“รูปปาก” (Embouchure) ในที่นี้หมายถึง บริเวณริมฝีปากทั้งบนและล่างรวมทั้งบริเวณแก้มและกล้ามเนื้อทั้งหมดบริเวณปาก ที่ใช้ในการเป่าฟลูต โดยทางเทคนิคแล้ว การเล่นฟลูต สามารถจำแนกเทคนิคออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. Embouchure Technique (เทคนิครูปปาก) 2. Finger Technique (เทคนิคนิ้ว) ในการเล่นฟลูตนั้น ไม่ว่าโดยประการใดๆ เทคนิคทุกอย่างย่อมรวมลงในเทคนิคทั้ง 2 ประเภทนี้เท่านั้น ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะอย่างแรก คือ Embouchure Technique (เทคนิครูปปาก) ถ้าเปรียบเทียบกับการเล่นไวโอลิน (Violin) ฟลูตเปรียบได้กับสายไวโอลิน (Strings) ลมที่นักฟลูตเป่าออกมาเปรียบเหมือนคันชัก (Bow) ร่างกายของนักฟลูตเปรียบเหมือนตัวไวโอลิน (Body) ส่วนริมฝีปากของนักฟลูตเทียบได้กับ มือขวาของนักไวโอลินที่จับคันชัก และเล่นเทคนิคต่างๆ ได้ การจับคันชักของนักไวโอลินมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้านักไวโอลินจับคันชักไม่ถูกต้อง การเล่นเทคนิคต่างๆ ก็ไม่สามารถจะทำได้เลย สำหรับฟลูตก็เช่นเดียวกัน ถ้ารูปปากของนักฟลูตไม่ถูกต้องแล้ว การเล่นเทคนิคต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ ![]() รูปปากที่ถูกต้อง รูปปากที่ถูกต้อง คือ รูปปากที่ไม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้ง 2 ข้าง แต่ใช้เฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเบื้องบนของริมฝีปากบน และบริเวณเบื้องล่างของริมฝีปากล่างเท่านั้น ข้อเท็จจริงคือ ถ้าเราเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม เราจะไม่สามารถเป่าฟลูตได้ ไม่ได้หมายความว่าเป่าให้มีเสียงไม่ได้ เพราะคนที่ใช้กล้ามเนื้อผิดที่ในการเป่าฟลูตก็ยังจะเป่าให้มีเสียงดังได้ เพียงแต่จะไม่สามารถเล่นเทคนิคที่ยากๆ ได้ อาจเล่นได้แค่เพลงง่ายๆ เหมือนคนเพิ่งเริ่มเล่นเท่านั้น การกำเนิดเสียงของฟลูต เสียงฟลูตเกิดจากการที่นักฟลูตเป่าลมเป็นเส้นเล็กๆ จากริมฝีปากไปชนบริเวณขอบด้านนอกของรูเป่า (Mouth hole) เมื่อลมที่เป่าออกมาไปชนกับขอบดังกล่าว ลมจะแยกออกเป็น 2 ส่วน ลมส่วนหนึ่งจะวิ่งออกไปภายนอกตัวฟลูต อีกส่วนหนึ่งวิ่งเข้าไปภายในตัวฟลูต เมื่อเป็นเช่นนี้โมเลกุลของฟลูตก็จะสั่นสะเทือนทำให้เกิดเสียงดังขึ้น จะสังเกตได้ว่าส่วนปลายของฟลูตไม่มีลำโพงที่เป็นรูปกรวยหรือที่เรียกว่า “Bell” เหมือนกับเครื่องเป่าชนิดอื่น และเสียงของฟลูตก็ไม่ได้ออกที่ปลายท่อ แต่เสียงฟลูตเกิดขึ้นได้จากการสั่นสะเทือนของโมเลกุลของตัวฟลูตทั้งหมด โดยการที่นักฟลูตเป่าลมไปชนขอบด้านนอกของรูเป่าดังกล่าว ถ้าเราเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม เราจะเป่าให้ลมไปชนที่ขอบด้านนอกไม่ได้ เมื่อเราเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม เราจะไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณเบื้องบนของริมฝีปากได้ และจะทำให้ลมที่เป่าออกมาเลยออกไปที่ภายนอกของตัวฟลูต