ผิวหนัง (Skin) เป็นส่วนที่สำคัญและซับซ้อนมากมีหน้าที่ห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด เป็นอวัยวะที่มีพื้นที่มากที่สุดของร่างกาย ใช้เลือดหล่อเลี้ยงในปริมาณ 1/3 ของเลือดในร่างกาย ผู้ที่มีสุขภาพดีจะต้องปราศจากโรคผิวหนังและรอยด่างดำ มีผิวพรรณเปล่งปลั่งสวยงาม ส่วนผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ผิวหนังจะซีดเซียว แห้งหรืออาจเป็นโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น เป็นผดผื่นคัน หิด กลาก เกลื้อน เป็นต้น ผิวหนังจึงแสดงให้เห็นถึงระดับสุขภาพของคนเราได้

โครงสร้างของผิวหนัง

1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นผิวหนังชั้นนอก มีลักษณะบางมากประกอบด้วยเยื่อบุผิวและเซลล์บุผิวที่ตายแล้วเรียงกันเป็นลำดับชั้นต่าง ๆ ชั้นในสุดประกอบด้วยเซลล์ผิวที่ยังมีชีวิตทำหน้าที่แบ่งเซลล์มาทดแทนเซลล์ชั้นนอกสุดที่ตาย และหลุดออกมาเป็นขี้ไคล และมีเซลล์ที่มีสารเมลานิน ทำให้เกิดสีผิวช่วยดูดรังสีอัลตร้าไวโอเลตไม่ให้ผ่านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งผิวหนังของแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเซลล์สีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin pigments) ที่อยู่ชั้นลึกสุดของผิวหนังกำพร้า ถ้ามีเมลานินมากผิวจะมีสีคล้ำ ถ้ามีเมลานินน้อยผิวจะมีสีขาว

2. ชั้นหนังแท้ (Dermis) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิด ทำให้ผิวหนังเหนียวยืดหยุ่นได้ และยังมีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน ประสาทสัมผัสชนิดต่าง ๆ และหลอดเลือดจำนวนมากมาย ถัดจากหนังแท้เป็นชั้นไขมัน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อไขมัน ทำหน้าที่ในการป้องกันการสูญเสียความร้อน และรองรับการสะเทือน เมื่ออายุมาก ๆ ชั้นไขมันจะสลายหายไปบางส่วน

หน้าที่ของผิวหนัง

1. ป้องกันอวัยวะภายใน เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผิวหนังเพราะผิวหนังเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มร่างกายเรา 2. ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ อุณหภูมิของร่างกายปกติจะอยู่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส 3. ขับถ่ายของเสียออกจากต่อมเหงื่อออกทางรูเหงื่อ เพื่อกำจัดของเสียและระบายความร้อนออกจากร่างกาย อีกทั้งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นทั่วร่างกาย ทั่วร่างกายของเรามีต่อมเหงื่อประมาณ 2 ล้านต่อม มีมากที่สุด บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า 4. ขับน้ำมันออกจากต่อมไขมันออกทางรูขน ทำให้ผิวหนังไม่แห้งแตกและยังช่วยลดแสงแดดที่ตกกระทบผิวหนังอีก ทั้งช่วยป้องกันน้ำที่จะไหลเข้า – ออกทางผิวหนัง 5. เป็นแหล่งสร้างวิตามินดีให้แก่ร่างกาย โดยอาศัยแสงแดดช่วยสังเคราะห์สารเฮอร์โกสเตอรอยที่อยู่ในผิวหนังให้เป็น วิตามินดี เพื่อป้องกันโรคกระดูกอ่อน

6. รับความรู้สึกโดยมีปลายประสาทรับรู้ความรู้สึกต่างๆ - ชั้นหนังกำพร้า ปลายประสาทรับความเจ็บปวด สัมผัส ชั้นหนังแท้ ปลายประสาทรับความเย็น ชั้นไขมัน ปลายประสาทรับความร้อน แรงกดดัน

