คำว่า “Chamber” มีความหมายตามศัพท์ว่า “ห้อง” “Chamber Music” จึงหมายถึงดนตรีที่แสดงในห้อง หรือเป็นดนตรีที่แสดงในโรงแสดงดนตรีขนาดเล็กไม่ใช่โรงแสดงดนตรีขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงเป็นดนตรีประเภทที่แสดงโดยนักดนตรีน้อยคน อาจมีเพียง 2 คนหรือมากกว่านั้นจนถึง 10 คนก็ได้ การแสดงร่วมกันเป็นกลุ่ม 2 – 10 คนนี้ เรียกว่า “Ensembles” มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปดังนี้ Duo หรือ Duet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 2 คน Trio – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 3 คน Quartet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 4 คน Quintet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 5 คน Sextet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 6 คน Septet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 7 คน Octet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 8 คน Nonet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 9 คน Decet – ดนตรีที่แสดงโดยนักดนตรี 10 คน คำว่า “Chamber Music” นอกจากเป็นชื่อเรียกประเภทของดนตรีหรือกลุ่มผู้แสดงดนตรีแล้ว ยังเป็นชื่อของวิชาบังคับที่ต้องเรียนในวิทยาลัยดนตรีขั้นสูง (Conservatoires) อีกด้วย วิชาดนตรีเชมเบอร์ (Chamber Music) ถือว่าเป็นวิชาที่สำคัญรองลงมาจากวิชาเครื่องดนตรี (Flute, Violin etc.) เพราะเป็นวิชาที่จะทำให้ผู้เรียนมีความเป็นนักดนตรีอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นวิชาบังคับที่ขาดไม่ได้ เหมือนมีข้าวก็ต้องมีกับข้าว ไม่ใช่วิชาที่เน้นทางด้านเทคนิค ในวิทยาลัยดนตรีขั้นสูง (Conservatoires) วิชาที่ผู้เรียนจะได้เรียนทางด้านเทคนิคโดยตรงคือ วิชาเครื่องดนตรี เช่น ฟลูต ไวโอลิน เปียโน เป็นต้น ใครเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็เรียนเทคนิคของเครื่องดนตรีชนิดนั้น ส่วนวิชาดนตรีเชมเบอร์ (Chamber Music) เป็นวิชาที่เน้นไปในเนื้อหา 2 อย่าง คือ 1. Ensemble ได้แก่ วิธีการบรรเลงดนตรีให้เข้ากับผู้อื่น หมายถึง ทักษะที่จะทำให้เล่นได้พร้อมกัน 100% นักดนตรีที่มีแต่เทคนิค แต่ไม่สามารถเล่นให้เข้ากับผู้อื่นได้ ก็เท่ากับเป็นนักดนตรีที่ไร้ค่า และไม่จัดเป็นนักดนตรีที่แท้จริง เทคนิคที่ฝึกฝนมาอย่างดีนั้นเท่ากับเป็นหมัน เปรียบเหมือนผู้หญิงสวยที่มีสามีเป็นขันที นับเป็นความสวยที่เปล่าประโยชน์ อนึ่ง วิชานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดหรือหลักการว่า “นักดนตรีที่มีทักษะในการเล่นดนตรีกลุ่มเล็กได้ดี จะสามารถเล่นดนตรีในกลุ่มใหญ่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ขนาดใดก็ตาม” หมายความว่า ทักษะในการเล่นดนตรีกลุ่มเล็ก ก็เป็นเช่นเดียวกับทักษะในการเล่นดนตรีกลุ่มใหญ่นั่นเอง แต่เนื่องจากการเรียนการสอนการเล่นดนตรีกลุ่มใหญ่ทำได้ยากกว่า (จัดชั้นเรียนได้ยากกว่า สอนให้ผู้เรียนจำนวนมากเข้าใจได้ยากกว่า) การฝึกทักษะในการเล่นดนตรีเป็นกลุ่มเล็กๆ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง เพราะเมื่อมีทักษะในการเล่นดนตรีกลุ่มเล็ก ก็เท่ากับมีทักษะในการเล่นดนตรีกลุ่มใหญ่ 2. Interpretation