การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานดังนี้
1. จำแนกกลุ่มเป้าหมาย โดยการจำแนกนักเรียนออกตามลักษณะของพฤติกรรมที่แสดงออก แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1) กลุ่มนักเรียนที่ไม่เคยใช้ยาเสพติด 2) กลุ่มนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการใช้ เหล้า บุหรี่ หรือเริ่มทดลองใช้ยาเสพติดบางชนิด และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนอื่น ๆ แต่ยังไม่ติดยาเสพติด 3) กลุ่มนักเรียนที่ติดยาเสพติด 4) กลุ่มนักเรียนที่มีพฤติกรรมการค้ายาเสพติด การจำแนกนักเรียนทำได้หลายวิธี ดังนี้ 1. ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย ปัจจุบันนิยมใช้วิธีการตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะ 2. ใช้ แบบทดสอบโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแบบประเมินตนเอง (SDQ : The Strengths and Difficulties Questionnaire) ให้กับสถานศึกษาเพื่อใช้คัดกรองปัญหาและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่นักเรียน แบบประเมินตนเอง (SQD) นี้มีความเหมาะสมที่จะใช้กับเด็กอายุระหว่าง 14 – 16 ปี 3. คำสารภาพของนักเรียนหรืออาจารย์แนะแนว และจากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาคุณธรรม โดยทีมพระวิทยากร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจำแนกกลุ่มนักเรียน คือ ข้อมูลการจัดกลุ่มนักเรียนต้องเป็นความลับ รู้เฉพาะในกลุ่มคณาจารย์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น การจำแนกกลุ่มเป้าหมายตามลักษณะของพฤติกรรมเสี่ยงเช่นนี้จะทำให้สามารถกำหนดมาตรการที่จะดำเนินงานกับแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน 2. ผสมผสานมาตรการในการดำเนินงาน โดยใช้มาตราการทั้ง 3 มาตรการ คือ 1) การป้องกันยาเสพติด โดยดำเนินการทั้ง การให้การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร การแทรกแซง พฤติกรรมการใช้ยาเสพติด การแนะแนวหรือการให้คำปรึกษาและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ 2) การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ 3) การปราบปรามยาเสพติด การที่จะเลือกใช้มาตรการใดในการดำเนินงานขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาจากการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่จำแนกไว้ 3. ระดมทรัพยากรของโรงเรียนและชุมชน การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยการระดมทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาทุกคน อันได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้บริหารสมาคมครูและผู้ปกครอง หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนองค์กรเอกชนในท้องถิ่น 4. การให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เนื่องจากปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาเป็นเรื่องที่นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นการให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นแนวทางให้เกิดการยอมรับและยึดถือปฏิบัติตามโโยดุษฎีอีกทั้งเป็นแนวร่วมในการดำเนินงานง่ายต่อการขยายผลไปสู่นักเรียนทุกคนกิจกรรมที่นักเรียนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินวานได้แก่ การจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันยาเสพติดต่าง ๆ การจัดกิจกรรมเพื่อนเพื่อเพื่อน การจัดกิจกรรมชมรมต่อต้านยาเสพติดในโรงเรียน โดยกิจกรรมเหล่านี้ควรมีครูอาจารย์เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำต่อนักเรียนด้วย การที่นักเรียนได้มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์เช่นนี้ เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ และทักษะทางสังคมให้แก่นักเรียนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย แนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หลักการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม มีการดำเนินงานในแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มนักเรียนที่ไม่เคยใช้ยาเสพติด การดำเนินงานป้องกันยาเสพติดแก่กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้ยาเสพติดเป็นการดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดระยะยาว โดยมีมาตรการในการดำเนินงานแก่นักเรียน ดังนี้ 1) มาตรการทางการศึกษา ในการให้การศึกษาเพื่อป้องกันยาเสพติด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ปรับเปลี่ยนเจตนคติและการปฏิบัติตนของนักเรียนเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมีลักษณะของการดำเนินงาน 3 ลักษณะ คือ 1. การกำหนดเนื้อหาความรู้เรื่องการป้องันยาเสพติดในหลักสูตร เพื่อให้มีการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นที่กำหนดหลักสูตรไว้ ในระดับประถมศึกษาจะมีเนื้อหาดังกล่าวอยู่ในวิชาเสริมสร้างประสบการณืชีวิต ส่วนในระดับมัธยมศึกษาจะมีเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดในวิชาสุขศึกษาและพลานามัย 2. การผนวกเนื้อหายาเสพติดเข้าไปในวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีหลักสูตรกำหนดไว้ โดยครูอาจารย์พิจารณาตามความเหมาะสมในวิชาต่าง ๆ หรือมอบหมายให้นักเรียน นักศึกษาค้นคว้า เขียนเป็นรายงานหรือเรียงความภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ เป็นต้น 3. การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อประโยชน์ในการป้องกันยาเสพติด กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันยาเสพติดที่เสริมหลักสูตร ได้แก่ การจัดตั้งชมรมต่อต้านยาเสพติดในโรงเรียน การจัดค่ายฝึกทักษะชีวิต กิจกรรม ลูกเสือ-เนตรนารี กิจกรรมกลุ่มเพื่อน กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้งกับการป้องกันยาเสพติดที่ได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินการในสถานศึกษา 2) มาตรการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มาตรการในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มุ่งรณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันยาเสพติดแก่นักเรียน เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหายาเสพติด การรู้จักปฏิบัติตน และการมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหายาเสพติด กิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียนได้ดำเนินการมี ดังนี้ 1. การจัดป้ายนิเทศในชั้นเรียนหรือตามบอร์ดต่าง ๆ ในโรงเรียน 2. การจัดนิทรรศการในเวลาและโอกาสที่สำคัญ เช่น วันต่อต้านยาเสพติด 3. การจัดเสียงตามสายในโรงเรียน 4. การจัดกิจกรรมหน้าเสาธง 5. การจัดทำโปสเตอร์ และแผ่นพับ เพื่อเผยแพร่ในสถานศึกษา 6. การจัดบรรยายและการจัดอภิปรายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 7. การจัดการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในโรงเรียน กิจกรรมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ดังกล่าว นักเรียนสามารมีส่วนร่วมดำเนินการได้ โดยมีครูอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำและส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ 3) มาตรการทางเลือก มาตรการทางเลือกเป็นมาตรการที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และความสามารถทางอาชีพของนักเรียน โดยมีการดำเนินกิจกรรมทางเลือกด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ด้านสุขภาพอนามัย ได้แก่ การส่งเสริมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา เช่น การแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียน การจัดแข่งขันระหว่างโรงเรียน การออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาตามโครงการ ลานกีฬาตามโครงการ ลานกีฬาเพื่อการป้องกันยาเสพติดและนันทนาการอื่น ๆ 2. ด้านจริยธรรม ได้แก่ การมีส่วนร่วมกิจกรรมทางศาสนาในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา การอบรมศีลธรรม การฝึกนั่งสมาธิ และการส่งเสริมประเพณีไทย 3. ด้านสังคม เช่นการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น ชมนมคณิตศาสตร์ ชมรมคอมพิวเตอร์ ชมรมภาษาอังกฤษ และชมรมต่อต้านยาเสพติด- เอดส์ ชมรมดนตรี การร่วมกิจกรรมอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ในโรงเรียน กิจกรรมลูกเสือ – เนตรนารี กิจกรรมค่ายเยาวชน เป็นต้น 4. ด้านการฝึกอาชีพ ได้แก่ กิจกรรมสหกรณ์ กิจกรรมบริษัทจำกัด ในโรงเรียนและกิจกรรมโครงการส่งเสริมการเกษตรในโรงเรียน เป็นต้น 4) การฝึกทักษะชีวิต การฝึกทักษะชีวิตมีวัตถุประสงค์ในการสร้างคุณลักษณะ หรือความสามารถในเชิงสังคมจิตวิทยาให้กับนักเรียนเพื่อให้สามารถเผชิญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทักษะชีวิตจะเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ในสังคมที่ได้มาจากการฝึกฝนจนชำนาญนั่นเอง ทักษะชีวิตที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้ปลอดภัยจากยาเสพติด ได้แก่ ทักษะในการคิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ ทักษะในการประเมินศักยภาพของตนเอง ทักษะในการคิดหาทางเลือกและตัดสินใจ ทักษะในการปฏิเสธต่อรองรักษาผลประโยชน์ของตน ทักษะในการสื่อสาร และทักษะในการควบคุมอารมณ์และความเครียด เป็นต้น การฝึกทักษะชีวิตจะต้องใช้ กระบวนการฝึกแบบมีส่วนร่วมโดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียน การฝึกจะต้องเน้นการแสดงแบบอย่าง การระดมสมอง และการฝึกปฏิบัติโดยอาศัยบทบาทสมมุติ เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์ โดยการสอดแทรกการฝึกทักษะชีวิตเข้าไปในกิจกรรมการเรียน การสอนวิชาต่าง ๆ โดยครูผู้สอนวิชานั้น ๆ หรืออาจจัดเป็นกิจกรรมแยกออกต่างหากจากการเรียนการสอน เช่น การจัดค่าย หรือจัดกิจกรรมฝึกทักษะชีวิตโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาชดการฝึกทักษะชีวิตให้หลากหลายรูปแบบและหลากหลายทักษะ เพื่อให้ครูอาจารย์นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5) การใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อน ในช่วงของวัยรุ่น “เพื่อน “ นับว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิด เจตคติ และพฤติกรรมของวัยรุ่นด้วยกัน การดำเนินงานป้องกันยาเสพติดได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของกลุ่มเพื่อน จึงได้มีการใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันยาเสพติด โโยมีรากฐานความเชื่อมั่นในความสำคัญของกลุ่มเพื่อนว่ามีอิทธิพลสามารถที่จะโน้มน้าวชักจูงเพื่อนในกลุ่มด้วยการแนะนำ ให้ความช่วยเหลือเพื่อนในกลุ่มที่มีปัญหาให้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ก็สามารถที่จะป้องกันนักเรียนที่มีปัญหามิให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นกลุ่มเพื่อนยังสามารถให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมกลุ่มเพื่อนดำเนินการโดยการฝึกอบรมนักเรียน นักศึกษา ที่มีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ ให้ไปเป็นแกนของกลุ่มเพื่อน และมอบหมายบทบาทให้ปฏิบัติ เช่น บทบาทในการเป็นเพื่อนเรียน เพื่อนสนิท ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่ม โดยมีครูอาจารย์เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อนอย่างใกล้ชิด ผู้นำของกลุ่มที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี สามารถที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกในกลุ่มในด้านการเรียน การป้องกันและแก้ไขปัญหาชีวิตด้านต่าง ๆ รวมถึงปัญหาการใช้ยาเสพติดด้วย กิจกรรมกลุ่มเพื่อนมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น เพื่อนเพื่อเพื่อน เพื่อนช่วยเพื่อน และเพื่อนเตือนเพื่อน เป็นต้น 6) การปรับสภาพแวดล้อม การจัดบริเวณและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เป็นสถานที่น่าอยู่ น่าเรียน จะทำให้นักเรียนมีความรักและผูกพันต่อสถานที่ กระตือรือร้นอยากมาโรงเรียน จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียน ลดปัญหาการหนีเรียนเป็นจุดเริ่มของพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่าง ๆ การจัดบริเวณภายในโรงเรียนไม่ให้มีมุมอับ มุมปลอดและสถานที่ลับตา สามารถช่วยลดการจับกลุ่มมั่วสุมภายในโรงเรียนได้อีกด้วย 2. กลุ่มนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการใช้ยาเสพติด กลุ่มนักเรียนกลุ่มเสี่ยงนี้ส่วนมากจะเริ่มใช้ยาเสพติดประเภทยาบ้า กัญชาและสารระเหย โดยจะมีลักษณะและพฤติกรรม กล่าวคือ นักเรียนกลุ่มนี้จะไม่รับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากครู อาจารย์ ไม่เอาใจใส่ ในการเรียน ผลการเรียนตกต่ำมีค่านิยมในการใช้ยาเสพติดและการคบเพื่อนที่ผิด มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนอื่น ๆ เช่น หนีเรียน หลับในชั้นเรียน