กล่าวคือลมที่วิ่งออกมาจากริมฝีปากจะไม่ไปชนที่ขอบด้านนอกของรูเป่าดังที่ควรจะเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เป่าด้วยวิธีที่ผิดพลาดดังกล่าวจึงไม่สามารถเป่าให้เกิดเสียงได้โดยง่าย และจะยิ่งกระทำสิ่งที่ผิดพลาดมากขึ้นซ้ำเติมเข้าไปอีก คือจะพยายามเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้มมากขึ้นไปอีก พยายามบีบปากเกร็งกล้ามเนื้อแก้มเพื่อที่จะให้เป่าออกได้ง่ายขึ้น แต่กลับเป็นว่ายิ่งเป่าไม่ออกเข้าไปอีก และเมื่อยิ่งเป่ามากเท่าไรก็จะยิ่งเมื่อยมากขึ้นเท่านั้น วิธีแก้ นักฟลูตส่วนใหญ่ (ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น) จะต้องเอาลมเข้าไปที่บริเวณกระพุ้งแก้ม การเป่าฟลูตของนักฟลูตแต่ละคนย่อมมีหลักการที่เหมือนกัน แต่แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันทางสรีระ สำหรับนักฟลูตส่วนใหญ่ ถ้าไม่นำลมเข้าไปที่บริเวณกระพุ้งแก้ม การที่จะไม่เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้มจะไม่มีทางเป็นไปได้ นักฟลูตจำนวนมาก ถ้าไม่มีช่องว่างระหว่างกระพุ้งแก้มด้านในกับฟันแล้ว การที่จะไม่เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้มจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย อันที่จริง เราไม่ได้ต้องการให้ลมเข้าไปบริเวณนั้นแต่เราต้องการช่องว่างต่างหาก แต่เมื่อช่องว่างที่เป็นสุญญากาศเกิดขึ้นไม่ได้ เราจึงต้องเอาลมเข้าไป เรื่องการนำลมเข้าไปที่กระพุ้งแก้มในการเป่าฟลูตนี้ ในประเทศทางแถบยุโรป (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) ถือเป็นเรื่องปรกติ โดยเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในบรรดาอาจารย์ผู้สอนว่าเป็นเรื่องปรกติที่นักฟลูตหลายๆ คนจะต้องเป่าด้วยวิธีนี้ (อาจารย์จำนวนมากก็เป่าด้วยการนำลมเข้าไปเช่นเดียวกัน) ลักษณะของผู้ที่เป่าด้วยรูปปากที่ผิดคือ 1. ยิ่งเป่ายิ่งเมื่อยแก้ม 2. ยิ่งเป่านานยิ่งเป่าไม่ออก 3. ต้องหมุนฟลูตเข้าหาตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาเป่า โดยเฉพาะเมื่อเป่าเสียงสูง 4. ยิ่งเป่าเท่าไหร่เสียงก็ยิ่งไม่ดี มีแต่เสียงลมเยอะแยะไปหมด ถ้ามีลักษณะดัง 4 ข้อข้างบนนี้ ควรแน่ใจได้เกือบ 100% ว่าเรากำลังเป่าด้วยรูปปากที่ผิดพลาด และถ้าไม่รีบแก้ไข ชีวิตการเป่าฟลูตของเราจะลำบาก! “Sad Face” ไม่ใช่ “Smiling Face”? ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การเป่าฟลูตที่ถูกวิธีจะต้องไม่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณแก้ม โดยเมื่อนักฟลูตเป่าโดยใช้กล้ามเนื้อที่ถูกต้อง บริเวณมุมปากทั้ง 2 ข้างมักจะย้อยลงมาด้านล่างคล้ายกับปากของคนที่กำลังเสียใจ เพราะเหตุนี้จึงมีการพูดกันมากพอสมควรในบางประเทศ (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) ว่า การเป่าฟลูตที่ถูกต้อง ใบหน้าของคนที่เป่าจะต้องดูเหมือนกับคนที่กำลังเสียใจอยู่ (Sad Face) และไม่ใช่ดูเหมือนกำลังยิ้มอยู่ (Smiling Face) อันที่จริง คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่ไม่เสมอไป เพราะนักฟลูตแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันทางสรีระ บางคนใช้กล้ามเนื้อได้อย่างถูกต้องแล้วแต่ยังดูเหมือนกำลังยิ้มอยู่ก็มี บางคนใช้กล้ามเนื้อได้ไม่ถูกต้องแต่ใบหน้าดูเหมือนกำลังเสียใจอยู่ก็มี หลักสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่ว่าดูเป็น “Sad Face” หรือ “Smiling Face” แต่อยู่ที่ต้องไม่เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณแก้มเท่านั้น ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่จะต้องนำลมเข้าไปที่บริเวณกระพุ้งแก้ม การพูดกันแต่ว่าจะต้องดูเป็น “Sad Face” ไม่ใช่ “Smiling Face” โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการนำลมเข้าไปเพื่อให้ไม่ต้องเกร็งปาก จึงเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์และไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหา “Sad Face” ไม่ใช่ “Smiling Face” เป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่เป็นคำพูดที่กล่าวโดยอ้อม หมายความว่าเป็นคำพูดที่ไม่ใช่หลักการที่แท้จริง แต่เป็นคำพูดที่แสดงถึงผลที่มาจากเหตุ คือเป็นผลของการเป่าฟลูตด้วยวิธีการที่ถูกต้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เป็นคำพูดที่กล่าวโดยอ้อม เพราะเป็นคำพูดที่แสดงความจริงเพียงส่วนเดียว คือไม่ใช่ทุกคนจะต้องเป็นแบบนั้น สำคัญที่เดือนแรกที่เริ่มเป่า การใช้กล้ามเนื้อบริเวณปากได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด เป็นหัวใจของการเป่าฟลูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้สามารถเล่นเทคนิคขั้นกลางและขั้นสูงได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการเรียนครั้งแรกๆ เพราะการที่ผู้เรียนจะมีรูปปากที่ถูกต้องหรือไม่ สำคัญอยู่ที่เดือนแรกที่เริ่มเรียน กล่าวคือ ในเดือนแรกที่เริ่มเรียนนั้น หากอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนไม่พยายามระมัดระวังให้ดี ผู้เรียนก็จะมีรูปปากที่ผิดพลาดไปตลอด จนกระทั่งเกิดความเคยชิน และการกลับมาแก้ไขในภายหลังย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง ซึ่งหลายๆ คนอาจต้องใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปีที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว (มีน้อยคนที่จะสามารถแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว) แต่ถ้าผู้เรียนมีรูปปากที่ถูกต้องตั้งแต่เดือนแรก ผู้เรียนนั้นมักจะไม่มีปัญหาเรื่องรูปปากอีกเลยชั่วชีวิต ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของผู้เรียนคนนั้นๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยปรกติผู้เรียนที่เป่าด้วยรูปปากที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มเรียนมีศักยภาพที่จะเล่นบันไดเสียง C major ได้ถึง 3 ออคเทฟ (C major Scale in 3 octaves) ภายในระยะเวลา 3 เดือน การที่อาจารย์สอนฟลูตสอนให้ผู้เริ่มเรียนฟลูตเป่าด้วยรูปปากที่ถูกต้อง ก็เป็นเช่นเดียวกับการที่อาจารย์สอนไวโอลินสอนให้ผู้เริ่มเรียนไวโอลินจับคันชักไวโอลินอย่างถูกต้องนั่นแหละ |