การตีความบทเพลงอย่างเหมาะสม นอกจาก Ensemble แล้ว ผู้เรียนยังจะได้เรียนแนวทางการตีความบทเพลงอย่างเหมาะสม ดนตรีในแต่ละยุคย่อมมีความแตกต่างกัน หรือดนตรีในยุคเดียวกัน บทเพลงของผู้ประพันธ์เพลงแต่ละท่านก็ย่อมมีความแตกต่างกัน รวมความแล้ว วัตถุประสงค์ของการเรียนวิชาดนตรีเชมเบอร์ ก็คือ การเรียนรู้และพัฒนาทักษะการบรรเลงให้ได้เข้ากันให้มากที่สุด โดยมีความเป็นดนตรีมากที่สุด ใครสอน? เนื่องจากเป็นวิชาที่ไม่เน้นด้านเทคนิคของเครื่องดนตรี ผู้เรียนจึงไม่จำเป็นต้องเรียนกับอาจารย์ที่เล่นเครื่องดนตรีอย่างเดียวกับตนเอง แท้ที่จริงแล้ว ในทางดนตรีคลาสสิกตะวันตก การที่นักดนตรีคนหนึ่งๆ จะสามารถรู้จักเทคนิคของเครื่องดนตรีทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ที่เรียนวิชานี้จึงไม่จำเป็นต้องขวนขวายที่จะเรียนกับอาจารย์ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันกับตน โดยทั่วไป วิชานี้ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องเรียนกับอาจารย์ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดใดโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม สำหรับดนตรีที่เล่นโดยกลุ่มเครื่องดนตรีบางอย่าง การเรียนกับอาจารย์ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันหรือคล้ายกันกับเครื่องดนตรีของตนก็ควร เช่น - String Quartet (2 Violins, Viola, Cello) ควรเรียนกับอาจารย์ที่เป็นนักเล่นเครื่องสาย - Wind Quintet (Flute, Oboe, Clarinet, Horn, Bassoon) ควรเรียนกับอาจารย์ที่เป็นนักเล่นเครื่องเป่า เป็นต้น อันที่จริง ผู้ที่สอนวิชานี้จะต้องเป็นนักดนตรีฝีมือดี ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการบรรเลงดนตรีประเภทเชมเบอร์ (Chamber Music) มีความสามารถในการตีความบทเพลงอย่างเหมาะสม แม้ในการฟังเพียงครั้งแรก ทั้งที่ไม่เคยรู้จักบทเพลงนั้นๆ มาก่อนเลย การจัดชั้นเรียนที่ได้รับความนิยม ในการจัดชั้นเรียนนั้น เป็นการจัดตามบทเพลง (Repertoires) ที่มีอยู่ในยุคต่างๆ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดชั้นเรียนโดยที่ไม่มีบทเพลงให้เล่น ตัวอย่างเช่น เนื่องจากไม่มีบทเพลงที่ประพันธ์ไว้สำหรับ ผู้เล่นฟลูต 1 คน กับผู้เล่นทรอมโบน 1 คน ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดชั้นเรียนดังกล่าว บทเพลงประเภทเชมเบอร์ (Chamber Music Repertoires) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก คือ บทเพลงที่ประพันธ์ไว้สำหรับเครื่องดนตรี 2 เครื่อง ซึ่ง 1 ในนั้นคือ เปียโน เช่น - Flute & Piano - Violin & Piano - Clarinet & Piano - Cello & Piano - ฯลฯ เนื่องจากบทเพลงส่วนใหญ่ของเครื่องดนตรีอื่น (ยกเว้นเปียโน) มักเป็นบทเพลงที่มีเปียโนบรรเลงประกอบ (Accompany) การจัดชั้นเรียนในแบบกลุ่มละ 2 คนโดยที่มีเปียโนอยู่ด้วยจึงเป็นชั้นเรียนที่จัดได้ง่าย และได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม การจัดชั้นเรียนแบบอื่นๆ ก็ควรเช่นกัน เช่น - Flute, Violin & Piano - 2 Flutes & Piano - Oboe, Clarinet & Piano - Flute Quartet - Woodwind Quintet - Piano Trio (Violin, Cello, Piano) - ฯลฯ ความจริง โดยสรุปแล้วถ้ามีบทเพลงให้เล่น จะจัดชั้นเรียนแบบใดก็ได้ (ถ้าสามารถจัดได้) ทักษะที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับนักเปียโน หากจะจำแนกประเภทของบทเพลงสำหรับเปียโน ก็สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ บทเพลงเดี่ยวเปียโน (Piano Solo Repertoires) และบทเพลงที่เล่นกับเครื่องดนตรีอื่น บทเพลงที่เล่นกับเครื่องดนตรีอื่น โดยมากเป็นบทเพลงที่เปียโนทำหน้าที่เป็นผู้บรรเลงประกอบ (Piano Accompany) ทักษะในการบรรเลงประกอบ (Accompaniment) จึงถือว่าเป็นทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเปียโนทุกคน วิชาดนตรีเชมเบอร์ (Chamber Music) นั่นเองเป็นวิชาที่จะทำให้นักเปียโนมีทักษะในการบรรเลงประกอบ (Accompaniment) อาจกล่าวได้ว่า นักเปียโนที่ไม่ผ่านการเรียนวิชานี้ หรือฝึกฝนทักษะในวิชานี้ไม่เพียงพอ ย่อมไม่สามารถเป็นนักเปียโนที่แท้จริงได้เลย ไม่มีนักเปียโนคนใดที่สามารถทำหน้าที่บรรเลงประกอบได้ดีโดยไม่ผ่านการเรียนวิชานี้ การบรรเลงได้อย่างสบาย โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเล่นพร้อมกันกับนักเปียโนหรือไม่ เป็นที่ต้องการของผู้บรรเลงเดี่ยว (ที่เล่นเครื่องดนตรีอื่น) ทุกคน ผู้บรรเลงเดี่ยวทุกคนย่อมปรารถนาที่จะเล่นกับนักเปียโนที่มีทักษะในการบรรเลงประกอบที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่ปรารถนาที่จะเล่นกับนักเปียโนที่บรรเลงแบบตัวใครตัวมันโดยที่ไม่ตามผู้บรรเลงเดี่ยวเลย การเรียนการสอน โดยปรกติ การเรียนดนตรีเชมเบอร์เป็นการเรียนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ในระหว่างสัปดาห์ผู้เรียนจะต้องนัดซ้อม (Rehearsal) กันเองประมาณ 1-2 ครั้งก่อนเข้าเรียน [ก่อนซ้อมร่วมกัน แต่ละคนก็จะต้องซ้อมด้วยตนเอง (Practice) จนเล่นได้ก่อน1] ในการนี้ ผู้ที่เรียนจะได้ฝึกทักษะในการฝึกซ้อมและการทำงานร่วมกับนักดนตรีคนอื่นๆ ทักษะนี้เป็นทักษะที่สำคัญต่อการเป็นนักดนตรีที่ดี เทคนิคที่ดีพอ การเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่การเล่นดนตรีให้เข้ากับผู้อื่นอย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง นักดนตรีมือสมัครเล่นหรือผู้ที่เริ่มเรียนดนตรีย่อมสามารถเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ย่อมไม่สามารถเล่นให้เข้ากันได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังขาดจิตวิญญาณ (Spirit) ของดนตรีที่เล่นอยู่นั้น ธรรมดาผู้ที่มีขาไม่แข็งแรงย่อมไม่สามารถวิ่งได้ฉันใด ผู้ที่ไม่มีเทคนิคที่ดีพอ ย่อมไม่สามารถเล่นให้เข้ากับผู้อื่นได้ฉันนั้น ดังนั้น ผู้ที่เรียนวิชาดนตรีเชมเบอร์ จึงต้องเป็นผู้ที่มีเทคนิคที่ดีพอเท่านั้น เพราะวิชาดนตรีเชมเบอร์ ไม่ใช่วิชาเล่นดนตรีร่วมกันผู้อื่น แต่คือวิชาที่ฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถเล่นดนตรีได้เข้ากันกับผู้อื่นอย่างแท้จริง ดนตรีเชมเบอร์ (Chamber Music) จึงเป็นวิชาสำหรับผู้ที่เรียนดนตรีในขั้นสูงเท่านั้น Prof. Devy ERLIH “To play without spirit means nothing!!” การบรรเลงที่ปราศจากจิตวิญญาณที่แท้จริงของดนตรี เป็นการบรรเลงที่ไม่มีความหมาย ________________________________________ เชิงอรรถ 1 การฝึกซ้อมมี 2 อย่าง คือ 1) Practice (ซ้อมตัวเอง) และ 2) Rehearsal (ซ้อมร่วมกับผู้อื่น) |
ปกิณกะ >