราะ ไม่น่าฟังทำให้ลูกค้าไม่อยากซื้อของ 6.ที่ตั้ง ของร้าน ถ้าไปตั้งร้านอยู่ไกลแหล่งชุมชน เราก็จะขายของลำบาก หรือมีร้านขายของชนิดเดียวกันอยู่ใกล้ๆกับร้านเรา ก็จะทำให้ยอดขายเราลดลงได้เช่น 7.สินค้าภายในร้านไม่เป็นระเบียบ ยากแก่การค้นหา ก็จะทำให้ขายของลำบากขึ้น 8.สินค้าที่ขายดูสกปรกไม่น่ารับประทาน ลูกค้าก็จะไม่ซื้อ 9.พนักงานขายไม่มีความสนใจที่จะขายของ สรุป เกี่ยวกับเทคนิคของการขายของในการขายของชำนั้นการที่จะขายดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยในหลายๆด้าน ทั้ง ทำเลที่ตั้งของร้าน พนักงานขายการเอาใจใส่ในผลิตภัณฑ์ที่ขาย การละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปนับว่าเสียหายมากในกิจการร้านชำหรือกิจการธุกิจอื่น ประสบการณ์ที่ได้ถ่ายทอดในวันนี้นับว่ามีประโยชน์ต่อทุกท่านที่กำลังอ่านสามารถในไปปรับใช้ในกิจการของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย
|