การเรียนดนตรีมีการเรียนอยู่ 2 อย่างคือ 1. เทคนิค (Technique) การแสดงดนตรีที่มีความไพเราะ ประกอบด้วยคุณค่าทางดนตรี มีคุณค่ามากกว่าการแสดงที่มีแต่เทคนิคอย่างเดียว แต่ปราศจากอารมณ์ความรู้สึก การแสดงที่มีแต่เทคนิค เป็นเหมือนการแสดงกายกรรมให้เกิดเสียง (ด้วยเครื่องดนตรี) ย่อมไม่ใช่การแสดงดนตรีที่แท้จริง (จะแสดงไปเพื่ออะไร?!) อย่างไรก็ตาม หากปราศจากเทคนิค ดนตรีก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะแม้ว่าบุคคคลจะมีความซาบซึ้งกับดนตรีเพียงใด หรืออาจรู้ทุกอย่างว่าต้องแสดงอย่างไรให้ไพเราะ แต่ถ้าไม่มีเทคนิค ก็เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลนั้นจะทำให้ผู้อื่นเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นดนตรีนั้นได้ เทคนิค (Technique) จึงเป็นเหมือนศักยภาพ หรือเครื่องมือที่จะทำให้นักดนตรีคนหนึ่งๆ สามารถแสดงดนตรี (Music) คือความไพเราะของบทเพลงให้ปรากฏได้ จิตรกรที่ตาบอดหรือมือเท้ากุด ย่อมไม่สามารถสร้างผลงานได้ฉันใด นักดนตรีที่ปราศจากเทคนิคก็ไม่สามารถแสดงดนตรี (Music) ได้ฉันนั้น ซึ่งอันที่จริงจะเรียกผู้ที่ตาบอดและมื่อเท้ากุดว่า “จิตรกร” ไม่ได้ เช่นเดียวกับจะเรียกผู้ที่ไม่มีเทคนิคของเครื่องดนตรีว่า “นักดนตรี” ไม่ได้1 ด้วยเหตุนี้ นักดนตรีที่แท้จริง (Musician) จึงต้องมีคุณสมบัติทั้ง 2 อย่างคือ มีทั้งเทคนิค (Technique) และ ดนตรี (Music) เทคนิคเป็นเหตุให้ดนตรีเกิดขึ้นได้ แต่บทเพลงต่างๆ ก็อาศัยเทคนิคที่ไม่เท่ากัน กล่าวคือ บทเพลงบางบทง่าย บางบทก็ยาก ผู้ที่มีเทคนิคของเครื่องดนตรีน้อยจะสามารถแสดงได้แต่เฉพาะบทเพลงที่ง่าย แต่ผู้ที่มีเทคนิคมากจะสามารถแสดงได้ทั้งบทเพลงที่ง่ายและบทเพลงที่ยาก ส่วนผู้ที่มีความสามารถในการเล่นเทคนิคขึ้นสูง ย่อมเป็นผู้ที่ไม่มีขีดจำกัดทางด้านเทคนิค ย่อมสามารถเล่นบทเพลงได้ทุกประเภทไม่จำกัด ผู้ที่มีความสามารถในการเล่นเทคนิคขั้นสูงเป็นผู้ที่มีอิสระที่จะแสดงดนตรี โดยปราศจากความกังวลทางด้านเทคนิค บทเพลง (Repertoires) ส่วนใหญ่ประพันธ์ขึ้นสำหรับนักดนตรีอาชีพที่ไม่มีปัญหาด้านเทคนิค นักประพันธ์เพลง (Composers) โดยมากไม่ได้ประพันธ์บทเพลงให้กับนักดนตรีสมัครเล่น หรือนักดนตรีที่มีเทคนิคน้อยๆ นักประพันธ์เพลงส่วนใหญ่จะไม่คำนึงว่า นักดนตรีที่ต้องการแสดงผลงานของตนมีปัญหาทางเทคนิคหรือไม่ โดยคิดว่าปัญหาทางเทคนิคเป็นปัญหาของนักดนตรีเอง ไม่ใช่ปัญหาของนักประพันธ์เพลง และคิดว่าผู้ที่มีเทคนิคไม่เพียงพอก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องแสดงผลงานของตน ผู้ที่มีเทคนิคที่เพียงพอ (ที่มีอยู่เป็นจำนวนมิใช่น้อย) เท่านั้นจึงจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะแสดงผลงานที่ตนประพันธ์ขึ้น