ชื่อแหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น : พิธีกำฟ้า 


ประวัติ / ความเป็นมา

                  “กำฟ้า” เป็นประเพณีของชาวไทยพวน ที่มีชาวพวนอาศัยอยู่ได้ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ

                  “กำ” ในภาษาไทยพวน หมายถึง การนับถือและสักการะบูชา ดังนั้น กำฟ้า จึงหมายถึงประเพณีนับถือ สักการะบูชาฟ้า เนื่องจากชาวพวนเป็นกลุ่มชนที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ในสมัยดั้งเดิมการทำนาต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ชาวนาในสมัยนั้นจึงมีการเกรงกลัวฟ้ามาก ไม่กล้าที่จะทำอะไรให้ฟ้าพิโรธ ถ้าฟ้าพิโรธย่อมหมายถึง ความแห้งแล้ง อดยาก หรือฟ้าอาจผ่าคนตาย ประชาชนกลัวจะได้รับความทุกข์ยากอันเป็นภัยจากฟ้า จึงมีการเซ่นสรวง สักการะบูชาผีฟ้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเอาใจ มิให้ฟ้าพิโรธ หรืออีกนัยหนึ่ง ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมนั้น รู้สึกสำนึกในบุญคุณของผีฟ้าที่ได้ให้น้ำฝน อันหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ มีชีวิตของคน สัตว์ และพืชพรรณต่างๆ จึงได้เกิดประเพณีกำฟ้าขึ้น เพื่อเป็นการประจบผีฟ้าไม่ให้พิโรธ และเป็นการแสดงความขอบคุณต่อเทพยาดาแห่งท้องฟ้าหรือผีฟ้า 

นางสังวัลย์  เครือแก้วอายุ 84 ปี อยู่บ้านเลขที่  3 หมู่ 2 ตำบลบ้านกลับ  อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบพิธีกำฟ้า โดยมีการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพต่างๆ เช่น จอบ เสียม ควาย กระบุง แอก รวงข้าว มาร่วมพิธีกรรมกำฟ้า และมีการร้องรำขอพรจากฟ้า

การใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้

          การประกอบพิธีกำฟ้า จะมีในช่วงเดือน มกราคม ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในการศึกษาเรียนรู้การประกอบพิธีกำฟ้าที่ชาวพวนถือปฏิบัติกัน มี 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 งดเว้นจากการงานที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำทั้งหมด

ประการที่ 2  ทำบุญใส่บาตร

ประการที่ 3 ประกอบพิธี ตั้งบายศรีบูชาฟ้าและประกาศขอพรจากเทพยาดา