ความผิดปกติของผิวหนังที่พบบ่อย

สิว (Acne) เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในช่วงวัยรุ่น ส่งผลให้ต่อมไขมันขับไขมันออกมามาก เมื่อไขมันแข็งตัวอุดตันต่อมไขมันและรูขนก็จะทำให้เกิดสิวเสี้ยน และถ้าถูกไขมันที่ต่อมไขมันขับออกมาใหม่ดันจนนูนขึ้นจะเป็นหัวสิว ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียคุกคามเข้าไปยังต่อมไขมันและรูขนที่เป็นสิวนั้น ก็จะเกิดการอักเสบ บวมแดงและเป็นหนอง ซึ่งบางคนเรียกสิวชนิดนี้ว่า สิวหัวช้าง นอกจากนี้ สิวยังอาจเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในต่อมไขมันใต้ผิวหนังมีมากผิดปกติ อากาศที่ร้อนและชื้นทำให้เหงื่อออก ผิวหนังสกปรก ภาวะที่ตึงเครียด และการใช้เครื่องสำอางที่เป็นน้ำมันหรือครีมอาจทำให้มีการอุดตันของรูขนและเป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวได้


ตาปลา(Corn) เป็นอาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังมีการหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็กๆ ซึ่งเกิดจากแรงกดหรือแรงเสียดสีเป็นเวลานานๆ มักเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีปุ่มกระดูกนูน โดยเฉพาะที่บริเวณฝ่าเท้าและนิ้วเท้า ตาปลาพบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยพบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น ส่วนใหญ่ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากอาการนี้แต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าเกิดอาการตาปลาแล้วไม่รักษาให้ดี อาจเกิดการอักเสบรุนแรงได้ ตาปลาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

ตาปลาแบบแข็ง (Hard corns) ที่เกิดจะแข็งและหนาเป็นรูปวงกลมคล้ายโดนัท วงด้านนอกมีสีเหลืองและมีจุดแข็งตรงกึ่งกลางเป็นสีเทา มักเกิดบริเวณที่เท้ารับน้ำหนัก และจะเกิดอาการเจ็บหากสัมผัสโดนบริเวณที่เป็นตาปลา

ตาปลาแบบนิ่ม (Soft corns) จะมีพื้นผิวที่บางกว่าและนุ่มบริเวณส่วนกลาง ส่วนใหญ่พบตาปลาแบบนิ่มตามบริเวณซอกนิ้วเท้ามากกว่าบริเวณอื่น

กลิ่นตัว (Odour) เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของกรดไขมันจากต่อมเหงื่อ เซลล์บุผิวที่ตายแล้ว เหงื่อรวมกับแบคทีเรียและความชื้นเกิดเป็นกลิ่นตัวขึ้น หากมีกลิ่นตัวควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งฟอกสบู่ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ขาหนีบใต้คอและหลังหู แล้วเช็ดตัวให้แห้ง ถ้ามีกลิ่นตัวแรง อาจใช้ก้อนสารส้มหรือลูกกลิ้งระงับกลิ่นเหงื่อทาบริเวณรักแร้หลังอาบน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาดวันละมาก ๆ

โรคราที่เท้า หรือฮ่องกงฟุต เกิดจากติดเชื้อราที่เท้า เนื่องจากรองเท้าอับชื้นหรือเดินลุยน้ำสกปรก ทำให้มีอาการคันบริเวณซอกนิ้วเท้า และอาการคันจะเพิ่มมากขึ้น ถ้ามีการเกาด้วยจะทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย ๆ มีกลิ่นเหม็น หากเป็นนาน ๆ ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีเนื้อนูนหนา แข็ง และลอกออกเป็นขุย ๆ สามารถลามไปยังนิ้วใกล้เคียงได้ การป้องกันและรักษาทำได้โดยการล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งสนิท พยายามอย่าให้เท้าอับชื้นในกรณีที่มีเหงื่อออกบริเวณเท้ามากอาจใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณง่ามนิ้วเท้า เพื่อช่วยให้นิ้วเท้าและฝ่าเท้าแห้งได้ โรคเชื้อราที่เท้ามีการรักษาค่อนข้างยาก ควรจะปรึกษาแพทย์และเมื่อหายแล้วไม่ควรนำถุงเท้า และรองเท้าคู่เดิมมาใช้อีก เพราะยังมีเชื้อราอยู่ ถ้าจะนำมาใช้ควรนำไปฆ่าเชื้อโดยการต้มหรืออบฟอร์มาลีนเพื่อให้เชื้อตายก่อน

ผิวหนังแห้งกร้าน (Dry’s skin) เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกผิดปกติ เช่น อากาศหนาวจัดหรืออากาศแห้งมาก การฟอกสบู่บางชนิด เช่น สบู่ยา หรือใช้สบู่บ่อยครั้งเกินไปทำให้ไขมันที่ผิวหนังลดน้อยลง ผิวหนังไม่อาจรักษาความชื้นไว้ได้จึงแห้ง เป็นขุยและแตกอย่างรุนแรง มีอาการคันและแสบอาจติดเชื้อทำให้ผิวหนังอักเสบได้ การป้องกันให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น หนาวจัด ร้อนจัด และสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้หนังแห้งและแตกมากขึ้น ควรใช้น้ำมันหรือครีมทาผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังไว้และป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิวหนังมากเกินไป และควรระมัดระวังในการอาบน้ำอุ่น การใช้กระเป๋าน้ำร้อน การผิงไฟกลางแจ้ง เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งและแตกมากยิ่งขึ้น

กลาก (Ring Worm) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อราหลายชนิด กลากจะขึ้นทั่วไป และมีลักษณะต่าง ๆ กันตามตำแหน่งของผิวหนังที่เป็น เช่น ที่ศีรษะ ลำตัว ขาหนีบ ก้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อรา อาการโดยทั่วไป จะเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง จากจุดเล็ก ๆ แล้วขยายออกเป็นวงเดียว หรือสองสามวงแล้วลามมาติดกันเป็นวงใหญ่ มีอาการคันบ้างแต่ไม่มากนัก และติดต่อสู่ผู้อื่นได้ มีการป้องกันและรักษาเช่นเดียวกับเกลื้อน

ฝี (Avscess) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่บนผิวหนังทั่วไป ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณรอบ ๆ ขุมขน ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน หรือทางรากผม ต่อมาเป็นหนอง ระยะแรกจะมีลักษณะบวมแดง แข็ง และร้อนบริเวณที่เป็น เจ็บมาก เริ่มจากเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือก้อนแข็งแล้วโตอย่างรวดเร็ว มีหัวหนองสีเหลืองตรงกลาง ต่อมาหัวหนองอ่อนตัวลงจนมีลักษณะนุ่มเหลว มีหนองสีเหลือง เหนียวเหลว ซึ่งมีเชื้อโรคปะปนอยู่มาก และอาจกระจายไปสู่ที่อื่นๆ ของร่างกายได้ การป้องกันและรักษา อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และรักษาผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอไม่ใช้เล็บหรือมือที่สกปรกแกะ เกา ผิวหนัง หากเป็นฝีห้ามบีบหรือบ่งหัวฝีจนกว่าจะมีอาการอ่อนนุ่มที่ตรงกลาง ถ้าฝีไม่แตกออก หรือเป็นหนองควรไปพบแพทย์ ถ้าปวดหรือมีไข้ให้กินยาลดไข้

สังคัง (Tinea Cruris) เป็นโรคเชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดบริเวณขาหนีบใกล้ๆ กับอวัยวะเพศหรืออาจจะพูดได้ว่า สังคังคือกลากที่ขาหนีบนั่นเอง ที่สำคัญคือตำแหน่งที่เกิดของโรคนี้จะเกิดบริเวณขาหนีบใกล้ๆ กับอวัยวะเพศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนส่วนมากคิดไปเองว่า สังคังคือกามโรคชนิดหนึ่ง

สาเหตุของสังคัง กิดจากการได้รับเชื้อราและเชื้อรานั้นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมที่จะลุกลามต่อไปเป็นวงกว้าง เชื้อรามักอยู่ในเซลล์ที่ตายแล้วบริเวณขาหนีบและเนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อากาศชื้น เหงื่อออกตามร่างกายได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบซึ่งเป็นมุมอับ อากาศระบายเข้า-ออกไม่ดีทำให้เกิดการหมักหมมของเชื้อราเป็นแหล่งแพร่เชื้อราไปเลย

อาการของสังคังที่เห็นได้เด่นชัด คือ อาการคันอย่างรุนแรงบริเวณที่เป็น (ขาหนีบ) จะเกิดเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ต่อมาจะเริ่มเป็นตุ่มแดงขยายออกไปเป็นวงกว้างขึ้น บริเวณขอบวงจะนูนแดงและมีขุยขาว ๆ อาการคันจากการเป็นสังคังจะทำให้รู้สึกรำคาญอยู่นิ่งไม่ได้ต้องเกาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งเกายิ่งมัน หากเกาแรงเกินไปอาจทำให้ผิวหนังถลอกทำให้ทั้งคันและแสบผสมกันไป ทำให้คนที่เป็นสังคังเสียบุคลิกภาพที่ดีไปเลย

เกร็ดความรู้คู่ผิวหนัง