ยกระดับอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบนให้เป็นพลเมืองไทย ๔.๐

►ที่มาและความสำคัญ

โรงเรียนราชินีบนได้รับพระราชกำเนิดโดยสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรี ราชสิรินธร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ โดยมีพระราชปณิธานในการจัดการศึกษาให้แก่ “กุลสตรี” ให้มีความรู้วิทยาการที่ทันสมัย “ความรู้ คู่วินัย ใฝ่คุณธรรม” ถือเป็นปรัชญาการศึกษาที่โรงเรียนยึดถือและถ่ายทอดกันมาจนเกิดเป็นอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบน อันเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป กล่าวได้ว่าการจัดการศึกษาของโรงเรียนตั้งอยู่บนฐานของปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) ที่เชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสืบทอดมรดกทางสังคม วัฒนธรรมและอุดมการณ์ทั้งหลายให้คงอยู่ต่อไป ตลอดระยะเวลา ๙๐ ปี โรงเรียนได้ปรับทิศทางการพัฒนานักเรียนให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง จนในศตวรรษนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน การคิด การปฏิบัติงาน วิถีชีวิต สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมของมวลมนุษยชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันหรือ ที่เรียกว่า Disruptive World จนเกิดเป็นปัญหาในทุกระดับ ตั้งแต่บุคคล ท้องถิ่น ประเทศและโลก ซึ่งล้วนต้องการนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์

ประเทศไทย ๔.๐ (Thailand ๔.๐) เป็นแนวคิดการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยอาศัยนวัตกรรมเป็นฐานของอุตสาหกรรมการผลิต และการเพิ่มมูลค่าสินค้าบริการเพื่อก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูง คนไทยจึงต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นพลเมืองไทย ๔.๐ คือ เป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต มุ่งมั่นท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์และมีวิจารณญาณในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงความสามารถสื่อสารและการดำรงอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่เรียกว่า สังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนต้องปรับปรุงสาระตามอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบน ๒ สาระ ได้แก่

สาระที่ ๓ กุลสตรีไทย ๔.๐ (Thai Lady ๔.๐) ซึ่งเป็นสมรรถนะของกุลสตรีที่มีความฉลาดรู้ ๕ ด้าน ได้แก่ความฉลาดรู้ดิจิทัล(Digital Literacy) ความฉลาดรู้ภาษาต่างประเทศ (Foreign Language Literacy) ความฉลาดรู้สิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) ความฉลาดรู้สุขภาพ (Health Literacy) ความฉลาดรู้พหุวัฒนธรรม (Multicultural Literacy )

และสาระที่ ๔ กุลสตรีที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและสังคม (Social and Self-developed lady) ซึ่งเป็นสมรรถนะของกุลสตรีที่รู้จักเข้าใจตนเอง มุ่งมั่นและรับผิดชอบในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพและคุณลักษณะเพื่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ และการแสดงบทบาททางสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีสุนทรียภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบนให้ดำรงอยู่ท่ามกลางโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อโรงเรียนจัดการศึกษาเพื่อสืบทอดพระราชปณิธานแห่งองค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนควบคู่ไปกับการยกระดับอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบนให้มีสมรรถนะเพื่อการดำรงอยู่และพัฒนาสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก แสดงให้เห็นว่า นอกจากปรัชญาสารัตถนิยมจะเป็นปรัชญาการศึกษาหลักของโรงเรียนแล้ว ปรัชญาพัฒนาการนิยม (Progressivism) ยังเป็นปรัชญาการศึกษาที่ช่วยขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การยอมรับในคุณค่าของอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อนักเรียนเก่ามีความเจริญงอกงามทางวิชาชีพ และมีบทบาททางสังคมในระดับประเทศและระดับโลก โรงเรียนจึงส่งเสริมให้นักเรียนค้นพบความถนัดและพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยอาศัยแรงผลักดันจากภายในตนเอง สอดคล้องกับความเชื่อของปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ที่ว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นผู้กำหนดและแสวงหาสาระสำคัญด้วยตนเอง

การจัดการศึกษาของโรงเรียนนับแต่อดีตสู่ปัจจุบันจึงเป็นเสมือนการบ่มเพาะอัตลักษณ์แห่งกุลสตรีราชินีบน โดยมีการผสมผสานปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม พิพัฒนาการนิยม และอัตถิภาวะนิยมอย่างสมดุล เพื่อก้าวสู่อนาคตทางการศึกษาที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนราชินีบนฉบับที่ ๗ (ปีการศึกษา ๒๕๖๒ - ๒๕๖๔) จึงกำหนดอัตลักษณ์นักเรียนให้เป็น “กุลสตรีราชินีบน ๔.๐ หมายถึง กุลสตรีไทยที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะของพลเมืองไทย ๔.๐ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยในโลกแห่งการพลิกผันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” และเป็นวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ด้วยเหตุนี้หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ย่อมต้องได้รับการปรับแนวคิดและแนวทางในการนำไปใช้ให้สอดคล้องและส่งเสริมต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ ยกระดับอัตลักษณ์กุลสตรีราชินีบนให้เป็นพลเมืองไทย ๔.๐

โครงการที่ ๒.๑ การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรอิงอัตลักษณ์นักเรียน

หน่วยงานที่รับผิดชอบ ฝ่ายวิชาการ

ลักษณะของโครงการ ต่อเนื่อง ๓ ปี (๒๕๖๒ - ๒๕๖๔)

โครงการที่ ๒.๒ การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน ๔.๐

หน่วยงานที่รับผิดชอบ ฝ่ายวิชาการ

ลักษณะของโครงการ ต่อเนื่อง ๓ ปี (๒๕๖๒ - ๒๕๖๔)

โครงการที่ ๒.๓ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ วิชาการ : กลุ่มสาระ ฯ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ครูการสอนวิทยาการคำนวณ

ลักษณะของโครงการ โครงการใหม่