ในปัจจุบัน เทคนิคของเครื่องดนตรีต่างๆ พัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุด บทเพลงในยุคหลังๆ จึงเป็นบทเพลงที่ต้องอาศัยเทคนิคในการบรรเลงมากกว่าบทเพลงในยุคก่อนๆ ผู้ที่ปราศจากปัญหาทางด้านเทคนิค จึงเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่จะแสดงบทเพลงได้ทุกยุคสมัย และอันที่จริงไม่ใช่แต่เฉพาะบทเพลงคลาสสิกเท่านั้น ยังจะสามารถแสดงบทเพลงประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย การแสดงดนตรี (Music Performance) คือ การแสดงดนตรี (Music Performance) ไม่ใช่การแสดงเทคนิค (Technique Performance) วัตถุประสงค์ในการแสดงดนตรี คือ การแสดงดนตรี การแสดงเทคนิคที่ปราศจากดนตรีหรือมีคุณค่าทางดนตรีอยู่น้อยจึงไม่ใช่การแสดงดนตรีที่แท้จริง (ไม่มีใครอยากฟัง) การแสดงดนตรีในบทเพลงที่ง่ายกว่า ย่อมดีกว่าการแสดงบทเพลงที่ยากกว่าแต่ปราศจากดนตรี “เทคนิคน้อยแต่ดนตรีเยี่ยม” ย่อมดีกว่า “เทคนิคเยี่ยมแต่ดนตรีน้อย” แต่ “เยี่ยมทั้งเทคนิค เยี่ยมทั้งดนตรี” ย่อมดีว่าทั้งสองอย่างนั้น อันที่จริง เทคนิคก็เป็นส่วนหนึ่งของดนตรี หมายความว่า ความรู้สึกทางดนตรีบางอย่างก็แสดงออกได้ด้วยเทคนิคขั้นสูงเท่านั้น เป็นความรู้สึกที่เจิดจ้า เต็มไปด้วยพละกำลัง (Brilliant) เทคนิคขั้นสูงดังกล่าว เรียกว่า “Virtuosity” ส่วนนักดนตรีที่มีความสามารถในการเล่นเทคนิคขั้นสูงนั้น เรียกว่า “Virtuoso” “Virtuoso” (รูปพหูพจน์เรียก “Virtuosi”) หมายถึง สุดยอดนักดนตรีที่สามารถดึงดูดใจผู้ชมด้วยดนตรี และทำให้ตกตะลึงด้วยเทคนิค
การแข่งขันทางดนตรีระดับนานาชาติที่เป็นรายการใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้นักดนตรีที่เป็นสุดยอดทั้งด้านเทคนิคและสุดยอดทั้งด้านดนตรีปรากฏชัดในวงการดนตรีโลก ซึ่งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่วัดและประเมินผลการแข่งขันก็ย่อมต้องเป็นสุดยอดนักดนตรีเช่นกัน การแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลกดังกล่าวนั้น ก็ย่อมมีการวัดและการประเมินใน 2 ด้าน คือ เทคนิค (Technique) และ ดนตรี (Music) แน่นอนว่าบทเพลงที่ใช้ในการแข่งขันย่อมต้องเป็นบทเพลงที่ต้องเล่นด้วยเทคนิคขั้นสูง เพราะผู้ที่มีเทคนิคที่ไม่เพียงพอจะเป็นสุดยอดนักดนตรีไม่ได้ ในการวัดและประเมินผลทั้ง 2 ด้านนั้น เทคนิคเป็นเรื่องที่วัดและประเมินผลได้ง่ายกว่า คือข้อบกพร่องทางด้านเทคนิคเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนกว่า ในการแข่งขัน นักดนตรีที่มีข้อบกพร่องทางด้านเทคนิคจะถูกคัดออกไปก่อนในรอบแรก (ตกรอบ) จะเหลืออยู่แต่เฉพาะผู้ที่ปราศจากปัญหาทางเทคนิคเท่านั้น แล้วจึงค่อยมาวัดและประเมินผลทางด้านดนตรีในรอบหลังๆ ต่อไป ดังนั้น การแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติ โดยเฉพาะที่เป็นรายการใหญ่และสำคัญ แต่ละรายการมักแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 – 3 รอบขึ้นไป (มักมี 3 – 4 รอบ) การแข่งขันรอบแรกเรียกกันว่า “Eliminatoire” หรือ “Elementary” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคัดเอาผู้ที่มีข้อบกพร่องทางเทคนิคออกไปก่อน2 ในการแข่งขันรอบต่อๆ ไป จึงค่อยคัดเอาผู้ที่มีเทคนิคและดนตรีด้อยกว่าออกไปเป็นลำดับ จนเมื่อถึงรอบสุดท้าย จะเหลือแต่นักดนตรีที่ไม่มีปัญหาทางด้านเทคนิคอยู่เลย จะมีก็แต่ความแตกต่างกันในด้านดนตรีอยู่บ้างเท่านั้น ความจริงในรอบสุดท้ายนี้ นักดนตรีแต่ละคนมีดนตรีที่ถือว่าเยี่ยมยอดอยู่แล้ว แต่ยังเห็นได้ไม่จัดเจนพอที่จะตัดสินขั้นเด็ดขาดในรอบก่อนๆ จึงต้องมาตัดสินกันในรอบสุดท้าย และแน่นอนว่า ผู้ที่มีดนตรี (Music) ดีที่สุดจะเป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ3 จะเห็นได้ว่า ในรอบแรกเป็นการวัดและประเมินผลทางด้านเทคนิคเป็นหลัก ส่วนในรอบสุดท้าย กลับเป็นการวัดและประเมินผลทางด้านดนตรี ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ดนตรีมีความสำคัญกว่าเทคนิค แต่เทคนิคขั้นสูงย่อมเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในการรองรับดนตรีขั้นสุดยอด อาจารย์ท่านหนึ่งของผู้เขียนที่เป็นสุดยอดนักดนตรี ได้กล่าวไว้ว่า “To play without spirit means nothing” – Prof. Devy ERLIH “การบรรเลงที่ปราศจากจิตวิญญาณทางดนตรีเป็นการบรรเลงที่ไม่มีความหมาย (อย่างบรรเลงดีกว่า)” คำว่า “Spirit” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงดนตรีเท่านั้น แต่หมายความถึง ดนตรี + เทคนิคที่ยอดเยี่ยม
1 สำหรับนักดนตรีที่เป็นนักร้อง อวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ทำให้การร้องเกิดขึ้นได้ถือเป็นเครื่องดนตรี 2 สำหรับฟลูต นักดนตรีที่เข้าแข่งขันในรอบแรกแทบทุกคนอาจมีเทคนิคที่ดีมาก คืออาจเล่นได้ไม่ผิดเลยก็ได้ แต่เสียงอาจไม่ดี โดยเป็นเสียงที่ลีบเล็ก ไม่อบอุ่นและเติมอิ่ม เสียงไม่ดีก็ถือว่าเทคนิคไม่ดีเช่นเดียวกัน สุดยอดนักดนตรีจะเป่าด้วยเสียงไม่ดีไม่ได้ ฉะนั้นคณะกรรมการอาจคัดเอาผู้ที่เป่าด้วยเสียงที่ไม่ดีออกไปก่อน แม้จะเล่นไม่ผิดเลยก็ตาม อย่างไรก็ตามอาจมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่เสียงไม่ดี แต่ดนตรีดีมากอย่างเห็นได้ชัด 3 ในการนี้ หากไม่มีผู้ที่เป็นสุดยอดนักดนตรีอย่างแท้จริง อาจไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ หรืออาจแม้กระทั่งไม่มีผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง |