Smart Farm

เทคโนโลยีทางด้านเกษตรอันนึงที่คิดว่าประเทศไทยควรพัฒนา และควรเป็นผู้นำให้ได้ นั่นคือ หุ่นยนต์เกษตรกรรม (Farm Robots) เรามีสถาบันการศึกษามากมายที่ทำงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้ แต่น่าเสียดายว่า ที่ผ่านมา เราค่อนข้างเดินไปผิดทาง คือไปเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อไปแข่งขันกันมากกว่าช่วยเหลือภาคเกษตร ไปเน้นการพัฒนาด้านอื่นมากมาย ที่ไม่ได้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ได้ประกาศตัวที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใน AEC ให้จงได้ ดังนั้นในปีที่แล้ว มาเลเซียจึงประกาศจะจัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติทางด้านหุ่นยนต์ศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายจะทำให้มาเลเซียเป็นผู้นำทางด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในกลุ่มประเทศ AEC และติดอันดับโลก

ซึ่งเมื่อมองความตั้งใจของมาเลเซียแล้ว ทำให้คิดว่าประเทศไทยคงเกิดอาการหืดขึ้นคอไม่มากก็น้อย แต่ก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าหันไปเน้นเฉพาะเรื่องของเกษตรกรรม ก็ยังอาจจะพอแข่งได้ โดยจะต้องเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม เครื่องทุ่นแรงต่างๆ ระบบอัจฉริยะที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร ได้ทำงานในไร่ได้ง่ายขึ้น

โดยระบบจะเป็นตัวช่วยตัดสินใจที่จะทำให้เกษตรกร สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และลดความเสียหายในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงแพล็ตฟอร์มทางด้านเกษตรบนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่ ชาวนา ได้มี Applications ทางด้านการเกษตรไว้ช่วยเหลือในการทำนา ทำไร่ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น

Smart Farming Technologies

นักวิจัยทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในเรื่องของหุ่นยนต์เกษตรกรรม เพราะนับวันอาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ยิ่งประเทศพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จำนวนของเกษตรกรก็จะยิ่งลดลง ดังนั้นในอนาคต หุ่นยนต์จึงน่าจะเข้ามาเป็นแรงงานสำคัญในไร่นา สำหรับงานในไร่ที่หุ่นยนต์สามารถทำได้นั้นมีได้มากมาย ตามแต่จินตนาการกันไป ลองหลับตานึกภาพตามกันดู

Farm Robots

หุ่นยนต์ที่เป็นนวัตกรรมภาคเกษตร ที่เราเห็นกันจนคุ้นตา ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเครื่องจักรหนัก ตั้งแต่ระบบการพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ระบบการเก็บเกี่ยวและคัดแยก ระบบการปลูกหรือหยอดเมล็ด ตัวหุ่นยนต์จริงๆ แทบจะไม่มีเลยที่เห็นและก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องและสามารถใช้งานจริงได้ แม้จะมีใช้งานได้แต่ก็แค่ในแปลงสาธิต ไม่ครอบคลุมพื้นที่ ทำได้ก็แค่การสาธิตในระดับเล็กๆ เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาสูง เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่จะนำหุ่นยนต์ไปใช้ในแปลงเกษตร จึงทำให้เครื่องจักรหนัก ได้รับความนิยมมากกว่าหุ่นยนต์ขนาดเล็ก อนาคตในอีกหลายร้อยชาติ Farm Robots เหล่านี้จะแพร่กระจายสู่แหล่งเพาะปลูกของท่าน

- หุ่นยนต์ปลูกผัก สามารถที่จะวิ่งไปตามแปลงผัก ขุดรูแล้วหยอดเมล็ดผักลงไป โดยมันจะขุดรูแต่ละรูให้ห่างกันในระยะที่เท่าๆ กัน แถมยังสามารถหยอดปุ๋ยลงไปในปริมาณที่เท่ากันด้วย

- หุ่นยนต์ล่าแมลง สามารถที่จะวิ่งไปในแปลงปลูก สแกนหาแมลงศัตรูพืช มันสามารถฉีดพ่นยาไปยังตัวแมลงได้อย่างแม่นยำ เราสามารถปล่อยมันอยู่ในไร่ทั้งวันโดยไม่บ่นเลย ซึ่งมันก็จะใช้พลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์ หุ่นยนต์ประเภทเดียวกันนี้ยังใช้ในการถอนวัชพืชต่างๆ โดยปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆ ในไร่ได้ทั้งวัน

- หุ่นยนต์เซ็นเซอร์ ที่จะวิ่งตรวจหาสิ่งผิดปกติต่างๆ ในไร่ หรือ สุ่มตัวอย่างๆ ในไร่ เช่น วิ่งไปดูว่าผลไม้ที่ปลูกในแต่ละต้น เป็นอย่างไร มันสามารถเก็บข้อมูลแล้วจดจำได้อย่างแม่นยำ ทำให้เจ้าของไร่ทราบอย่างละเอียดว่า ต้นไหนมีผลกี่ลูก ขนาดเฉลี่ยเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ประเมินวันเก็บเกี่ยว และทราบปริมาณผลผลิตได้อย่างแม่นยำ

- หุ่นยนต์เซ็นเซอร์ที่วิ่งเก็บข้อมูลในไร่ เช่น ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงต่างๆ รวมทั้งหุ่นยนต์แบบบินได้ (Flying Robots) ที่จะบินขึ้นไปเก็บข้อมูล และภาพมุมสูงของไร่ ทำให้เกษตรกรสามารถตรวจสภาพผลผลิต และปัจจัยต่างๆ เช่น Leaf Index, Chorophyll Index ด้วยเทคโนโลยีที่มีราคาถูก

สำหรับพืชบางชนิดที่ต้องการการเก็บผลผลิตแบบประณีต หุ่นยนต์อาจจะนำมาใช้ในการเก็บเกี่ยวผลจากตัวต้น หรือใช้ดูแลผลไม้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ งานน่าเบื่ออย่างนี้ ต้องหุ่นยนต์เท่านั้น

แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยอาจจะมีหุ่นยนต์ใช้ในภาคการเกษตรในอีกหลายร้อยชาติข้างหน้า ก่อนหน้านั้น ควรแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาคเกษตรให้ได้ก่อน เพราะแม้จะมีหุ่นยนต์เต็มแปลงนา หากน้ำท่วม ก็คงพังกันทั้งหมด คงไม่มีหุ่นยนต์ตัวไหนบินหนีน้ำท่วมได้แน่นอน

ที่มา http://www.farmerlanding.com/smart-farming-technologies.html