มั่วสุมกันเพื่อเสพยาเสพติดก่อนเข้าโรงเรียน ช่วงพักเที่ยง และหลังจากโรงเรียนเลิก นักเรียนกลุ่มนี้มีความจำเป็นรีบด่วนที่โรงเรียนจะต้องเข้าไปดำเนินการมิฉะนั้นนักเรียนจะใช้ยาจนติดหรือใช้ยาเสพติดประเภทที่รุนแรงขึ้น การแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ควรใช้มาตราการแทรกแซงเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียน ดังนี้ 1) โรงเรียนจัดบริการให้คำปรึกษาแนะนำโดยอาจารย์แนะแนวและจัดการเรียนการสอนเสริมพิเศษให้กับนักเรียน 2) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่าง ๆ ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมโดยการใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อนในการให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหา 3) สร้างค่านิยมใหม่ในเรื่องการคบเพื่อนและการไม่ใช้ยาเสพติด 4) ดำเนินมาตราการป้องปราม โดยเข้มงวดในการตรวจค้น การลักลอบนำยาเสพติดมาใช้ และสุ่มตรวจปัสสาวะแก่นักเรียนกลุ่มนี้เป็นครั้งคราวโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า 5) จัดทำกลุ่มบำบัดในลักษณะของค่ายนักเรียนในโรงเรียน โดยมี ครูอาจารย์ดูแลอย่างใกล้ชิด มีระเบียบที่รัดกุม และในกรณีที่นักเรียนได้รับผลจากการใช้ยาเสพติด โรงเรียนควรแนะนำให้ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการ ที่ปรากฏ 6) ประสานงานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการจัดทำกลุ่มบำบัดนักเรียนที่เริ่มมีปัญหาการใช้ยา ก็จะช่วยให้การทำกลุ่มบำบัดประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น 3. กลุ่มนักเรียนที่ติดยา นักเรียนกลุ่มนี้จะใช้ยาเสพติดเป็นประจำจนติด พฤติกรรมโดยทั่วไปจะไม่สามารถเรียนหนังสือต่อไปได้ โกหกหลอกลวง ลักขโมยทรัพย์สินของเพื่อนนักเรียน ครูอาจารย์ และโรงเรียน เพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพติด นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมในการหาเงินโดยการขายยาเสพติดให้กับเพื่อนนักเรียนอื่น ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดไปสู่นักเรียนกลุ่มอื่น โรงเรียนควรประสานให้ผู้ปกครองส่งนักเรียนกลุ่มนี้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในสถานพยาบาลหรือค่ายบำบัดรักษา ในกรณีที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่พร้อมที่จะส่งลูกหลานเข้ารับการบำบัดรักษา โรงเรียนควรส่งนักเรียนเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแทนไม่ควรไล่นักเรียนออกจากโรงเรียนด้วยเหตุผลของการติดยาเสพติด และจัดให้มีการดูแลช่วยเหลือนักเรียนหลังการบำบัดรักษา ทั้งในด้านการเรียนและการปรับตัวเข้าสู่สังคม 4. กลุ่มนักเรียนที่มีพฤติกรรมในการค้ายาเสพติด นักเรียนที่มีพฤติกรรมในการขายยาเสพติดให้แก่เพื่อนนักเรียนด้วยกันในโรงเรียนมี 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 นักเรียนที่เป็นผู้ค้ายาเสพติดโดยเป็นส่วนของกระบวนการค้ายาเสพติดที่อยู่นอกโรงเรียนหรือเป็นผู้ค้ารายย่อย โรงเรียนควรประสานงานกับผู้ปกครองเพื่อหาทางยุติพฤติกรรมดังกล่าวและดำเนินการป้องปรามด้วยมาตราการทางการศึกษา เช่น การภาคทัณฑ์ หากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือพบว่าเป็นผู้ค้าราย ใหญ่ในโรงเรียน ควรดำเนินการดโยใช้มาตราการทางกฎหมายต่อไป ก่อนที่ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียนขยายตัวมากขึ้น กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักเรียนที่ติดยาเสพติดและขายยาเสพติดให้เพื่อนเพราะต้องการยาเสพติดของแถมเพื่อใช้เองหรือต้องการหาเงินเพื่อซื้อยาเสพติดใช้ นักเรียนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้ป่วยติดยาเสพติด ไม่ถือว่าเป็นอาชญากร โรงเรียนควรตักเตือนและภาคทัณฑ์ สั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าวและส่งนักเรียนผู้นั้นเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือให้ผู้ปกครองดำเนินการพานักเรียนไปบำบัดฟื้นฟู สมรรถภาพ ถ้านักเรียนยังไม่ยุติการกระทำดังกล่าว โรงเรียนควรดำเนินการเช่นเดียวกับนักเรียน กลุ่มที่ 1. นอกจากนั้น โรงเรียนควรมีมาตราการที่เข้มงวดในการป้องปราม โดยการตรวจค้นการนำยาเสพติดเข้ามาในโรงเรียน |
กิจกรรม 3D > D3 >